May 11, 2024   1:44:03 PM ICT
EWC อนาคตคลุมเครือ

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่1. นายโกมล จึงรุ่งเรืองกิจ 20,500,000 หุ้น 20.50%2. น.ส.สุวิมล ทองกร 4,848,600 หุ้น 4.85%3. บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 1,256,800 หุ้น 1.26%4. นายจุมพล กีรติมโนชญ์ 1,200,000 หุ้น 1.20%5. น.ส.สุธีรา สอาดสุด 943,000 หุ้น 0.94%คณะกรรมการ1. นายเรวัต บุนนาค ประธานกรรมการ 2. นายชาญชัย เล็กวิจิตรธาดา กรรมการผู้จัดการใหญ่ 3. นายเบญจ์ บุญเลื่อง กรรมการ 4. นางสาวจุฑาภรณ์ สัตยาศัย กรรมการ5. นายลิขิต หงส์ลดารมภ์ ประธานกรรมการตรวจสอบ
          การบริหารความเสี่ยงภายใต้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวนั้น ถือเป็นเรื่องที่พึงกระทำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบที่มองว่า ธุรกิจของตนเองที่ทำไม่ก่อให้เกิดรายได้สูงสุด ส่งผลให้การปรับเปลี่ยนธุรกิจให้มีความหลากหลาย จึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ผู้บริหารนิยมทำกันเป็นจำนวนมาก
          โดยเฉพาะการบริหารสภาพคล่องทางการเงินที่ล้นเกินความจำเป็นด้วยการปล่อยกู้ให้กับบริษัทอื่นไปปล่อยกู้อีกทีหนึ่ง เพื่อนั่งกินนอนกินดอกเบี้ยโดยไม่ต้องลงเงินลงแรงกับธุรกิจใหม่ให้เสียเวลานั่นเอง
          สำหรับวิธีการดังกล่าวเป็นการนำรูปแบบทางการเงินที่มีอยู่แล้ว มาดัดแปลงจนสามารถใช้แล้วเกิดประโยชน์สูงสุดต่อบริษัท ซึ่งถือเป็นวิศวกรรมทางการเงินชิ้นหนึ่งที่ บริษัทอีสเทิร์นไวร์ จำกัด (มหาชน) หรือ EWC นำมาใช้กับการปล่อยกู้ให้กับแก่บริษัท สยามเจเนอรัลแฟคตอริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SGF
          หากเป็นการปล่อยกู้ที่ถูกต้องตามหลักธรรมมาภิบาล ย่อมถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นพัฒนาการที่ดีขึ้นของบริษัท แต่หากผลลัพธ์ที่ย้อนกลับมาหาตัวบริษัทเป็นไปในทางลบ นั่นแสดงว่าผู้บริหารปล่อยกู้อย่างหละหลวมอย่างไม่น่าให้อภัย
          น่าสนใจตรงที่เหตุผลในการปล่อยกู้ครั้งนั้นผู้บริหารชี้แจงว่า ต้องการบริหารสภาพคล่องทางการเงินที่มีอยู่เกินความจำเป็นเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ฉะนั้นจึงได้ทำการปล่อยกู้ให้กับ SGF ด้วยจำนวนเงิน 500 ล้านบาท รวมถึงการยืดระยะเวลากำหนดการชำระเงินกู้ออกไปอีกนานถึง 6 เดือน จนหลายคนตั้งข้อสงสัยเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มตนเองเพราะลูกหนี้ที่ SGF ปล่อยกู้ไปนั้น ไม่มีความสามารถเพียงพอในการชำระเงินคืน


          ความผิดผลาดดังกล่าวทำให้งบการเงินปี 2549 บริษัทต้องแบกรับปัญหาผลขาดทุนสูงถึง 423 ล้านบาท หรือ ขาดทุน 4.23 บาทต่อหุ้น จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ89 ล้านบาท หรือ 0.90 บาทต่อหุ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบริษัทมีประสิทธิภาพในการบริหารงานแย่ลง เพราะสาเหตุของผลขาดทุนมาจากการให้เงินกู้ยืมระยะสั้นแก่บริษัทอื่นจำนวน500 ล้านบาท
          ทว่าปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว กลับไม่ได้ทำให้สภาพคล่องตัวของบริษัทดูแย่ลงได้เลยเนื่องจากพบว่าบริษัทมีสินทรัพย์หมุนเวียนสูงถึง 1,199 ล้านบาท เป็นส่วนของเงินสด 95ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2548 จำนวน 70 ล้านบาท ขณะที่หนี้สินหมุนเวียนต่ำเพียง 200ล้านบาท ได้ค่า Current Ratio เท่ากับ 6.0 เท่า แสดงว่าบริษัทความคล่องตัวสูงเกินความจำเป็นจริงๆ
          ที่สำคัญฐานะทางการเงินที่ดูแล้วแข็งแกร่งยิ่งนัก จากที่พบว่าบริษัทมีเงินทุนสูงถึง 1,391 ล้านบาท และมีส่วนของหนี้สินรวมต่ำเพียง 218 ล้านบาท ได้ค่า D/E Ratio เท่ากับ0.2 เท่า สามารถสรุปได้ว่าการบริหารธุรกิจของบริษัทมีความเสี่ยงต่อการแบกรับภาระดอกเบี้ยต่ำมาก แทบจะไม่มีปัญหาให้หนักอกเลยก็ว่าได้
          ดังนั้นภาพรวม EWC ถือเป็นบริษัทที่มีสภาพคล่องตัวสูงมาก อีกทั้งฐานะการเงินยังแข็งแกร่ง เพียงแต่ผลเสียของการปล่อยกู้แบบเลื่อนลอยเป็นภาพสะท้อนที่ทำให้เห็นว่า การบริหารงานค่อนข้างไร้ประสิทธิภาพ และไม่มีธรรมาภิบาลที่ผู้บริหารควรพึงกระทำ
          นี่แหล่ะที่ทำให้อนาคตของ EWC คลุมเครือยิ่งนัก เพราะตัวบริษัทขาดแผนธุรกิจที่ชัดเจนในการสร้างรายได้และผลกำไรนั่นเอง

ข่าวหุ้น
/
เข้าชม: 1,377

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com