April 19, 2024   12:27:29 PM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > BCPGลงสนามเทรด!ลุ้นเหนือจอง 10 บ.
 

thaihoon
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 14,583
วันที่: 28/09/2016 @ 08:35:46
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

"บีซีพีจี" บริษัทลูก BCP ลงสนามเทรดวันนี้วันแรก ลุ้นเหนือจอง IPO ที่ 10 บาท ฟากผู้บริหารมั่นใจได้รับการตอบรับดีเยี่ยม ประกาศเตรียม นำเงิน IPO ครั้งนี้ ลุยขยายธุรกิจไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งในและต่างประเทศ ตั้งเป้ามีกำลังการผลิตไฟฟ้า 1,000 MW ภายในปี 63 ด้านโบรกฯ คาดปี 60- 61 ผลงานโดดเด่น รับรู้โซลาร์ฟาร์มในประเทศที่มีกำไรสูง ให้เป้าปี 60 ที่ 12.4 บ. หรือจะเล่น BCP ก็คุ้มเพราะได้ลูกช่วยหนุน

วันนี้ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG บริษัทย่อยของ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ BCP จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เป็นวันแรก ในกลุ่มอุตสาหกรรมทรัพยากร หมวดธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด และธนาคาร ทิสโก้ จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และมีบริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย

*** ตลท.รับ BCPG เข้าซื้อขายวันแรก
ดร. สันติ กีระนันทน์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เปิดเผยว่า ตลท.รับหุ้น BCPG เข้าซื้อขายในตลาดเป็นวันแรก 28 ก.ย.นี้ โดย BCPG ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รวมถึงลงทุนในบริษัทที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นรวม 324 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ BCPG เป็นบริษัทย่อยของ บมจ. บางจากปิโตรเลียม (BCP) ที่เกิดจากการปรับโครงสร้างโดยแยกกลุ่มธุรกิจไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนออกมา เพื่อรองรับการขยายธุรกิจไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในอนาคตของกลุ่ม BCP โดย BCP เห็นถึงโอกาสการเติบโตของธุรกิจ จึงนำ BCPG เข้าจดทะเบียน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน และเพิ่มขีดความสามารถในการขยายธุรกิจในระยะยาวของ BCPG และสร้างมูลค่าเพิ่มแก่กลุ่ม BCP
BCPG มีทุนชำระแล้ว 9,950 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 5 บาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญเดิม 1,400 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเพิ่มทุน 590 ล้านหุ้น โดยจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนต่อผู้ถือหุ้นของ BCP เฉพาะกลุ่มที่มีสิทธิได้รับจัดสรรหุ้น 55.91 ล้านหุ้น เมื่อวันที่ 14-16 กันยายน 2559 และจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนต่อบุคคลทั่วไป นักลงทุนสถาบัน และผู้มีอุปการคุณของ BCPG 534.09 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 10 บาท เมื่อวันที่ 16 และ 19-20 กันยายน 2559 มีมูลค่าระดมทุนรวม 5,900 ล้านบาท มูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 19,900 ล้านบาท

*** BCP ถือหุ้นใหญ่ 70.4%
หลัง IPO BCPG มีผู้ถือหุ้นใหญ่ 3 ลำดับแรก ได้แก่ บมจ. บางจากปิโตรเลียม (BCP) ถือหุ้น 70.4% กลุ่มตระกูล วชิรพงศ์ ถือหุ้นรวม 1.4% และนายอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ถือหุ้น 1.0% การกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO มาจากการสำรวจความต้องการซื้อหลักทรัพย์ของนักลงทุนสถาบัน (Book building) โดยราคาเสนอขายหุ้น IPO อยู่ที่ 10 บาทต่อหุ้น คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E ratio) ที่ 10.55 เท่า โดยคำนวณจากผลประกอบการ 4 ไตรมาสล่าสุด (1 กรกฎาคม 2558-30 มิถุนายน 2559) หารด้วยจำนวนหุ้นทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นครั้งนี้ (fully diluted) คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้นเท่ากับ 0.95 บาท ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิของงบการเงินเฉพาะกิจการของบริษัท หลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินสำรองตามที่กฎหมายกำหนด

*** ตั้งเป้ามีกำลังการผลิต 1,000 MW ภายในปี 63
นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG เปิดเผยว่า บริษัทฯ จะนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้น IPO ในครั้งนี้ ไปลงทุนขยายธุรกิจไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งในและต่างประเทศ โดย BCPG มีเป้าหมายขยายธุรกิจโรงไฟฟ้าในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ โรงไฟฟ้าพลังงานลม โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ โรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ ด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อก้าวสู่เป้าหมายมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งเพิ่มเป็น 1,000 MW ภายในปี 2563
โดยแผนดำเนินงานนั้น BCPG มีศักยภาพพร้อมรุกขยายโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบการประมูลหรือยื่นขออนุญาตขายไฟฟ้า เพื่อพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเองหรือเข้าซื้อ/ควบรวมกิจการ ในโครงการผลิตไฟฟ้าที่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วหรือที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างหรืออยู่ระหว่างการพัฒนา โดยมุ่งเน้นการลงทุนแบบพอร์ตโฟลิโอมากกว่าการเข้าลงทุนในรูปแบบการซื้อสินทรัพย์ที่เป็นโรงไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่าและช่วยสนับสนุนผลการดำเนินงานธุรกิจไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของ BCPG ให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน
“เรามีเป้าหมายลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในประเทศต่าง ๆ โดยไม่จำกัดเฉพาะประเทศในแถบเอเชียเหนือและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น แต่ยังศึกษาโอกาสเข้าลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในทวีปต่าง ๆ ซึ่งในการตัดสินใจแต่ละโครงการนั้น จะเลือกลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าโดยพิจารณาจากประเภทเชื้อเพลิงที่เหมาะสมกับประเทศนั้น ๆ ควบคู่กับการพิจารณาผลตอบแทนจากการลงทุนที่คุ้มค่าอีกด้วย” นายบัณฑิต กล่าว

*** กำไร Q2/59 ทรุดอยู่ที่ 459 ลบ. จาก Q2/58 ที่ทำได้ 563 ลบ.
ล่าสุด BCPG แจ้งงบไตรมาส 2/59 มีกำไรสุทธิ 459.45 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 2/58 ที่มีกำไรสุทธิ 563.40 ล้านบาท
ส่วนงวด 6 เดือนแรกปีนี้ มีกำไรสุทธิ 849.68 ล้านบาท ลดลงจากงวด 6 เดือนแรกปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 1,110 ล้านบาท

*** คาดปี 60-61 เติบโตสูง รับรู้โซลาร์ฟาร์มในประเทศ ให้เป้า 12.4 บ.
บล.ทิสโก้ ได้ประเมินทิศทางของ BCPG ว่า ประกอบธุรกิจโซลาร์ฟาร์มขนาด 118 MW ภายในประเทศภายใต้สัญญา PPA โดยมี Adder 8 บาท/kwh โดยได้เริ่ม CoD มาแล้ว 3 เฟสในช่วงปี 2554-57 โดยที่มี EBITDA/MW เพิ่มขึ้นจาก 19 ล้านบาท ในเฟสที่ 1, 25 ล้านบาท ในเฟสที่ 2 และ 27 ล้านบาท ในเฟสที่ 3 เป็นไปตามต้นทุนการลงทุนที่ลดลง และ BCPG ได้ชนะการประมูล PPA 12 MW ภายใต้โครงการโซล่าฟาร์มสหกรณ์ คาดว่าจะเริ่ม CoD ในช่วง Q1/60 โดยเราคาด EBITDA/MW อยู่ที่ 6.3 บาท และเราคาด EBITDA จากการดำเนินงานในปี 2559 ที่ 2.7 พันล้านบาท สำหรับโครงการนี้ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.9 พันล้านบาทในปี 2560-61F
โดยBCPG ได้เข้าซื้อกิจการโซลาร์ฟาร์มของ SunEdison’s ในช่วง Q1/59 โดยมี PPA 164.1 MW โดยได้รับเงินจากการเชื่อมต่อระบบที่ 104 บาท/MW และบริษัทได้รับสัญญาขายไฟเพิ่ม 30 MW PPA ทำให้รวมแล้วมี 194 MW โดย 19.5 MW ได้เปิด CoD ภายในปีนี้ และ 59.5 MW ในปี 2560-61F (ได้รับการเชื่อมต่อแล้ว และ 38 MW ยังไม่ได้รับการเชื่อมต่อระบบ) โดยประมาณการของเรายังไม่ได้รวมกำลังการผลิต 77.1 MW ที่ยังอยู่ระหว่างกระบวนการ
สำหรับโครงการโซล่าฟาร์มในญี่ปุ่น เราคาด EBITDA/MW ไว้ที่ 10-12 ล้านบาท โดยมี EBT ที่ 4-5 ล้าน และ RoE 22-25% (สำหรับ D/E ที่ 85:15) โดยเราคาดว่า EBITDA ของธุรกิจในญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้นจาก 206 ล้านบาท เป็น 1,351 ล้านบาทในปี 2561F และสำหรับปี 2559 ค่าใช้จ่ายในการซื้อกิจการและค่าที่ปรึกษาจะทำให้ EBITDA ลดลง 11% เป็น 2.5 พันล้านบาท ก่อนจะขึ้นเป็น 3.4 และ 3.8 พันล้านบาทในปี 2560-2561F ตามลำดับ และกำไรจากการดำเนินงานจะเพิ่มขึ้นจากลดลง 18% ในปีนี้เป็นโต 23% และ 8% ในปี 2560-2561F
BCPG จะออกหุ้นใหม่ 590 ล้านหุ้น ที่พาร์ 5 บาท ทำให้มีจำนวนหุ้นทั้งสิ้น 1,990 ล้านหุ้น และการถือหุ้นของ BCP จะลดลงเป็น 70.4% หลังการ IPO โดยมูลค่าที่เหมาะสม ณ สิ้นปี 2560 เราให้ที่ 12.4 บาท คำนวณจากวิธี DCF-SOTP โดยรวมทั้งโครงการในไทย 130 MW และโครงการที่ญี่ปุ่น 117 MW และอีก 77.1 MW ที่ญี่ปุ่นจะรวมเข้ามาในประมาณการหลังจากที่เชื่อมต่อระบบแล้ว โดยทุก 20 MW ที่เพิ่มขึ้นจะทำให้มูลค่าที่เหมาะสมเพิ่มขึ้น 0.23 บาท และเราคาดอัตราการจ่ายเงินปันผลที่ 60-70% ของกำไร

*** บล.เมย์แบงก์ฯ แนะเก็งกำไร BCP เหตุได้ประโยชน์จาก BCPG เต็มที่
บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง เปิดเผยในบทวิเคราะห์ว่า แนะนำให้เก็งกำไร BCP ให้ราคาเหมาะสม 39.00 บาท เนื่องจาก ราคาหุ้นมี Sentiment บวก เนื่องจากบริษัทลูกคือ BCPG จะ IPO และเข้าซื้อขายในตลท.วันที่ 28 ก.ย. โดย BCP ถือหุ้นใน BCPG หลัง IPO สัดส่วน 70%
ทั้งนี้หากอิงราคา IPO ที่ 10.00 บาท จะได้ Market Cap ของ BCPG ที่ 1.99 หมื่นล้านบาท และอิงราคาเป้าหมายที่ 11.60 บาท จะได้ Market Cap ของ BCPG ที่ 2.3 หมื่นล้านบาท เทียบเท่าราว 50% เมื่อเทียบกับ Market Cap ของ BCP ที่ 4.4 หมื่นล้านบาท จึงเชื่อว่ามีโอกาสที่หุ้น BCP จะ Re-Rating ได้ในแง่ Valuation
นอกจากนี้ Valuation ถูก ซื้อขายระดับ PBV2559 ที่ 1.1 เท่า และ PER2559 ที่ 9.2 เท่า และให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลในเกณฑ์ดีราว 5% ต่อปี

*** mai เผยมีไอพีโอเตรียมเข้าเทรดในช่วงที่เหลือของปีนี้อีก 6 บริษัท
นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เปิดเผยว่า ในปีนี้ได้มีบริษัทจดทะเบียนเข้าใหม่ใน mai แล้ว 9 บริษัท และที่อยู่ในขั้นตอนการขอพิจารณารับหลักทรัพย์แล้วเตรียมเข้าจดทะเบียน 6 บริษัท ขณะเดียวกัน ในช่วงที่เหลือของปี คาดว่าจะมีการยื่นขอเข้าจดทะเบียนอีก 5-10 บริษัท
“แนวโน้มของธุรกิจในประเทศไทยในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจมีการเติบโตและมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น โดยบริษัทจดทะเบียนเข้าใหม่ใน mai มีค่ากลาง (median) ของทุนชำระแล้วอยู่ที่ 175 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เกินกว่า 100 ล้านบาท มีเพียงรายเดียวที่มีขนาด 65 ล้านบาท ขณะเดียวกัน บริษัทส่วนใหญ่มีกำไรสุทธิ” นายประพันธ์กล่าวเพิ่มเติม “นอกจากนี้ ในปี 2560 คาดว่าจะมีบริษัทยื่นขอเข้าจดทะเบียนประมาณ 15-20 บริษัท ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ mai จะทำงานร่วมกับบริษัทเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อว่าในภาพรวม เกณฑ์รับหลักทรัพย์ใหม่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ต้นปี 2560 จะไม่เป็นอุปสรรคต่อบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนใน mai”

 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com