April 19, 2024   9:04:00 PM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > หุ้นโรงไฟฟ้าแห่ขยายลงทุน
 

thaihoon
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 14,583
วันที่: 28/07/2016 @ 08:37:18
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

หุ้นโรงไฟฟ้าแห่ขยายการลงทุน นำโดย GPSC เจรจาพันธมิตรเข้าลงทุนโรงไฟฟ้าในเมียนมา-ลาว-อินโดฯ ส่วน RATCH เจรจากับพันธมิตรเข้าลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าโมโนเรล สายสีชมพู และสีเหลือง แถมศึกษาแผนขยายธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ ขณะที่ NNCL ศึกษาแผนเปิดโรงไฟฟ้านวนครเฟส 2 ด้าน"BRR"เตรียมจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน มูลค่า 3.6 พันลบ.เตรียมยื่นไฟลิ่ง ก.ล.ต.เร็วๆนี้

*** GPSC เจรจาพันธมิตรเข้าลงทุนโรงไฟฟ้าในเมียนมา-ลาว-อินโดฯ
นายเติมชัย บุนนาค กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือGPSCเปิดเผยว่า บริษัทฯ เชื่อมั่นรายได้ปี 59 มากกว่าปี 58 จากกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 1,400 MW มากกว่าปีก่อนที่ 1,300 MW ล่าสุดอยู่ระหว่างเจรจาพันธมิตรเข้าลงทุนโรงไฟฟ้าในเมียนมา ลาว และอินโดนีเซีย พร้อมกับเดินหน้าลุยลงทุน 7 โครงการ ดันกำลังการผลิตไฟฟ้าแตะ 1,900 MW ภายในปี 2562 ตามเป้า
ปีนี้ได้รับรู้รายได้จากโครงการนวนคร เฟส 1 ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับอีก 2 บริษัท กำลังการผลิต 125 เมกะวัตต์ที่เริมจ่ายไฟแล้วตั้งแต่เดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา บริษัทฯ มีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ 30% และโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะสามารถสร้างรายได้แบบเต็มปีอยู่ที่ 3,200 ล้านบาท นอกจากนี้จะรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้า ไออาร์พีซี คลีน พาวเวอร์ ที่จะเป็นการรับรู้รายได้แบบเต็มปี

*** RATCH เจรจากับพันธมิตรเพื่อลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าโมโนเรล สายสีชมพู และสีเหลือง
นายรัมย์ เหราบัตย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทฯ ได้อยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรเพื่อลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าโมโนเรล สายสีชมพู และสีเหลือง ซึ่งบริษัทฯเข้าซื้อซองประมูลช่วงที่ผ่านมา โดยมีแผนจะลงทุนทั้งการก่อสร้างและบริหารจัดการเดินรถด้วย ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนการขยายธุรกิจใหม่ด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้่นฐานเพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับบริษัทฯ ในอนาคต
บริษัทฯ มีความพร้อมด้านฐานะการเงิน โดยมีเงินพร้อมลงทุนปีละ 6-7 พันล้านบาท แต่ยังต้องหาพันธมิตรที่เชี่ยวชาญมาช่วยสนับสนุนด้วย ในเดือน ต.ค. นี้ บริษัทฯ จะนำเสนอแผนธุรกิจที่จะขยายธุรกิจใหม่มากขึ้น เช่น ด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้่นฐาน และโครงสร้างพื้นฐาน โดยอยู่ระหว่างการศึกษาการลงทุนในธุรกิจประปา รวมถึงธุรกิจต้นน้ำ ปลายน้ำ ด้านพลังงาน เช่น แบตเตอรี่ที่สามารถเก็บไฟฟ้าได้ รวมถึงเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้าต่าง ๆ เพราะในปัจจุบันธุรกิจไฟฟ้าถือว่าเริ่มชะลอการเติบโต ดังนั้น จึงต้องพยายามหาธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาเสริมในอนาคต
สำหรับโครงการร่วมทุนโรงผลิตโรงไฟฟ้านวนคร ของบริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน)หรือ NNCLกับบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH และบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC โครงการแรกได้มีการขายไฟฟ้าแล้วเมื่อต้นเดือน มิ.ย. ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อเปิดโครงการเฟส 2 ในลักษณะระบบผลิตพลังงานร่วมแบบ โคเจนเนอเรชั่น

*** NNCL มั่นใจปีนี้พลิกมีกำไร-ศึกษาเปิดโรงไฟฟ้านวนครเฟส 2
นายนิพิฐ อรุณวงษ์ ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) หรือ NNCLเปิดเผยว่า คาดว่าจะพลิกกลับมามีกำไร หลังจากปีก่อนขาดทุน 143.87 ล้านบาท ส่วนรายได้คาดเติบโต 20% จากปีก่อนที่มีรายได้ 1,122.90 ล้านบาท เนื่องจากธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในปีนี้เติบโตมาก โดยมีลูกค้าเก่าเข้าซื้อที่ดินเพื่อขยายพื้นที่โรงงานเพิ่ม เช่น ธุรกิจอาหารฟาสท์ฟู้ด และธุรกิจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ส่วนลูกค้าใหม่เริ่มเข้ามามากขึ้น เช่น บริษัทผลิตอาหาร เข้าซื้อที่ดินประมาณ 60 ไร่ ธุรกิจยาง 11 ไร่ และสถาบันวิจัยและพัฒนา 11 ไร่
นอกจากนี้ ได้ชะลอแผนขยายนิคมอุตสาหกรรมแห่งที่ 3 บริเวณพื้่นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจยังไม่แน่นอนสูง
ปัจจุบัน บริษัทฯ มีที่ดินนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมด 8,700 ไร่ แบ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ปทุมธานี 6,700 ไร่ ซึ่งมีพื้นที่เหลือขายทำโรงงาน 400 ไร่ และอีก 100 ไร่จะทำเป็นพื้นที่การค้า ส่วนนิคมอุตสาหกรรมนวนคร จังหวัดนครราชสีมา มีพื้นที่ 2,000 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่เหลือขายทำโรงงาน 600-800 ไร่ และจะทำเป็นพื้นที่การค้า 130 ไร่
บริษัทฯ อยู่ระหว่างการเจรจากับภาครัฐขอให้ขยายสถานีรถไฟชานเมืองสายสีแดง เพิ่มอีก 1 สถานี เพื่อให้ถึงพื้่นที่่นิคมอุตสาหกรรมนวนคร ปทุมธานี คาดว่าจะช่วยเพิ่มจำนวนผู้โดยสารมากขึ้น รวมถึงบริษัทฯ มีแผนทำคอมมูนิตี้ มอลล์ ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษา การร่วมทุนโครงการโรงผลิตโรงไฟฟ้านวนครกับบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH และบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSCโครงการแรกได้มีการขายไฟฟ้าแล้วเมื่อต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา
ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อเปิดโครงการเฟส2 ในลักษณะระบบผลิตพลังงานร่วมแบบ โคเจนเนอเรชั่น ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมนวนคร จ.ปทุมธานี เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าในนิคมฯ มีประมาณ 400 เมกะวัตต์ ซึ่งโรงไฟฟ้านวนครเฟส 1 มีกำลังการผลิตเพียง 125 เมกะวัตต์ และจ่ายไฟให้กับนิคมฯ 35 เมกะวัตต์เท่านั้น ส่วนโครงการเฟส 2 เบื้องต้นคาดว่าจะมีกำลังการผลิตประมาณ 60 เมกะวัตต์ ซึ่งจะจ่ายไฟให้กับนิคมฯ ทั้่งหมด ทั้งนี้ คาดเริ่มก่อสร้างได้ในปี 60

*** BRR จะตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน มูลค่า 3.6 พันลบ.
บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR แจ้งว่า คณะกรรมการบริษัทฯ วานนี้ มีมติอนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ขณะนี้อยู่ระหว่างขออนุญาตกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ( ก.ล.ต.) มูลค่ากองทุนไม่ต่ำกว่า 3.6 พันล้านบาท โดย BRR จะจองซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนไม่เกินหนึ่งในสาม หรือประมาณ 33.33%
โดยกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว จะจำหน่ายสิทธิในรายได้สุทธิจากการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าของบริษัทย่อยของบริษัทฯ ได้แก่ บริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จำกัด (BEC)และบริษัท บุรีรัมย์เพาเวอร์ จำกัด(BPC)เป็นระยะเวลาไม่เกิน 19 ปี ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการระดมทุนจำนวนประมาณ 3,600 ล้านบาท
ทั้งนี้ BEC มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟภ. จำนวน 8 เมกะวัตต์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการยื่นปรับเปลี่ยนสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเป็นรูปแบบ FiT Freed-in Tariff (FiT) ที่กำหนดราคาซื้อขายไฟฟ้าอยู่หน่วยละ 4.54 บาทต่อหน่วย ส่วน BPC มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า กับ กฟภ. จำนวน 8 เมกะวัตต์ ในรูปแบบ FiT เช่นกัน
บริษัทฯ จะขอมติอนุมัติจากผู้ถือหุ้น โดยจะจัดการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2559 ในวันที่ 8 กันยายน 2559 วันที่ไม่ได้รับสิทธิเข้าประชุม 9 ส.ค. 2559 และจะนำเงินทุนที่ได้รับไปลงทุนก่อสร้างโรงงานน้ำตาลทรายแห่งใหม่จำนวน 2 โรง ที่อำเภอชำนิ จังหวัดบุรีรัมย์ และ ที่อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ กำลังการผลิตหีบอ้อยโรงงานละ 2 หมื่นตันอ้อย/วัน/โรง
ด้านนายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บล. เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้าของกลุ่ม บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ ในครั้งนี้ คาดว่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก เนื่องจากสภาวะตลาดที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเช่นนี้ โดยผู้ลงทุนจะได้รับประโยชน์ภาษีของกองทุนตามประเภท เช่น นักลงทุนบุคคลจะได้รับผลตอบแทนเต็มที่โดยยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่ายถึง 10ปี ตามสภาวะปัจจุบัน


 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com