April 28, 2024   1:21:29 PM ICT
S2Y จาก New economy สู่ Old economy

"เห็นได้ชัดว่าหุ้น S2Y เข้าตลาดฯมายังไม่ถึง 2 ปีเลย ก็พร้อมที่จะขายความเป็นบริษัทจดทะเบียนให้กับนักลงทุนที่อยากเข้ามาเป็นบริษัทในตลาดหุ้น ซึ่งถือเป็นความฉลาดของกลุ่มผู้บริหารที่จะได้กำไรจากวิศวกรรมทางการเงินดังกล่าวหลายต่อเลยทีเดียว "
          การเพิ่มทุนครั้งมโหฬารของ บริษัท สยามทูยู จำกัด(มหาชน)หรือ S2Y จากเดิมที่มีทุนจดทะเบียน 40.93 ล้านบาท เป็น 487.27 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 10 เท่าตัวให้กับนักลงทุนจำนวน 5 ราย พร้อมกับนำธุรกิจใหม่เข้ามาสวมนั้น เห็นได้ชัดว่าเป็นการหักหัวจากโครงสร้างธุรกิจเดิมไปหาธุรกิจใหม่แบบ 360 องศา
          การโละธุรกิจเดิมที่ให้บริการเกี่ยวข้องกับอินเตอร์เน็ต ที่เปรียบเหมือนธุรกิจใหม่ไฮเทค (New economy) ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน เพื่อหันมาทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทื่ถือเป็นธุรกิจโบร่ำ โบราณ(Old economy) นั้น เห็นได้ชัดว่าถ้ายังเดินหน้าทำธุรกิจเดิมอยู่ ท่าทางอาจจะไปไม่รอด โดยเฉพาะเมื่อเห็นผลประกอบการในช่วงหลังเข้าตลาดหุ้นก็ย่ำแย่ลงเรื่อยๆ
          สูตรการหาธุรกิจใหม่เข้ามาแทนธุรกิจเก่าที่ทำอยู่ เมื่อดูไปแล้วจะเหมือนกับกรณีที่จเรรัฐ ปิงคลาสัย กระทำกับ บริษัท ดราก้อนวัน จำกัด(มหาชน)หรือD1 หรือแม้กระทั่งการเข้ามาของ วรเจตน์ อินทามระ และสมโภชน์ อาหุนัยใน บริษัท ซีฮอร์ส จำกัด(มหาชน)หรือ SH
          ถ้ามองในแง่ดี ก็จะเห็นว่าการพยายามดึงกลุ่มทุนใหม่เข้ามาเป็นพันธมิตรของ S2Yคงมีวัตถุประสงค์ต้องการดิ้นรนเพื่อให้องค์กรอยู่รอด โดยต้องหากลุ่มทุนใหม่เข้ามาพลิกฟื้นให้กลับมามีกำไรได้อีกครั้ง โดยไม่สนว่าจะมาจากธุรกิจใด
          แต่ถ้ามองในทางกลับกันยังมีข้อสงสัยตามกระแสข่าวลือที่สะพัดในประเด็นของกลุ่มทุนใหม่ที่เข้ามามีลักษณะเป็นตัวแทน(นอมินี) ที่หวังจะเข้ามาหาผลประโยชน์จากเกมราคาหุ้นส่วนราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นไปชนซิลลิ่ง 3 วันติดต่อก่อนนี้ จะทำให้กระแสข่าวดังกล่าวเป็นจริงหรือไม่ คงยังไม่ได้รับการเปิดเผยจากกลุ่มทุนดังกล่าว


          -เหยื่อล่าสุดของพ่อมดการเงิน
          การเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ที่เกิดขึ้นกับบมจ. สยามทูยู หรือS2Y ในปัจจุบันที่ประกาศเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 40,931,510 บาท เป็น 487,271,510 บาท หรือคิดเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นสูงถึง 10 เท่า โดยออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 446,340,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 1 บาท เพื่อจัดสรรหุ้นดังกล่าวให้กับนักลงทุน 5 ราย ดังนี้
          1.บริษัท เนซู แคปปิตอล จำนวน 175,708,154 หุ้น, 2.บริษัท คูดู จำกัด จำนวน113,458,184 หุ้น, 3.บริษัท สฟิงซ์ แคปปิตอล 70,602,152 หุ้น, 4.นายไซมอนจีโรวิช จำนวน 59,549,533 หุ้น และ 5.บริษัท เอ็ม อาร์ แอสเซส คอร์ปอเรชั่น จำกัดจำนวน 27,021,977 หุ้น
          ทั้งนี้ได้มีการระบุเหตุผลในการเพิ่มทุนครั้งนี้ว่า จากการที่บริษัทมีผลประกอบการจากการประกอบธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทต่างๆ ในปัจจุบัน ได้แก่ การให้บริการเสริมสำหรับผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ (Wireless VAS) การให้บริการคำปรึกษาและพัฒนาผ่านสื่ออินเตอร์เน็ตและสื่อไร้สาย(Interactive Solutions) และการให้บริการสื่อดิจิตอล (Digital Media) และAudiotex ตกต่ำลงมาตลอด
          โดยเห็นได้จากกำไรสุทธิที่ลดลงจาก 26.31 ล้านบาทในปี 2547 เป็น 2.99ล้านบาทในปี 2548 และมีผลขาดทุนสุทธิ 23.67 ล้านบาทในปี 2549 ที่ผ่านมา เนื่องมาจากสภาวะการแข่งขันอย่างรุนแรงในอุตสาหกรรม ทั้งจากผู้ประกอบการเดิมและคู่แข่งรายใหม่การเปลี่ยนแปลงในสัดส่วนการแบ่งรายได้ระหว่างผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริษัทรวมถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับลิขสิทธิ์การใช้ข้อมูลบริการเสริม (Content) ที่สูงขึ้น จากสภาวะดังกล่าว


          หากบริษัทยังไม่ดำเนินการใดๆ ต่อไป อาจมี แนวโน้มว่าบริษัทจะมีผลประกอบการขาดทุนต่อไปในอนาคต จนอาจทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นลบได้ในที่สุด ซึ่งหลังจากที่ได้พิจารณาทางเลือกต่างๆ หลายทางเลือกแล้ว ทั้งแนวทางที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ และธุรกิจอื่นๆ คณะกรรมการจึง มีความเห็นว่าบริษัทควรหาทางขยายลักษณะการดำเนินธุรกิจไปยังอุตสาหกรรมประเภทอื่นๆ ที่จะสร้างรายได้และผลตอบแทนที่สูงขึ้นให้กับบริษัทและผู้ถือหุ้นได้ใน อนาคต
          ดังนั้น บริษัทจึงได้เริ่มมองหาโอกาสการลงทุนใหม่ๆ จนเห็นว่าการลงทุนในสินทรัพย์ ดังต่อไปนี้ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ น่าจะสามารถสร้างรายได้และผลตอบแทนที่ดีและยั่งยืนให้แก่บริษัทได้ในอนาคต รวมทั้งจะทำให้บริษัทมีสินทรัพย์ที่มีตัวตนในสัดส่วนที่สูงขึ้นเป็นอย่างมากในทันที
          การที่ S2Y ยอมเพิ่มทุนที่มากมายแบบนี้ เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าบริษัทดังกล่าวไม่มีพื้นฐานที่ดีพอ เหมือนกับผู้บริหารและวณิชธนกร(IB)ที่เคยประกาศไว้ และถ้ายังจำกันได้บริษัทเพิ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2548 ที่ผ่านมาเท่านั้น
          ถ้านับจากวันนั้น จนถึงวันที่ประกาศขายหุ้นเพิ่มทุนหรือรู้ในอีกนัยหนึ่งคือการขายบริษัททิ้ง ซึ่งภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 ปีเต็ม หุ้น S2Y ถูกเปลี่ยนมือไปแล้ว
          "เห็นได้ชัดว่าหุ้น S2Y เข้าตลาดฯมายังไม่ถึง 2 ปีเลย ก็พร้อมที่จะขายความเป็นบริษัทจดทะเบียนให้กับนักลงทุนที่อยากเข้ามาเป็นบริษัทในตลาดหุ้น ซึ่งถือเป็นความฉลาดของกลุ่มผู้บริหารที่จะได้กำไรจากวิศวกรรมทางการเงินดังกล่าวหลายต่อเลยทีเดียว"
          สิ่งเหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องพิจารณาและให้ความสำคัญกับพื้นฐาน รวมถึงแผนธุรกิจในอนาคตของบริษัทอย่างรอบครอบ เพราะเรื่องเหล่านี้มักถูกวาดฝันจากผู้บริหาร และถูกตัดเสริมเติมแต่งจากบรรดานักวณิชธนกรที่รับเป็นที่ปรึกษาทางการเงินที่มีผลประโยชน์ร่วมอยู่หลายด้าน ซึ่งพร้อมจะเชียร์และพร่ำบอกแต่ด้านดีอยู่เสมอ โดยที่ไม่มีข้อมูลด้านลบให้ตัดสินใจ
          กรณีของหุ้น S2Y คงเป็นบทเรียนให้กับนักลงทุนที่สนใจในหุ้นน้องใหม่ได้เป็นอย่างดี
          -ทุนใหม่มาพร้อมซิลลิ่ง
          ภายหลังจากที่ S2Y ประกาศเพิ่มทุนให้กับนักลงทุนจำนวน 5 ราย ไม่กี่วัน ความคึกคักในเรื่องของปริมาณการซื้อขาย และการปรับวิ่งขึ้นของราคาหุ้นก็ปรากฏออกมาให้เห็นเด่นชัด ซึ่งประเด็นความน่าสนใจของการเพิ่มทุนครั้งนี้ คงต้องจับตาไปที่กลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่ที่ได้สิทธิในการเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจงในราคาหุ้นละ 1 บาท และการประเด็นจะซื้อหุ้นคืน(เทนเดอร์ ออฟเฟอร์)ที่ราคาหุ้นละ 1.50 บาท ซึ่งสวนทางกับราคาหุ้นในกระดานที่พุ่งขึ้นไปแล้วชน 3 ซิลลิ่ง ในช่วงระยะเวลา 3 วันติดต่อกันนับตั้งแต่วันที่ 9-13 มีนาคมที่ผ่านมา
          "จะถือเป็นเรื่องบังเอิญหรือไม่ ที่หุ้น S2Y มีความคึกคักทั้งปริมาณวอลุ่ม และราคาหุ้นที่ได้ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงหลังจากที่มีการประกาศเพิ่มทุน คงจะยากที่จะมีการพิสูจน์ในเรื่องดังกล่าวว่ามีเจตนาหรือไม่ แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเจน คือราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 90% ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 3 วันเท่านั้น"


          ลำพังแค่การประกาศจะมีการเปลี่ยนแปลงจากธุรกิจให?บริการด?นการสื่อสารข?อมูลผ?นสื่ออินเตอร?เน็ตและสื่อไร?สาย ไปเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้น ไม่น่าจะทำให้ราคาหุ้นของบริษัทปรับตัวขึ้นมากมายขนาดนี้
          ประเด็นความน่าสงสัยของราคาหุ้นที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดกระแสข่าวลือว่า กลุ่มทุนดังกล่าวเป็นนอมินี ที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อเข้ามาเก็งกำไรในเรื่องของราคาหุ้น มากกว่าการทำธุรกิจที่แท้จริง ก่อนที่จะขายต่อให้กับกลุ่มอื่น แต่ประเด็นดังกล่าวยังไม่ได้รับการยืนยันจากกลุ่มทุนใหม่ รวมถึงตัวผู้บริหารเอง
          ทั้งนี้ก็ได้แต่หวังว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่จะเอาเข้ามาสวมแทนนั้น จะดีเหมือนราคาหุ้นที่วิ่งอยู่ในตอนนี้ และคงจะไม่ดิ่งลงเหวเหมือนธุรกิจไอทีที่เคยล้มเหลวมาแล้ว เพราะใครๆก็รู้ว่าตอนนี้ธุรกิจอสังหาฯ ทำยากขนาดไหน
          สูตรการเพิ่มทุนที่มากมายแบบนี้ เห็นได้ชัดว่ากลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม พร้อมที่จะยอมถูกลดสัดส่วนการถือครองหุ้นลง โดยยอมแลกเพื่อความอยู่รอด ซึ่งมีลักษณะที่คล้ายกับสูตรวิศวกรรมทางการเงินที่เคยปรากฏมาแล้วกับ หุ้น D1 และ SH อย่างเห็นได้ชัด ส่วนจะดีหรือไม่ คงต้องว่ากันอีกทีผลประกอบการก่อนถูกเทกโอเวอร์
          หากพิจารณาตัวเลขผลขาดทุนประจำปี 2549 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม ของ S2Yที่มีเป็นผลขาดทุนจำนวน 23.66 ล้านบาท หรือ 0.58 บาทต่อหุ้น จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 2.99 ล้านบาท หรือ 0.08 บาทต่อหุ้น จะรู้ได้ทันทีว่า บริษัทแห่งนี้มีปัญหาทางด้านการสร้างรายได้ค่อนข้างชัดเจน
          เนื่องจากยอดรายได้จากการให้บริการที่ลดลงเหลือ 80.57 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีรายได้สูงถึง 146.08 ล้านบาท สื่อให้รู้ว่าธุรกิจที่ทำอยู่ทุกวันนี้ไม่มีอนาคตเอาเสียเลย ถึงทำให้ยอดรายได้ลดลงอย่างฮวบฮาบ
          ขณะเดียวกันตัวบริษัทก็ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก ทำให้โอกาสในการพลิกฟื้นกลับมาทำกำไรเป็นเรื่องที่ยากมากๆ และคนในแวดวงไอทีต่างรู้ดีว่า ธุรกิจตัวนี้เลยยุคเฟื่องฟูมานานแล้ว ประกอบกับตัวบริษัทมีฐานเงินทุนที่ค่อนข้างน้อย ทำให้การขยับขยายงานแต่ละส่วนเป็นไปอย่างยากลำบาก และเป็นฉนวนเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้บริหารต้องดิ้นรนหาพันธมิตรเข้ามาทำธุรกิจใหม่เป็นการทดแทน หลังจากธุรกิจที่ทำอยู่ทุกวันนี้ไม่มีโอกาสเติบโตไปมากกว่านี้อีกแล้วนั่นเอง


          ที่สำคัญเมื่อพิจารณาจากตัวเลขขาดทุนสะสม 19.38 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้นที่ลดลงเหลือ 93.90 ล้านบาท ถือเป็นแรงกดดันสำคัญที่ทำให้ผู้บริหารต้องเร่งปรับโครงสร้างธุรกิจเป็นการด่วน หลังภาวะเศรษฐกิจในปี 2550 ส่อเค้าจะแย่กว่าปีที่แล้วเป็นอย่างมาก
          โดยเฉพาะประเด็นที่ผู้บริหารกองทุนขนาดใหญ่มองว่า บริษัทขนาดขนาดกลางและขนาดเล็กจะมีปัญหาเรื่องการสร้างรายได้และผลกำไร ย่อมทำให้บริษัทเหล่านั้นมีการควบรวมกิจการ และหาพันธมิตรใหม่มาเสริมสร้างความแข็งแกร่งมากขึ้นในปีนี้
          นอกจากนี้ยังมีประเด็นน่าสนใจตรงที่สินทรัพย์ของบริษัทส่วนใหญ่อยู่ในรูปเงินสดและเงินลงทุนเพียงแค่ 104.10 ล้านบาท รวมทั้งภาระหนี้สินที่แบกรับก็มีเพียง 10.19 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการทำธุรกิจทั้งนั้น จึงง่ายต่อการทำแบ็คดอร์อย่างมาก
          ฉะนั้นการหันไปจับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ภายใต้กลุ่มผู้บริหารใหม่ จึงเป็นการลองผิดลองถูกครั้งใหม่ ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าจะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด

ข่าวหุ้น
/
เข้าชม: 1,696

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com