April 20, 2024   6:25:25 AM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > จับตา `ทรัมป์` รับตำแหน่งปธน. เขย่า SET สะเทือน
 

thaihoon
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 14,583
วันที่: 20/01/2017 @ 08:59:13
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

SET ร่วงเกือบ 6 จุด จับตา "โรนัลด์ ทรัมป์" รับตำแหน่งวันนี้ ทั่วโลกรอดูนโยบายศก.ทั้งเรื่องกีดกันการค้า และแผนลดภาษี ฟากกูรูเชื่อ ทรัมป์ ทำได้แค่บางส่วน เหตุหวั่นศก.สหรัฐฯพัง ชี้ดอกเบี้ยเฟด - ค่าเงินดอลลาร์จะมีน้ำหนักมากกว่า ส่วนปัจจัยในประเทศ โบรกฯ ให้เฝ้าระวังเงินนอกไหลออกหากเฟดขึ้นดบ. รวมถึงการเมืองที่เลือกตั้งอาจเลื่อนไปปี 61 เพราะติดหลายพิธีสำคัญ เชื่อครึ่งปีแรกหุ้นไทยมีลุ้นทะลุ 1,600 จุด ส่วนทั้งปีคาดจะแตะ 1,700 จุด

  ดัชนีตลาดหุ้นไทยวานนี้ (19 ม.ค.59) ดิ่งหนัก หลังจากนักลงทุนทั่วโลกจับตา พิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ในวันนี้ (20 ม.ค.59) ต่อนโยบายเศรษฐกิจว่าออกมาในรูปแบบไหนทั้งแผนกีดกันการค้าและนโยบายลดภาษี นอกจากนี้ยังให้ติดตามผลกระทบจาก Brexit เพราะจะส่งผลถึงนโยบายดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในปีนี้เช่นกัน
   โดยหุ้นไทยวานนี้ปิดที่ระดับ 1,554.88 จุด ลดลง 5.95 จุด หรือ -0.38% มูลค่า การซื้อขาย 475.81 ล้านบาท

*** ซีไอเอ็มบีไทย มองทรัมป์กีดกันการค้าได้แค่บางส่วน เหตุห่วงศก.สหรัฐฯพัง
  ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย เปิดเผยว่า นโยบายนายโดนัลด์ ทรัมป์ ภายหลังการเข้ารับตำแหน่งนั้น มองว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ทรัมป์จะดำเนินนโยบายตามที่หาเสียงไว้บางส่วน เพื่อรักษาคะแนนนิยมในช่วงแรก ซึ่งคงหนีไม่พ้นคำขวัญ "Make America Great Again" นั่นคือการใช้นโยบายการคลังและนโยบายการค้าระหว่างประเทศ โดยมองว่าจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐจะเร่งตัวแรง อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้เร็ว ขึ้น รวมถึงเงินดอลลาร์แข็งค่า
  โดยในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงจากคำพูดของนายโดนัลด์ ทรัมป์ที่กำลังจะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งการสื่อความของนายทรัมป์อาจจะทำให้ตลาดเกิดความผันผวนในช่วงสั้น อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการและนักลงทุนควรให้น้ำหนักกับการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ที่จะบ่งชี้ทิศทางของค่าเงินดอลลาร์เป็นหลัก โดยธนาคารยังมองว่าด้วยพื้นฐานเศรษฐกิจสหรัฐในขณะนี้ ค่าเงินดอลลาร์ยังมีทิศทางที่จะแข็งค่าต่อเนื่องในปีนี้
  การดำเนินนโยบายการคลังของทรัมป์จะช่วยสร้างกำลังซื้อในประเทศผ่านการลดภาษี ซึ่งสามารถทำได้เร็วและเห็นผลชัดเจน เมื่อคนธรรมดาและบริษัทจ่ายภาษีลดลงก็จะนำเงินไปใช้จ่าย ไปลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจไปอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ทรัมป์มีแผนการสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ซึ่งจะกระตุ้นการจ้างงานและการลงทุนอย่างมาก
  “นโยบายนี้จะเป็นตัวหลักในช่วง 2 ปีแรกของทรัมป์ ก่อนการเลือกตั้งสส. และสว. บางส่วนที่เรียกว่า Midterm election เพื่อคงฐานเสียงพรรครีพับลิกันไว้ ข้อเสียของนโยบายนี้คือ หนี้ภาครัฐของสหรัฐจะเร่งตัว ราคาสินทรัพย์แพงขึ้น ภาวะฟองสบู่กำลังเกิดอีกครั้ง” ดร.อมรเทพ กล่าว

*** คาดไม่เห็นแผนกีดกันการค้า ชี้สหรัฐฯยังต้องพึ่งจีนเช่นกัน
  นโยบายการค้าระหว่างประเทศหรืออีกนัยหนึ่งคือนโยบายกีดกันทางการค้าเพื่อให้บริษัทต่างๆ หันกลับมาลงทุนในสหรัฐมากขึ้น และลดการนำเข้าลงนั้น เชื่อว่าจะไม่ได้รับการผลักดันให้เห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างที่หาเสียงไว้ โดยเฉพาะการให้กระทรวงการคลังสหรัฐขึ้นบัญชีประเทศจีนว่าเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน ซึ่งจะมีผลทำให้สหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าได้ถึง 45% อันจะกระทบการส่งออกของจีนอย่างมาก แต่ผลกระทบจากนโยบายดังกล่าวอาจกระทบกับเศรษฐกิจสหรัฐเองในที่สุด
  “แม้ส่วนใหญ่จะกังวลว่าจีนจะมีปัญหาจากนโยบายดังกล่าว แต่ผมมองว่านี่เป็นการขู่มากกว่า เพราะไม่ใช่จีนพึ่งสหรัฐอย่างเดียว สหรัฐก็พึ่งจีนเช่นกัน ดังเห็นได้จากสหรัฐพึ่งสินค้าจากจีนถึง 20% ของการนำเข้าทั้งหมด หากสินค้าจากจีนมีราคาสูงขึ้น ก็จะทำให้ต้นทุนด้านวัตถุดิบและค่าครองชีพของคนสหรัฐเพิ่มสูงตาม ซึ่งสุดท้ายจะทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐสะดุดลงได้ นอกจากนี้จีนก็มีวิธีการตอบโต้สหรัฐเช่นกัน ด้วยการลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งที่ผ่านมาจีนเทขายต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพุ่งขึ้น ซึ่งก็คือต้นทุนทางการเงินของบริษัทจะสูงขึ้นตาม และอาจทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐสะดุดลงได้” ดร.อมรเทพ กล่าว

*** ลุ้นนโยบายลดภาษีของทรัมป์ หนุนหุ้นทั่วโลก
  นายรัชต์ โสดสถิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แอสเซท พลัส จำกัด เปิดเผย ว่า คาด SET Index สิ้นปีนี้ จะอยู่ที่ 1,680 จุด บน P/E 13 เท่า ประเมินกำไรของตลาด(EPS) เติบโต 12% จากปีก่อน
  ปัจจัยในประเทศมาจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐเป็นตัวหนุน และจากการบริโภคภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นจากราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้น นอกจากนี้คาดว่าจะได้รับอานิสงส์ด้านการส่งออกดีขึ้นหลังเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าเริ่มฟื้นตัว นอกจากนี้มองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ เพื่อให้เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แม้เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น
  ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศมองว่านโยบายลดภาษีรายได้นิติบุคคล และบุคคลธรรมดาของโดนัลด์ ทรัมป์ จะหนุนให้ตลาดหุ้นทั่วโลกเติบโตอย่างมาก หากสามารถนำมาดำเนินการได้จริง เนื่องจากจะช่วยให้กำไรของบริษัทจดทะเบียน(บจ.) และกำลังซื้อในสหรัฐฯเติบโตอย่างมาก พร้อมคาดธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั้งหมด 2 ครั้งภายในปีนี้โดยจะปรับขึ้น 1 ครั้งในเดือนมิ.ย. และและอีก 1 ครั้งเดือนธ.ค.
   ด้านกลยุทธ์แนะลงทุนในหุ้นที่มีแบรนด์แข็งแกร่งและได้รับอานิสงส์จากการเติบโตของเศรษฐกิจใน CLMV รวมถึงหุ้นรับประโยชน์โครงการรัฐ และหุ้นที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจ เช่น กลุ่มพลังงาน ธนาคารพาณิชย์ และสื่อสารเนื่องจากเม็ดเงินของนักลงทุนต่างชาติเริ่มทยอยกลับเข้ามายังตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง

*** บลจ.กรุงศรี มอง ครึ่งปีแรกมีลุ้นทะลุ 1,600 จุด
  นางสาวฉัตรแก้ว เกราะทอง ผู้อำนวยการฝ่ายการลงทุนทางเลือก บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด เปิดเผยว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยปีนี้มีโอกาสจะปรับตัวขึ้น 1,700 จุด คิดบนค่า P/E ระดับ 14-15 เท่า ใกล้เคียงปัจจุบัน บนสมมุติฐานคาดการณ์ EPS โตระดับ 10% ปัจจุบันระดับราคาหุ้นจะเริ่มสูง แต่เชื่อว่าพื้นฐานหุ้นไทยแข็งแกร่งตามภาวะเศรษฐกิจจะช่วยผลักดันให้ไปต่อไป
   เชื่อว่าในช่วงครึ่งปีแรกมีโอกาสที่ดัชนีจะปรับตัวทะลุ 1,600 จุดไปได้ อย่างไรก็ตามปัจจัยความผันผวนในช่วงครึ่งปีหลัง เรื่องการเมืองในประเทศ และแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด อาจทำให้ดัชนีลงมาทดสอบแนวรับที่ประมาณ 1,480-1,500 จุด
  กลยุทธ์การลงทุนในปีนี้ให้เน้นหุ้น Growth stock มากกว่า หุ้นปันผล เพราะในภาวะเงินเฟ้อเริ่มสูงขึ้น ทำให้ผลตอบแทนในหุ้น Defensive ที่ให้เงินปันผลเป็นหลักอาจไม่สูงมากนัก กลุ่มหุ้นน่าสนใจ ได้แก่ กลุ่มค้าปลีก อสังหาฯ ท่องเที่ยว และส่งออก สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว สัดส่วนการลงทุนยังแนะนำหุ้น 60% และตราสารหนี้ 40%
  แนวโน้มกระแสเงินทุนต่างชาติยังมีโอกาสไหลออกต่อเนื่อง หากเฟดขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรง แต่ขณะนี้คาดการณ์ของหลายฝ่ายยังเชื่อว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปมากกว่า ส่วนปัจจัยเศรษฐกิจทั่วโลกต้องติดตาม เช่น การขึ้นเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าจะสามารถผลักดันนโยบายด้านเศรษฐกิจโดยรวมไปในทิศทางใด นโยบายการเงินของสหรัฐฯ ที่อาจกระทบกระแสเงินทุนต่างชาติ และกรณีผลของ Brexit ที่จะเกิดขึ้น รวมถึงการเมืองไทยเรื่องการเลือกตั้งที่มีแนวโน้มอาจเลื่อนไปในปี 61 แทน เพราะมีพระราชพิธีสำคัญที่รัฐบาลต้องจัดการ

*** บล.เออีซี มอง SET ปีนี้ขยับในกรอบ 1,474-1,683 จุด
  นายรณกฤต สารินวงศ์ กรรมการผู้จัดการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด (มหาชน) หรือ AECS ประเมินกรอบดัชนีตลาดหุ้นไทยในปี 2560 ระหว่าง 1,474-1,683 จุด โดยอ้างอิงการประมาณการค่า PER จาก Band ในอดีต พบว่า จุดต่ำสุดในรอบ 5 ปีอยู่ที่ 13.8 เท่า และจุดเฉลี่ยเหมาะสมของ Fair PER อยู่ที่ 15.7 เท่า จะได้กรอบ และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก หลัง BREXIT และการได้ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของเงินทุนสำคัญ ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายมากขึ้นในปีนี้ โดยเฉพาะการจับตาทิศทางของ Fund Flow อย่างใกล้ชิด
  ประกอบกับแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED โดยประเมินว่าจะมีการปรับขึ้นอย่างน้อยอีก 3 ครั้ง ไม่ต่ำกว่า 1.50% จากระดับปัจจุบัน 0.50-0.75% ทำให้มีการขายทำกำไรพันธบัตรออก และหันไปเก็งกำไรเงินดอลลาร์ และหุ้นแทน ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติลดการลงทุนในตลาดหุ้นภูมิภาคต่อเนื่อง

*** คาดกำไรบจ.ปี 59 โต 38% จากปี 58 แต่ปี 60 จะโตเพียง 10%
  นายรณกฤต เปิดเผยอีกว่า ช่วง 9 เดือนแรกปี 2559 กำไรของ บจ .ขยายตัว 33% จากปีก่อน และ คาดจะเพิ่มขึ้นเป็น 38% จากปีก่อน เมื่อสิ้นปี 2559 จะส่งผลต่อราคาหุ้นให้มีโอกาสปรับตัวขึ้นได้อีกเล็กน้อยจากระดับ 1,520 ในปัจจุบัน แต่หลังจากนั้นมีโอกาสที่จะผันผวน เนื่องจากประมาณการของ Bloomberg พบว่า ปี 60 กำไร บจ. จะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงสู่ระดับ 10% จากปีก่อน ซึ่งจะกดดันให้ราคาหุ้นอ่อนตัวลงได้ในที่สุด
   นอกจากนี้จากข้อมูลอ้างอิงจาก Bloomberg พบว่าในปี 2560 การขยายตัวของ GDP ไทยคาดจะเติบโตที่ 3.2% เมื่อเทียบจากปีก่อน ขณะที่กระทรวงการคลังมีมุมมองเชิงบวกหลังรัฐบาลออกแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยประเมินว่า GDP อาจเติบโตได้ถึง 4% อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องระมัดระวัง คือ การขยายตัวของเงินเฟ้อ (CPI) ซึ่งมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นมากจากการเร่งกระตุ้นการใช้จ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน
  รวมทั้งหากพิจารณาจากการขยายตัวของกำไร บจ. เทียบกับค่า PER ของตลาด (SET) พบว่า หาก บจ. มีอัตราการขยายตัวของกำไรเพิ่มขึ้น จะทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น และค่า PER ของตลาดปรับตัวสูงขึ้นในทิศทางเดียวกัน และหากอัตราการขยายตัวของกำไรลดลง จะทำให้ค่า PER ของตลาดลดลง เพราะราคาหุ้นปรับตัวลง

 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com