May 2, 2024   1:14:06 PM ICT
Monitoring and Rebalancing of Portfolio
วันนี้ เราจะมาพูดถึงการตรวจสอบ และการปรับพอร์ตการลงทุน (Monitoring and Rebalancing of Portfolio) ก่อนที่จะทำการปรับพอร์ตการลงทุน ขอให้นักลงทุนคิดว่า ในกรณีที่ต้องสร้างพอร์ตการลงทุนขึ้นมาใหม่จากศูนย์ พอร์ตการลงทุนใหม่ จะเหมือนพอร์ตการลงทุนเดิมที่มีอยู่หรือไม่ ในกรณีที่พอร์ตการลงทุนใหม่แตกต่างจากพอร์ตการลงทุนเก่า หมายความว่า การปรับพอร์ตเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องกระทำ

การปรับพอร์ตการลงทุน สามารถทำได้ 3 วิธี คือ
       1. การปรับส่วนผสมของประเภทสินทรัพย์ (Asset Mix Adjustment) คือการเปลี่ยนแปลง
       สัดส่วนการลงทุนในแต่ละประเภทตราสาร เช่น เพิ่มน้ำหนัก หรือสัดส่วนการลงทุนตราสารหนี้ในพอร์ตการลงทุนเพิ่มขึ้น
       
       2. การปรับสัดส่วนในกลุ่ม (Adjustment of Composition within Asset Class) คือการปรับ
       น้ำหนักของสัดส่วนหลักในตราสารประเภทนั้นๆ เช่น การปรับ Duration ของพอร์ตในส่วนของตราสารหนี้
       
       3. การปรับโดยการเลือกหลักทรัพย์ (Security Selection Adjustment) คือการปรับเปลี่ยน
       หุ้นที่อยู่ในพอร์ตการลงทุน
       
       สำหรับนักลงทุนทั่วไป การประเมินว่าจะต้องมีการปรับพอร์ตการลงทุนหรือไม่ มีปัจจัยที่นำมาใช้พิจารณา 2 ปัจจัย คือ
       
       1) การปรับพอร์ตลงทุนอันเนื่องมาจากจากสถานะที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้ลงทุน และ
       2) การปรับพอร์ตการลงทุนอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของผลตอบแทนความเสี่ยง และปัจจัยอื่นๆ
       
       สำหรับการปรับพอร์ตลงทุนอันเนื่องมาจากจากสถานะที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้ลงทุน มีปัจจัยที่ต้องพิจารณาทั้งหมด 6 ปัจจัย ดังต่อไปนี้
       
       1. การเปลี่ยนแปลงความมั่งคั่ง (Change in Wealth) โดยปกติแล้ว สำหรับผู้ที่มีฐานะ
       การเงินดีขึ้นหรือร่ำรวยมากขึ้น จะมีความสามารถในการรับความเสี่ยงได้มากขึ้น
       
       2. การเปลี่ยนแปลงในระยะเวลาการลงทุน (Change in Time Horizon) ความสามารถใน
       การรับความเสี่ยง โดยปกติแล้ว จะแปรผันโดยตรงกับระยะเวลาในการลงทุนยกตัวอย่าง คือในกรณีที่ระยะเวลาในการลงทุนสั้นมากๆ จะเน้นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำมากเช่นกัน
       
       3. การเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของสินทรัพย์สภาพคล่อง (Change in Liquidity Requirement)
       คือการปรับระดับของเงินสด หรือหลักทรัพย์ที่มีสภาพคล่องเทียบเท่า ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้เงินในระยะสั้น
       
       4. ภาษี ข้อเสียของการเพิ่มขึ้นของระดับความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้น คือการเสียภาษีเพิ่มขึ้น ดังนั้น
       การลงทุนที่ได้รับการยกเว้นภาษี (ในตราสารทุน) จะถือว่าเป็นตัวเลือกทางการลงทุนที่น่าสนใจ
       
       5. กฎหมายและข้อบังคับที่กำหนดนักลงทุนเปลี่ยนไป เช่น สมมุติว่า นักลงทุนเป็นสหกรณ์
       ออมทรัพย์ โดยปกติแล้ว จะมีข้อจำกัดในการลงทุนในหลักทรัพย์ค่อนข้างมาก ในกรณีที่ในอนาคตมีการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ในการลงทุนลง ก็จะทำให้มีทางเลือกในการลงทุนเพิ่มขึ้น
       
       6. ความต้องการเฉพาะของนักลงทุน ในกรณีนี้คือ ต้องมีการประเมินอย่างสม่ำเสมอ
       เนื่องจากความต้องการที่เฉพาะเจาะจง จะมีการเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก เมื่อเวลาผ่านไป
       
       การปรับพอร์ตการลงทุนอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของผลตอบแทนความเสี่ยงและปัจจัยอื่นๆ (Risk Return and Other Factors)
       
       1. ทางเลือกลงทุนรูปแบบอื่น (New Investment Alternative) การที่มีประเภทสินทรัพย์
       ใหม่ๆ เข้ามาในตลาดฯ เช่น การลงทุนในตราสารอนุพันธ์ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มมีการซื้อขายในปีหน้า ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน Asset Allocation
       
       2. การเปลี่ยนแปลงในผลตอบแทนคาดหวัง และความเสี่ยงของสินทรัพย์ในแต่ละประเภท
       (Asset Class) ทำให้ต้องมีการปรับพอร์ตการลงทุน เพื่อให้สอดคล้องกับความเสี่ยง และผลตอบแทนที่คาดหวังใหม่ อีกทั้งราคาหุ้น/ตราสารที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดโอกาสในการทำกำไร นักลงทุนอาจควรพิจารณาขายหุ้นที่ราคาปรับตัวขึ้นสูงเกินปัจจัยพื้นฐาน เพื่อนำมาลงทุนในหุ้นที่ราคาปรับลงมาเกินจริง

ที่มา ฝ่ายบริหารกองทุนส่วนบุคคล
       บมจ. หลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด
       

เข้าชม: 2,188

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com