April 28, 2024   2:53:50 PM ICT
ยิ่งสะดวกยิ่งต้องระวัง

วิธีคำนวณผลตอบแทนจากกองทุนรวม

 

          ถาม     เมื่อปีที่แล้วผมได้ตัดสินใจเลือกซื้อกองทุนรวมไว้หนึ่งกองทุน จากกองทุนรวม 2 กองทุนที่ผมสนใจ  คราวนี้ผมอยากจะเปรียบเทียบผลตอบแทนของกองทุนรวมที่ได้ซื้อไว้กับกองทุนรวมที่ไม่ได้ซื้อในแบบง่ายๆ ได้อย่างไร  เพื่อดูว่าผมตัดสินใจได้ดีหรือไม่ครับ

 

          ตอบ    การคำนวณผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนรวมก็มีลักษณะเช่นเดียวกันกับการลงทุนอื่นๆ โดยทั่วไป กล่าวคือ เราก็จะนำเงินที่ได้รับจากการลงทุนไปเปรียบเทียบกับเงินที่นำมาลงทุนในตอนแรกว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นหรือลดลงเท่าไร  แล้วจึงนำไปคิดคำนวณเป็นอัตราร้อยละ

 

                        อัตราผลตอบแทน = [ -1] X 100

 

            แต่ก่อนที่จะนำการลงทุนสองอย่างมาเปรียบเทียบกันนั้น  เราจะต้องมาดูกันก่อนว่าเราจะเปรียบเทียบอะไร  เราก็ต้องให้ปัจจัยนั้นเป็นตัวแปรเพียงอย่างเดียวในขณะที่ปัจจัยอื่นๆ ต้องคงที่หรือมีลักษณะเดียวกัน เช่น หากเราจะเปรียบเทียบความสามารถในการเลี้ยงปลาของผู้เลี้ยงสองคน  เราก็ต้องทำให้ปัจจัยในการเลี้ยงอื่นๆ เป็นเช่นเดียวกัน คือ พันธุ์ปลาก็ต้องเหมือนกัน จำนวนและขนาดเริ่มต้นก็ต้องเท่ากัน บ่อน้ำ อาหาร และน้ำที่ใช้เลี้ยงปลาก็ต้องเป็นแบบเดียวกัน  เราจึงจะเปรียบเทียบได้ว่าผู้เลี้ยงคนใดมีฝีมือในการเลี้ยงปลาที่ดีกว่ากันได้ 

             การลงทุนในกองทุนรวมก็เช่นกัน หากเราจะดูว่ากองทุนรวมใดให้ผลตอบแทนที่ดีกว่ากัน  ซึ่งแท้จริงๆ แล้วเป็นการเปรียบเทียบการบริหารจัดการกองทุนรวมของบริษัทจัดการว่าบริษัทใดบริหารเงินลงทุนของกองทุนรวมได้ดีกว่ากัน   ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการเปรียบเทียบเราจึงควรจะต้องเปรียบเทียบผลตอบแทนเฉพาะกองทุนที่มีนโยบายในการลงทุนที่เหมือนๆ กัน  ผลตอบแทนที่จะเปรียบเทียบก็ต้องเกิดจากช่วงระยะเวลาเดียวกันและเป็นช่วงระยะเวลาที่เท่ากันด้วย  นี่เป็นหลักการในการเปรียบเทียบการลงทุนสองอย่างในแบบง่ายที่สุด

 

            อย่างไรก็ดี ในการนำการลงทุนสองอย่างที่มีปัจจัยความแตกต่างกันมาเปรียบเทียบกันนั้นไม่สามารถทำได้หรืออย่างไร  เราก็ยังอาจจะสามารถทำได้ครับแต่ไม่ใช่ในทุกกรณี  เราจะทำได้ก็ต่อเมื่อเราสามารถนำความแตกต่างจากปัจจัยมาปรับเพิ่มหรือลดเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมได้ เช่น กรณีการเลี้ยงปลานั้นหากผู้เลี้ยงปลารายหนึ่งใช้ยาเพื่อเร่งการเจริญเติบโตให้มากขึ้นกว่าปกติอีก 1 เท่าตัว 

            ดังนั้น หากเราจะเปรียบเทียบการเลี้ยงปลาของผู้เลี้ยงสองรายนี้เราก็ต้องปรับลดผลผลิตของผู้เลี้ยงปลาที่ใช้ยาเร่งการเจริญเติบโตเหลือเพียงครึ่งหนึ่งด้วย 

            ในการลงทุนในกองทุนรวมก็เช่นกัน  หากกองทุนรวมหนึ่งมีการจ่ายเงินปันผลแต่อีกกองทุนไม่มีการจ่ายเงินปันผล  เราก็จะต้องเพิ่มเงินปันผลนั้นเข้าไปเป็นผลตอบแทนของกองทุนที่จ่ายปันผลด้วย  ก่อนอื่นผมคงต้องขอให้ผู้ลงทุนทำความเข้าใจกับคำว่า “มูลค่าทรัพย์สินสุทธิต่อหน่วย (Net Asset Value per unit หรือที่มักจะเข้าใจและเรียกกันว่า NAV) ซึ่งหมายถึง มูลค่าทรัพย์สินของกองทุนรวมในราคาตลาดหักด้วยหนี้สินของกองทุนรวมหารด้วยจำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมดของกองทุนรวมนั้น  โดยจะเป็นข้อมูลตัวแทนที่เราจะสามารถนำไปใช้ในการคำนวณผลตอบแทนได้  

            การคำนวณผลตอบแทนของกองทุนรวมที่มีการจ่ายเงินปันผลให้เราแยกการคำนวณผลตอบแทนเป็นสองช่วงเวลา คือ มูลค่าเปรียบเทียบก่อนจ่ายเงินปันผลและมูลค่าเปรียบเทียบหลังการจ่ายเงินปันผล  แล้วจึงนำมูลค่าเปรียบเทียบทั้งสองช่วงมาเชื่อมต่อกันแล้วคิดคำนวณเป็นอัตราร้อยละจากสูตรการคำนวณดังนี้

 

อัตราผลตอบแทน = [( มูลค่าเปรียบเทียบก่อนจ่ายเงินปันผล X มูลค่าเปรียบเทียบหลังจ่ายเงินปันผล) -1] X 100

 

            โดย      มูลค่าเปรียบเทียบก่อนจ่ายเงินปันผล =

            และ     มูลค่าเปรียบเทียบหลังจ่ายเงินปันผล =

            ซึ่ง        NAVb คือ มูลค่าทรัพย์สินสุทธิต่อหน่วยต้นงวด

                        NAVd คือ มูลค่าทรัพย์สินสุทธิต่อหน่วยก่อนจ่ายเงินปันผล

                        NAVe คือ มูลค่าทรัพย์สินสุทธิต่อหน่วยปลายงวด

 

            แต่หากจะเปรียบเทียบกองทุนรวมที่มีนโยบายแตกต่างกัน  ก็จะเปรียบเสมือนนำการเลี้ยงปลาต่างสายพันธุ์ (ปลาทับทิมกับปลาดุก) มาเปรียบเทียบกัน  ซึ่งก็ต้องนำความแตกต่างจากปัจจัยมาปรับเพิ่มหรือลดด้วยข้อสมมติฐานที่ตั้งขึ้น  ความถูกต้องในการเปรียบเทียบจึงขึ้นอยู่กับสมมติฐานดังกล่าวว่ามีความเป็นธรรมเพียงใด

             สำหรับการเปรียบเทียบการลงทุนในกองทุนรวมที่มีนโยบายแตกต่างกัน  เราก็จะต้องคำนวณหาค่าความเสี่ยงของการลงทุนแต่ละกองทุนเพื่อนำมาปรับกับค่าอัตราผลตอบแทนที่คำนวณได้จากที่กล่าวข้างต้นเพื่อให้อยู่ในฐานของระดับความเสี่ยงเดียวกันเสียก่อน 

            แต่ว่าการคำนวณหาค่าความเสี่ยงนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายๆ ดังนั้นผมจึงไม่ขอกล่าวถึงการคำนวณไว้ในที่นี้ครับ

 

ยิ่งสะดวกยิ่งต้องระวัง

 

            ซินเจียหยู่อี่  ซินนี้ฮวดไช้   ตรุษจีนปีนี้ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพกาย สุขภาพใจ  และ สุขภาพเงินสมบูรณ์แข็งแรง  นึกถึงเทศกาลตรุษจีนนอกจากนึกถึงหมู เห็ด เป็ด ไก่แล้วอีกสิ่งหนึ่งที่ลืมไม่ได้สำคัญมากอั่งเปายังไงล่ะ 

            สมัยเด็กๆ จะดีใจมากเมื่อเทศกาลตรุษจีนมาถึง  วันจ่ายเราไม่เกี่ยว  วันไหว้เราขอมีเอี่ยวด้วยอิ่มอร่อย วันเที่ยวชอบมากเพราะเป็นวันที่ได้รับเงิน มาแล้วซองแดงๆ แต่พอเริ่มทำงานไม่สนุกเท่าไรเพราะต้องเปลี่ยนสถานะจากผู้รับมาเป็นผู้ให้ แบบนี้เริ่มไม่สนุก  ยิ่งลูกหลานมากยิ่งหนาว ล้อเล่นน่า  ยังไงๆ แจกอั่งเปากันแล้วอย่าลืมเตือนเด็กๆ ให้แบ่งเงินเก็บไว้บ้าง จะรูปแบบไหนก็ได้ขอให้รู้จักเก็บออมก่อนเป็นใช้ได้ เมื่อมีวินัยการออมดีแล้วก็ค่อยเริ่มแบ่งเงินบางส่วนไปหาผลประโยชน์เพิ่มขึ้น

                 จริงๆ แล้ววันนี้ไม่ได้ตั้งใจเขียนเรื่องเทศกาลตรุษจีนแต่บังเอิญตรงช่วงนี้พอดีเลยต้อง "อินเทรนด์" กันหน่อย มาเข้าเรื่องที่ตั้งใจจะเขียนกันดีกว่า  คงไม่มีใครที่ไม่เคยถอนเงินผ่านเครื่องเอทีเอ็ม หรือ หากจะมีบ้างก็คงจะน้อยมากๆ  ไม่ว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาก้าวไปไกลอย่างไร?

                 มิจฉาชีพทั้งหลายก็จะพยายามคิดกลวิธีต่างๆ เพื่อหาทางโกงในรูปแบบต่างๆ  ทั้งโลว์เทคและไฮเทค เช่น  ติดตั้งกล่องเล็กๆ ซ่อนไว้ และสร้างเครื่องอ่านหมายเลขบัตรสวมไว้ที่ช่องเสียบบัตร เมื่อลูกค้ามาใช้บริการเครื่องนี้ก็จะอ่านค่าบัตรทั้งหมด และนำข้อมูลทั้งหมดไปทำบัตรปลอมถอนเงินจากบัญชี หรือบางรายทำทีมาทำรายการผ่านเครื่องเอทีเอ็มแล้วทำทีว่าบัตรมีปัญหาให้ลูกค้ารายอื่นในคิวเข้าไปก่อน  และทำทีเป็นขอความช่วยเหลือขอดูบัตรและใช้เครื่องคัดลอกข้อมูลจากบัตรนำไปทำบัตรใหม่และไปถอนเงินจากบัญชี

                 หรือบางรายก็ฉกเงินเอาดื้อๆ หลังจากลูกค้ากดเงินได้เรียบร้อย  หรือแอบดูรหัส  ขโมยบัตรไปถอนเงินกรณีลูกค้าเขียนรหัสไว้ให้พร้อม หรือถูกขโมยกระเป๋าสตางค์ซึ่งมีบัตรเอทีเอ็มอยู่ด้วยหลังจากนั้นใช้วิธีเดารหัสโดยดูจากบัตรประชาชนหรือใบขับขี่ หรือแอบอ้างเป็นพนักงานบริษัทโทรหาลูกค้าธนาคารและแจ้งว่าเขาเป็นผู้โชคดีได้รับรางวัล แต่ขอให้โอนเงินผ่านเครื่องเอทีเอ็มเข้าบัญชีออมทรัพย์ที่เปิดรอไว้ก่อนเพื่อจัดการเรื่องภาษีและจะส่งของรางวัลให้ต่อไป ฯลฯ

                   ทั้งหลายทั้งปวง เหล่านี้ล้วนเป็นวิธีการที่เหล่ามิจฉาชีพทั้งหลายใช้ในการกระทำการมิชอบ  ดังนั้น พวกเราพลเมืองดีทั้งหลายก็ต้องช่วยกันระมัดระวังไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพพวกนี้

     @ เริ่มต้นด้วยรหัสเอทีเอ็มก่อน อย่าเก็บไว้ที่เดียวกับบัตร จริงๆ แล้วไม่ควรเก็บอาจจดไว้ที่ใดที่หนึ่งในรูป ของโค้ดลับต่างๆ ที่เรารู้ของเรา  อย่าง่ายเกินไปทำให้เดาได้ เช่น  ปีเกิด  ฯลฯ  เปลี่ยนรหัสเป็นระยะๆ เพราะสามารถทำได้ที่เครื่องเอทีเอ็มของธนาคารที่ท่านใช้บัตรและไม่ควรเปิดเผยรหัสเอทีเอ็มให้คนอื่นทราบแม้กระทั่งคนในครอบครัว "เงินทอง ของบาดใจ" ต้องระวัง

@ บัตรเอทีเอ็ม เก็บไว้กับตัวเองตลอดห้ามคนแปลกหน้าสัมผัสบัตรเอทีเอ็ม  เพราะอาจเกิดกรณีอย่างที่กล่าวข้างต้นได้ ให้ระลึกไว้เสมอว่าบัตรเอทีเอ็มเปรียบเสมือนเงินสดของเราต้องระมัดระวัง เมื่อไรบัตรกับรหัสเจอกันเงินไหลแน่นอน ไหลเข้ากระเป๋าเราก้อแล้วไป แต่ถ้าเข้ากระเป๋าคนอื่นก็ชีช้ำไปตามระเบียบ 

@ อื่นๆ ที่ควรระวัง  

            - บัญชีที่มีบัตรเอทีเอ็มไม่ควรเหลือเงินในบัญชีมากเกินไป  ควรมีบัญชีอื่นๆ สำหรับเก็บเงินและไม่มีบัตรเอทีเอ็ม

            -เลือกใช้เครื่องเอทีเอ็มที่ใช้ประจำ อยู่ในสถานที่ที่ค่อนข้างปลอดภัย  มองดูรอบๆ เครื่องก่อนเข้าไปใช้

            -เตรียมหยิบบัตรให้พร้อมก่อนเข้าไปใช้เครื่อง สังเกตดูเครื่องมีอะไรผิดปกติหรือถูกดัดแปลงอะไรบ้างหรือไม่  ยื่นให้ชิดเครื่องมากทีสุด อย่าลืมใช้ลำตัวและมือบังขณะกดรหัสด้วย  สังเกตคนที่ยืนในคิวด้านหลังอย่าให้ยืนชิดเรา  อาจแอบดูรหัส หรือ หยิบเงินไปได้ 

                        -ระวังคนแปลกหน้าอาจทำทีเข้ามาช่วยเหลือ หรือขอความช่วยเหลือจากเรา ไม่ว่าไทยหรือต่างชาติ  หากกดเงินไปแล้วเกิดขัดข้องเงินไม่ออกมาให้รอดูคนต่อไปทำรายการก่อนเผื่อเงินของเราติดค้างอยู่จะไหลออกมาด้วย หากบัตรติดหรือถูกยึดให้รีบแจ้งธนาคารทันที 

                   อย่างที่บอกแล้วบัตรเอทีเอ็มก็เหมือนเงินสดของเรา ยิ่งถอนได้สะดวกรวดเร็วเท่าไรก็ยิ่งต้องระมัดระวังเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น  เพราะกว่าจะหาเงินมาได้แต่ละบาทเราต้องแลกกับความเหน็ดเหนื่อยไม่น้อย ช่วยระมัดระวังเพื่อรักษาเงินของเราไว้ก่อนก็คงไม่น่าจะเป็นเรื่องยากจนทำไม่ได้    

 

Bangkokbiznews
เข้าชม: 1,541

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com