April 28, 2024   3:03:39 AM ICT
การลงทุนในต่างประเทศ และตราสารหนี้เอเชีย

โดยปกติตลาดการลงทุนหรือตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ในต่างประเทศนั้น มักเปิดเสรีให้กับนักลงทุนจากทั่วโลกสามารถเข้าไปลงทุนได้ โดยกำหนดระเบียบวิธีปฏิบัติเป็นสากล

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : โดยเฉพาะเรื่องระบบการชำระราคา การส่งมอบหลักทรัพย์ ระบบการซื้อขาย ระบบการป้องกันความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องและมีองค์กรที่ทำหน้าที่กำกับดูแลเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่หลายๆประเทศร่วมกันจัดตั้งหรือยอมรับมาตรฐาน เช่น International Organization of Security Commissions (IOSCO) หรือ Federation International Des Bourses de Valeurs (FIBV) เป็นต้น

ขณะที่หลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายในตลาดเหล่านี้ก็มีหลากหลายตั้งแต่หุ้นกู้ พันธบัตร ตราสารอนุพันธ์ สัญญาซื้อ-ขายล่วงหน้าของสินค้าต่างๆ ทั้งสินค้าเกษตร หรือน้ำมัน ตลอดจนโลหะมีค่า เช่น เงิน ทองคำ เป็นต้น

ทำไม? ถึงต้องไปลงทุนในต่างประเทศ

วัตถุประสงค์ของการที่นักลงทุนไปลงทุนในต่างประเทศนั้น หลากหลายไปตามสภาพเศรษฐกิจ และภาวะตลาดการลงทุนในแต่ละประเทศ เมื่อเทียบกับตลาดการลงทุนต่างประเทศที่จะไปลงทุน แต่โดยภาพรวมแล้ววัตถุประสงค์หลักของการลงทุนในต่างประเทศอาจสรุปได้ดังนี้

-เพื่อกระจายการลงทุน (Diversification) หรือป้องกันความเสี่ยง (Hedging) ไปยังรูปแบบ ตลอดจนสภาวะเศรษฐกิจที่ต่างจากประเทศของตน

ตัวอย่างเช่น ในช่วงปี 2540-2541 เมื่อประเทศไทยเกิดภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ บรรดานักลงทุนต่างประเทศก็ถอนการลงทุนจากตลาดหลักทรัพย์ของไทย ย้ายไปลงทุนที่ประเทศอื่นๆ ที่สร้างผลตอบแทนที่ดีกว่า ส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ตกต่ำลงอย่างมาก ในขณะที่นักลงทุนไทยกลับไม่สามารถเคลื่อนย้ายเงินลงทุนไปต่างประเทศได้จึงขาดทุนเป็นจำนวนมาก

-เพื่อสร้างโอกาสในการแสวงหาผลตอบแทนที่อาจสูงกว่าการลงทุนในประเทศ

ในโลกแห่งการลงทุน ไม่มีตลาดการลงทุนใดที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุดตลอดไป โดยในแต่ละช่วงเวลาที่ต่างกัน ตลาดการลงทุนต่างๆ ก็ให้ผลตอบแทนที่มากน้อยแตกต่างกันไปตามปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ดังนั้น หากคุณเป็นนักลงทุนที่อยู่ในประเทศหนึ่งๆ ซึ่งโดยปกติคุณก็มักจะลงทุนภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่เนื่องจากความคุ้นเคย แต่หากคุณกระจายการลงทุนไปยังตลาดการลงทุนต่างประเทศที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าตลาดในประเทศ ก็จะทำให้คุณสามารถเพิ่มผลตอบแทนให้กับการลงทุนของคุณได้

-เป็นเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงเรื่องค่าเงินของสกุลเงินในประเทศ

ในกรณีที่คุณเป็นคนไทยที่ถือครองทรัพย์สินส่วนใหญ่เป็นเงินบาท หากคุณสามารถกระจายเงินบางส่วนไปถือครองทรัพย์สินเป็นสกุลเงินต่างประเทศโดยเฉพาะกับเงินสกุลหลักของโลก เช่น เงินดอลลาร์สหรัฐ ก็เท่ากับเป็นการคุ้มครองความเสี่ยงของค่าเงินบาทหากเกิดการผันผวนได้ (Positive Hedging) ตัวอย่างเช่น ถ้าย้อนกลับไปในช่วงปี 2540 ตอนต้นปี และคุณกำลังจะส่งลูกไปเรียนปริญญาโทที่ประเทศสหรัฐ เป็นเวลาประมาณ 2 ปี โดยคิดแล้วว่าต้องใช้งบประมาณทั้งหมด 100,000 ดอลลาร์ คุณได้กันเงินจำนวน 2,600,000 บาทไว้แล้ว (ขณะนั้นอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในช่วง 25-26 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ) โดยฝากในธนาคารเพื่อรับดอกเบี้ยเงินฝากไปเรื่อยๆ จนกว่าจะค่อยๆ ทยอยแลกตามเวลาที่ต้องส่งให้ลูก ซึ่งคุณเชื่อว่าเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดแล้ว แต่โดยไม่คาดฝันในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 รัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาททำให้ค่าเงินอ่อนตัวลงไปอยู่ที่ระดับประมาณ 35-55 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2540-2541 ผลคือ คุณต้องใช้เงินส่งลูกเรียนเพิ่มขึ้นถึงอีก 1-2.5 ล้านบาท หรืออาจต้องยกเลิกโครงการส่งลูกไปเรียนนอกไปเลย

แต่ถ้าขณะนั้นมีการอนุญาตให้คุณนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศได้ แม้คุณไม่มีความรู้ในการลงทุนในต่างประเทศมากนัก แต่คุณก็อาจเลือกลงทุนผ่านกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนที่ค่อนข้างปลอดภัย เช่น ลงทุนในตราสารหนี้ของภาครัฐของประเทศที่มั่นคงในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นหลัก ผลก็จะเป็นตรงกันข้าม คือ คุณใช้เงินเท่าเดิมในการส่งลูกเรียนหนังสือจนจบ แถมยังมีผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนไว้ให้ลูกได้ท่องเที่ยวหาประสบการณ์ตอนปิดเทอมอีกด้วย…. นี่แหละที่เราเรียกว่า Positive Hedging

โดย  จุมพล สายมาลา : www.ingfunds.co.th

เข้าชม: 1,767

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com