April 28, 2024   4:25:43 AM ICT
IEC ถูกกล่าวหา รับซื้อของโจร
"การลงทุนของบริษัท ไออีซี บิสซิเนสพาร์ทเนอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ IEC มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความโปร่งใส รวมถึงข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนต่อผู้ลงทุน หากมีการปกปิดข้อเท็จจริงย่อมเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ และอาจเป็นการกระทำความผิดกฎหมายนั้น ย่อมส่งผลกระทบต่อธรรมภิบาลของบริษัทอย่างเห็นได้ชัด"

Highlight

     แผนการดำเนินธุรกิจในปี 2550 ของ สุมิท แช่มประสิทธิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน)หรือ IEC ที่ประกาศอย่างมั่นใจว่าจะพลิกฟื้นผลประกอบการของบริษัทให้มาทำกำไรได้เป็นครั้งแรกในรอบหลายๆ ปี โดยตั้งเป้าการเพิ่มรายได้จาก 4 ธุรกิจ ซึ่ง 1 ในนั้น คือ ธุรกิจพลังงาน(เอทานอล) ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ที่จะเริ่มรับรู้อย่างเต็มที่ในไตรมาส 4 ปี 2550

     เท่านั้นยังไม่พอยังมีการประกาศให้ธุรกิจพลังงานเป็นธุรกิจเรือธงหรือธุรกิจหลักให้ได้ภายในระยะ 5 ปี จากนี้ไป แต่ดูเหมือนว่าพันธกิจดังกล่าวเริ่มจะมีปัญหาเสียแล้ว เพราะมีข่าวออกมาว่า บริษัท ไออีซี บิซิเนส พาร์ทเนอร์ส จำกัดหรือ IECBP ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ IEC ถูกนาย สมิทธิ์ จึงวิวัฒน์อนันต์ ฟ้องร้องเพื่อเอาบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล แก๊สโซฮอล์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ IGA กลับคืน หลังจากมีผู้ถือหุ้น 2 ราย คือ พันเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ และนายชวนันท์ นิงสานนท์ ได้ทำเอกสารในการซื้อขายโรงงานปลอมขึ้นมา

     ทำให้นายสมิทธิ์ ต้องออกมาปกป้องสิทธิของตนเอง และขอความเป็นธรรมจากศาล โดยเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้พันเอกอภิรัชต์ และนายชวนันท์ ถูกตั้งข้อหาฉ้อโกงบริษัท ส่วน IECBP ในฐานะผู้ซื้อทรัพย์สินของ IGA ถูกตั้งข้อหารับซื้อของโจร ในทางแพ่งคดีดำ เลขที่  842/ 2550 และ ทางอาญาคดีดำ เลขที่ 1226/2550

     เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้กระทบกับการวาดฝันของสุมิท แช่มประสิทธิ์ ที่จะนำ IEC ก้าวไปสู่ธุรกิจพลังงาน อย่างเต็มตัว โดยมีโอกาสสะดุดค่อนข้างสูง

     โดยหลังจากนี้ไป "ข่าวหุ้นธุรกิจ" จะทำการขุดคุ้ยประเด็นที่ IECBP เข้าไปซื้อหุ้นใน IGA อย่างมีเงื่อนงำ และไม่ถูกกฎหมายให้ลึกลงไปกว่าที่เห็นนี้อีก -ได้มาแบบไม่โปร่งใส

     จากที่ประชุมคณะกรรมการ บมจ.อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง หรือ IEC เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2550 มีมติอนุมัติให้ บริษัท ไออีซี บิซิเนส พาร์ทเนอร์ส จำกัด หรือ IECBP ซึ่งเป็นบริษัทย่อย เข้าซื้อทรัพย์สินของบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล แก๊สโซฮอล์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ IGA และลงทุนเพิ่มเติมรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 812 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 30.01% ของสินทรัพย์รวมของบริษัท

     โดยการซื้อสินทรัพย์ถาวรของโรงงานผลิตเอทานอลและลงทุนเพิ่มเติมในเครื่องจักรที่จำเป็นอื่นๆ เพื่อที่จะผลิตเอทานอลป้อนสู่ตลาดในเมืองไทย มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 170000 ลิตรต่อวัน ผู้บริหารIEC คาดว่าจะติดตั้งเครื่องจักรใหม่เสร็จภายในกลางปี 2550 และสามารถเริ่มการผลิตได้ทันที

     จากเรื่องดังกล่าวปรากฏข้อเท็จจริงว่า การซื้อขายทรัพย์สินดังกล่าวเป็นการทำนิติกรรมที่ขัดกับกฎหมายคือขัดกับพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 มาตรา 40 ซึ่งทำให้นิติกรรมเป็นโมฆะอย่างชัดเจน รวมถึงการอนุมัติของ พันเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ และนายชวนันท์ นิงสานนท์ 2 ผู้ถือหุ้นใหญ่ ที่ตัดสินใจขายโรงงานดังกล่าว โดยไม่ได้รับการยินยอมจากนาย สมิทธิ์ จึงวิวัฒน์อนันต์ ซึ่งเป็นเจ้าของตัวจริงนั้น ทำให้การกระทำดังกล่าวผิดกฎหมายอย่างเห็นได้ชัด

     ที่ผ่านมา นายสมิทธิ์ ได้รู้จักกับพันเอกอภิรัชต์ ซึ่งเป็นลูกชายคนโตของ พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ อดีตประธานคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติหรือ รสช. และเป็นสามีของนาง กฤษติกา คงสมพงษ์ พิธีกรชื่อดังกับนายชวนันท์ นิงสานนท์ เป็นเวลานานกว่า 10 ปี

     โดยทั้งสองคนทำงานเป็นพนักงาน และลูกจ้างของบริษัทของนายสมิทธิ์ ในฐานะที่ปรึกษาของ IGA และได้รับเงินเดือน รวมถึงค่าที่ปรึกษาตลอดมา

     จนเมื่อประมาณปี พ.ศ.2546 นายสมิทธิ์ ได้รับอนุมัติให้สร้างโรงงานผลิตเอทานอลจำนวนสูงถึง 500000 ลิตรต่อวัน จากคณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติ คณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี ในนามบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล แก๊สโซฮฮล์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือIGA

     ด้วยความไว้วางใจ นายสมิทธิ์ได้แต่งตั้งให้พันเอกอภิรัชต์ และนายชวนันท์ เป็นกรรมการร่วมกับนายนพดล เกียรติสงคราม รวม 3 คน โดยกรรมการ 2 คนใน 3 คน สามารถลงนามผูกพันบริษัทได้ โดยมีหนังสือมอบอำนาจให้ทำการแทน เพื่อเป็นตัวแทนในการช่วยงาน พรัอมทั้งให้ถือหุ้นแทนไว้

     ต่อมาเมื่อโรงงานสร้างเสร็จประมาณปี พ.ศ.2549 และเริ่มทดลองการผลิตเสร็จ พันเอกอภิรัชต์ กับนายชวนันท์ ร่วมกันลงนามขายโรงงานผลิตเอทานอล โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากนายสมิทธิ์เลย ซึ่งพฤติกรรมที่เกิดขึ้นมีการวางแผนเป็นขั้นตอน มีการปกปิดการกระทำโดยไม่ให้นายสมิทธิ์รับรู้ด้วย

     ภายหลังจากที่ธุรกรรมการซื้อขายเสร็จเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันจันทร์ที่ 29 มกราคม 2550 มีรถจำนวน 8 คัน ขนชายฉกรรจ์จำนวนประมาณ 15 คน ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ และทหาร เข้าไปล้อมโรงงานผลิตเอทานอล และประกาศว่าโรงงานดังกล่าวได้ถูกเปลี่ยนมือ และจะมีผู้บริหารใหม่เข้ามาแทน

     "ตอนนั้นนายสมิทธิ์ ก็งงกับเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น และไม่สามารถทราบรายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเลย จนต่อมาวันอังคารที่ 30 มกราคม พ.ศ.2550 ก็ได้รับทราบว่าโรงงานดังกล่าวได้ถูกพันเอกอภิรัชต์ และนายชวนันท์ ขายไปเรียบร้อยแล้ว"

     โดยทั้งสองได้ร่วมกันขายโรงงานให้กับ บริษัท ไออีซี บิสซิเนสพาร์เนอร์ท จำกัด ไปแล้ว ซึ่งนายสมิทธิ์ ได้พยายามติดต่อผู้ซื้อเพื่อแจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่ได้รับการติดต่อเพิ่มเติมประการใด

     จากเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นทำให้นายสมิทธิ์ ฟ้องศาลทางแพ่งคดีดำ เลขที่ 842/2550 เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2550 และต่อมาวันที่ 1 มีนาคม 2550 ได้ยื่นฟ้องทางอาญาคดีดำ เลขที่ 1226/2550 ผู้ขาย(พันเอกอภิรัชต์ และนายชวนันท์) ในข้อหา ฉ้อโกง และผู้ซื้อ(บริษัท ไออีซี บิสซิเนสพาร์เนอร์ท จำกัด)ในข้อหารับซื้อของโจร

     การลงทุนของบริษัท ไออีซี บิสซิเนสพาร์ทเนอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ IEC มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความโปร่งใส รวมถึงข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนต่อผู้ลงทุน หากมีการปกปิดข้อเท็จจริงย่อมเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ และอาจเป็นการกระทำความผิดกฎหมายนั้น ย่อมส่งผลกระทบต่อธรรมภิบาลของบริษัทอย่างเห็นได้ชัด

     -7ประเด็นข้อสงสัย

     1.บุคคลตามรายชื่อผู้ถือหุ้นตามทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล แก๊สโซฮอล์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด นั้น เป็นเพียงการถือแทนนายสมิทธิ์ เท่านั้น และบุคคลเหล่านั้นไม่เคยจ่ายเงินค่าหุ้นเลย แต่กลับขายโรงงานไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของที่แท้จริง

     2.พันเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ กับนายชวนันท์ นิงสานนท์ เป็นเพียงลูกจ้างของนายสมิทธิ์ ที่ได้รับเงินเดือน และค่าที่ปรึกษามาเป็นเวลานานกว่า 10 ปีเท่านั้น

     3.การขายทรัพย์สินของบริษัททั้งหมดซึ่งเป็นจำนวนเงิน 465 ล้านบาท แต่กลับไม่มีการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นที่ถูกต้อง และนายสมิทธิ์ซึ่งเป็นเจ้าของที่แท้จริงก็ไม่ทราบ

     4.การประชุมกรรมการเพื่อมีมติขายทรัพย์สินของบริษัท กลับจัดการประชุมในสถานที่ราชการ ไม่ประชุมในสถานที่ปกติ ณ สำนักงานของบริษัท

     5.การประชุมกรรมการกลับระบุว่ามีกรรมการเข้าประชุมจำนวน 4 คน แต่ไม่ระบุชื่อกรรมการให้ชัดเจนถูกต้อง

     6.ปัจจุบันนี้นายสมิทธิ์ ได้ฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายระหว่างบริษัท ไออีซี บิซิเนส

     พาร์ทเนอร์ส จำกัด กับบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล แก๊สโซฮอล์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด และเรียกทรัพย์คืน โดยการซื้อขายดังกล่าวกระทำกันโดยไม่สุจริต และยังขัดกับพ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน โดยทำการขายเครื่องจักรซึ่งได้รับการส่งเสริมการลงทุนไปโดยที่ยังไม่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและได้ฟ้องคดีอาญาในข้อหายักยอกทรัพย์ต่อพันเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ กับนายชวนันท์ นิงสานนท์แล้ว

     7.การกระทำของพันเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ กับนายชวนันท์ นิงสานนท์ และบริษัท ไออีซี บิซิเนส พาร์ทเนอร์ส จำกัด ดังกล่าวยังอาจเป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จให้กับประชาชน และบุคคลอื่นๆ เข้าใจผิด และหากประชาชนหรือนักลงทุนได้ข้อมูลที่ไม่เป็นจริง อาจก่อให้เกิดความเสียหาย และอาจเป็นการกระทำความผิดได้

     การลงทุนธุรกิจเอทานอลของIEC ที่มีเม็ดเงินลงทุนสูงถึง 812 ล้านบาท มีความเป็นไปได้สูงที่อาจจะสูญเปล่า หรืออาจไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ซึ่งงานนี้ สุมิท แช่มประสิทธิ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง หรือ IEC คงต้องออกโรงมาชี้แจงด้วยตัวเองแล้วกระมัง เพราะมันจะไม่เป็นผลดีต่อIEC และผู้ถือหุ้นเลย

     หวังว่าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลความถูกต้องของบริษัทจดทะเบียน คงจะไม่เพิกเฉย เพราะข้อมูลดังกล่าวได้ถึงมือเจ้าหน้าที่ของตลท.ไปนานแล้ว

ข่าวหุ้น

เข้าชม: 2,803

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com