April 28, 2024   6:57:03 AM ICT
BOTH OPTION
การซื้อขายสินค้าล่วงหน้าในตลาด หรือ FUTURES TRADING  เป็นการซื้อขายล่วงหน้าสินค้าที่จะครบกำหนดส่งมอบรับมอบในอนาคต ตามเงื่อนไขที่มีการระบุไว้ ในข้อกำหนดการซื้อขายล่วงหน้าของสินค้าแต่ละชนิดหรือประเภท เช่น สัญญา RSS3 SEP07 ของ AFET ที่ระบุไว้ว่า 1 สัญญาจะมีการส่งมอบ และรับมอบ ยางแผ่นรมควันชั้น 3 มาตรฐาน GREENBOOK จำนวน 5 ตัน ส่งมอบเงื่อนไขตาม FOB กรุงเทพฯ ภายในเดือนกันยายน 2550  หรือ จะเป็นสัญญา WR5P AUG07 ที่ 1 สัญญาระบุให้มีการส่งมอบและรับข้าวขาว 5% มาตรฐานกระทรวงพาณิชย์ จำนวน 15 ตัน ส่งมอบ ณ คลังสินค้าในเขตกรุงเทพฯ หรือจังหวัดใกล้เคียง ภายในเดือนสิงหาคม 2550

 ข้อกำหนดการซื้อขายสินค้า ประเภทที่ระบุให้ต้องมีการส่งมอบและรับมอบนี้  จัดเป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (FUTURES CONTRACT) ประเภท PHYSICAL DELIVERY ซึ่งเป็นต้นแบบของสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ที่มีกันมากว่า 100 ปีที่แล้ว  ตัวอย่างของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทนี้ ได้แก่ สัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินค้าเกษตร ชนิดที่มีประวัติการซื้อขายมาแล้วเป็นเวลานาน เช่น  ข้าวโพดที่ CHICAGO BOARD OF TRADE (CBOT) กาแฟที่ NEW YORK BOARD OF TRADE (NBOT)   น้ำตาลทรายขาวที่ EURONEXT.LIFFE  ยางพาราที่ TOKYO COMMODITY EXCHANGE หรือ น้ำมันปาล์มที่ BURSA MALAYSIA 
Bangkokbiznews

นักลงทุน หรือนักเก็งกำไร (SPECULATOR) ที่เข้าซื้อขายในสัญญาประเภท PHYSICAL DELIVERY นี้ 

 ส่วนใหญ่จะเลือกที่จะปลดภาระของตนเอง ออกจากตลาดก่อนวันครบกำหนดส่งมอบ เพื่อหลีกเลี่ยงที่จะถูกบังคับให้ส่งมอบหรือรับมอบ ด้วยอาศัยวิธีที่เรียกว่าการ OFFSET หรือล้างฐานะการถือครองด้วยวิธีการซื้อขายสัญญาขึ้นใหม่ที่มีผลในทางตรงข้าม  กล่าวคือ ผู้ที่ซื้อล่วงหน้าเอาไว้ (ถือครองสัญญาซื้อล่วงหน้าไว้) สามารถปลดภาระผูกพันของตนได้ ด้วยวิธีการเข้าขายล่วงหน้า ในทำนองเดียวกัน ผู้ที่ขายล่วงหน้าไว้ ก็สามารถปลดภาระผูกพันของตนได้ ด้วยวิธีการซื้อล่วงหน้า 

 ตัวอย่างเช่น  นาย A ขายล่วงหน้า RSS3 SEP07 เอาไว้ที่ 70 บาท/กิโลกรัม ซึ่งนาย A ก็รู้ตัวดีว่าตนเป็น SPECULATOR ดังนั้น เมื่อถือครองสัญญาด้านขายเอาไว้ แล้วราคา RSS3 SEP07 ปรับตัวลดลงไปเหลือ 65 บาท/กิโลกรัม  หาก A พอใจกับราคาดังกล่าว A ก็อาจปลดภาระตนออกจากตลาดด้วยการเข้าซื้อล่วงหน้าที่ราคา 65 บาท/กิโลกรัม ได้   โดยฐานะขายล่วงหน้าที่ A ถืออยู่ก่อนได้ถูกล้าง ด้วยฐานะซื้อที่ A ได้เข้าซื้อล่วงหน้าเอาไว้ตอนหลัง  สรุป คือ  A สามารถเดินออกจากตลาดโดยไม่ต้องส่งมอบหรือรับมอบพร้อม กำไร 5 บาท/กิโลกรัม

 อย่างไรก็ดี ก็มีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งเมื่อถึงวันที่สัญญาสิ้นอายุแล้ว จะไม่มีการรับมอบส่งมอบ แต่ให้ยุติภาระผูกพันใดๆ ในสัญญา ด้วยวิธีการรับเงินหรือชำระเงินด้วยวิธีการชำระส่วนต่างด้วยเงินสด (CASH SETTLEMENT)  แทน  โดยสัญญาประเภทนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าทางการเงิน (FINANCIAL COMMODITY) ครับ

 เช่น ดัชนีหุ้น อาทิเช่น SET50 INDEX FUTURES ของ ตลาดอนุพันธ์ (หรือ TFEX)   DJIA FUTURES หรือ ดัชนีดาวโจนส์ที่พวกเราคุ้นชื่อกันดี ของ CBOT  S&P500 FUTURES หรือดัชนีเอสแอนด์พี 500 ของ CHICAGO MERCANTILE EXCHANGE (CME)   NIKKEI 225 ของ SINGAPORE EXCHANGE    หรือจะเป็นสินค้าประเภทอัตราดอกเบี้ย เช่น 10 YRS U.S. TREASURY NOTES FUTURES หรือ 30 DAY FED FUND FUTURES ของ CBOT  หรือจะเป็น  EURODOLLAR FUTURES ของ CME

 สัญญาซื้อขายล่วงหน้าแบบ CASH SETTLEMENT นี้ จะไม่มีการส่งมอบและรับมอบสินค้ากันจริงครับ  แม้ว่าทั้งผู้ขายและผู้ซื้อประสงค์ที่จะส่งมอบและรับมอบสินค้ากันจริงก็ตาม 

 นอกเหนือจากนี้ ก็สัญญาซื้อขายล่วงหน้าอีกพวกหนึ่ง ที่ในสัญญาหนึ่ง ๆ อนุญาตให้มีทั้งการ PHYSICAL DELIVERY หรือการ CASH SETTLEMENT ได้  เช่น  สัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทที่เรียกกันว่า BOTH OPTION ของ MULTI COMMODITY EXCHANGE OF INDIA สำหรับ สินค้าน้ำมันปาล์ม  น้ำมันถั่วเหลือง หรือแก๊สธรรมชาติ ฯลฯ 

 สัญญาลักษณะ BOTH OPTION นี้ มีคุณลักษณะพิเศษคือ ให้สิทธิแก่ผู้ขาย หรือผู้ซื้อเลือกว่าจะต้องการที่จะส่งมอบหรือรับมอบหรือไม่ หากผู้ขายหรือผู้ซื้อรายใดต้องการที่จะส่งมอบหรือรับมอบ ก็ให้แจ้งความประสงค์มายังตลาด แล้วตลาดจะจับคู่ให้ผู้ซื้อ และผู้ขายสามารถส่งมอบและรับมอบกันได้  แต่หากผู้ใดที่ไม่ได้แจ้งความประสงค์ที่จะส่งมอบรับมอบสินค้าไว้ หรือไม่ได้รับการจับคู่ให้ส่งมอบรับมอบ ตลาดก็จะยุติฐานะการถือครองข้อตกลงทั้งหมดให้ด้วยวิธีการ CASH SETTLEMENT  (โดยจะเห็นได้ว่าการส่งมอบรับมอบของสัญญาประเภท BOTH OPTION นี้จะเกิดขึ้นได้เฉพาะกรณีที่ทั้งฝ่ายผู้ขายและผู้ซื้อต้องการที่จะส่งมอบและรับมอบเท่านั้น)

 การออกแบบสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแต่ละสัญญา ให้เป็นประเภท PHYSICAL DELIVERY CASH SETTLEMENT หรือ BOTH OPTION นั้น ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในแต่ละชนิดสินค้า ปัจจัยต่างๆ ที่มีผลกระทบ และ สภาพแวดล้อมในแต่ละประเทศหรือในตลาดล่วงหน้าแต่ละแห่ง การออกแบบสัญญาซื้อขายล่วงหน้าใดที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของทั้ง SPECULATOR และคนในวงการค้า ย่อมทำให้การซื้อขายล่วงหน้าสินค้านั้น ๆ ประสบความสำเร็จในแง่ของปริมาณการซื้อขาย ส่งผลให้กระบวนการซื้อขายล่วงหน้าสามารถทำหน้าที่เป็นเครื่องมือการบริหารความเสี่ยงได้สมตามวัตถุประสงค์

เข้าชม: 1,661

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com