March 29, 2024   12:59:43 PM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > หุ้นสื่อสารกำไรโค้งแรกทรุดยกแผง
 

thaihoon
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 14,583
วันที่: 16/05/2016 @ 08:40:57
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

กลุ่มสื่อผลงานโค้งแรกปี 59 ทรุดยกแผง ADVANC - DTAC กำไรหด 18% และ 45% ตามลำดับ ส่วน TRUE เผยมีกำไร 1.96 พันลบ. เพราะรวมมูลค่าของ DIF แต่หากคิดจากการดำเนินงานยังขาดทุน 1.44 พันลบ. ด้านโบรกฯ ห่วงช่วงที่เหลือของปียังไม่น่าไว้ใจ เหตุยังมีปัญหาเรื่องการแข่งขันที่ดุเดือด ส่วน ADVANC แบกต้นทุนประมูลคลื่น 900MHz ด้าน DTAC มีปัญหาระยะยาวหากคลื่น 1,800 MHz หมดสัมปทาน

หุ้นกลุ่มสื่อสาร 3 บริษัทสำคัญอย่าง บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือADVANC , บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE โดย ADVANC - DTAC ประกาศชัดเจนว่ากำไรลดลงทั้งจากประเด็นปัญหาการโอนย้ายลูกค้าจาก 2G เป็น 3G ของ ADVANC หรือผลการดำเนินงานที่ชะลอตัว
ขณะที่ทาง TRUE แม้จะประกาศผลประกอบการออกมาหลังสุดว่ามีกำไรสุทธิ 1,968.02 ล้านบาท แต่หากไม่รวมการปรับมูลค่ากำไรจากการโอนเสาโทรคมนาคมใหม่เข้ากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล (DIF) ยังถือว่าขาดทุนจากการดำเนินงาน 1,440 ล้านบาท

*** TRUE ประกาศงบเจ้าสุดท้าย ยังขาดทุนจากการดำเนินงาน 1.44 พันลบ.
บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE แจ้งผลการดำเนินงานไตรมาส 1/59 มีกำไรสุทธิ 1,968.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,569.42 ล้านบาท จากการปรับมูลค่า DIF ขณะที่ขาดทุนจากการดำเนินงาน 1,440ล้านบาท
โดยรายได้จากการให้บริการโดยรวมของกลุ่มทรูเพิ่มขึ้นอย่างสูงถึงร้อยละ 15.6 จากไตรมาสเดียวกันในปีก่อนหน้า เป็น 20.8 พันล้านบาท ในไตรมาส 1 ปี 2559 จากการเติบโตอย่างต่อเนื่องในทั้ง 3 ธุรกิจหลัก โดยเฉพาะธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เติบโตโดดเด่นทั้งในกลุ่มผู้ใช้บริการระบบรายเดือนและเติมเงิน ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งของรายได้ ส่งผลให้ EBITDA เติบโตร้อยละ 15.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้าเป็น 5.7 พันล้านบาท ซึ่งไม่รวมกำไรจากการโอนเสาโทรคมนาคมใหม่เข้ากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล (DIF) ในปี 2558 เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบผลการดำเนินงานได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
ทั้งนี้กลุ่มทรู มีผลกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทฯ จำนวน 1,968 ล้านบาท ในไตรมาส 1 ปี 2559 ปรับตัวดีขึ้นจากผลกำไรจำนวน 1,569 ล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนหน้า อันเป็นผลจากการเติบโตของรายได้ และการรับรู้มูลค่าเงินลงทุนใน DIF โดยที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก SCBAM ได้มีการประเมินมูลค่าทรัพย์สินของกองทุน DIF ตามรอบระยะเวลา ด้วยมูลค่ายุติธรรม (Fair Value) ตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งพบว่ากองทุน DIF มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ กลุ่มทรู ซึ่งถือหน่วยลงทุนอยู่ร้อยละ 28 สามารถรับรู้มูลค่าเพิ่มนี้เป็นจำนวน 2.9 พันล้านบาท ในไตรมาส 1 ปี 2559
อย่างไรก็ตามหากตัดการบันทึกมูลค่า DIF ออกไป TRUE มีผลขาดทุนจากการดำเนินงานปกติ 1,440 ล้านบาท

*** ADVANC กำไรลดลง 18% แต่ยังคงนโยบายจ่ายปันผล 100%
บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือADVANC รายงานผลประกอบการงวดไตรมาส 1/59 ว่ามีกำไรสุทธิ 8,072 ล้านบาท ลดลง 18% จากไตรมาส 1/58 มีกำไรสุทธิ 9,896 ล้านบาท และ 25% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน
โดยมีรายได้รวม(ไม่รวมค่าก่อสร้าง) อยู่ที่ 37,252 ล้านบาท ลดลง 8.2% เมื่อเทียบงวดเดียวกันปีก่อน สาเหตุหลักมาจากแคมเปญอุดหนุนเครื่องโทรศัพท์ที่ส่งผลให้รายได้จากการขายโทรศัพท์ปกติลดลง และยังส่งผลให้EBITDA มาอยู่ที่ 13,415 ล้านบาท ลดลง 26% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันปีก่อน
ทั้งนี้บริษัทมีลูกค้ารวมทั้งสิ้น 38.9 ล้านเลขหมาย โดยเลขหมายเติมเงินเพิ่มขึ้น 459,000 เลขหมาย ผลจากทำแคมเปญอุดหนุนค่าเครื่องโทรศัพท์ที่มีกลุ่มลูกค้าหลักเป็นลูกค้าระบบเติมเงิน ส่วนรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายต่อเดือน(ARPU) ของลูกค้าเติมเงินค่อนข้างคงที่ที่ระดับ 194 บาท
ขณะที่เลขหมายแบบรายเดือนลดลง 18,800 เลขหมาย เป็นผลจากช่องทางจัดจำหน่ายที่ต้องทำการโอนย้ายลูกค้า 2Gเป็นหลัก ทำให้ยอดลูกค้าใหม่บนระบบรายเดือนลดลง
โดยบริษัทยังคงคาดว่าอัตรา EBITDA margin รวมในปีนี้จะอยู่ที่ 37-38% และคงนโยบายจ่ายเงินปันผล 100% ของกำไรสุทธิ

*** โบรกฯ มองครึ่งปีหลังน่าห่วง เพราะยังมีต้นทุนใช้คลื่นเพิ่ม ปรับลดกำไรปี 60-61 ลง
บล.เอเซียพลัสเปิดเผยว่า กำไรช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะครึ่งปีหลังที่ต้องมีต้นทุนค่าใช้คลื่นเพิ่มขึ้นในส่วนคลื่น 900 MHz ที่เชื่อว่า ADVANC จะประมูลกลับมาได้ ทั้งนี้ แม้จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากประมาณการ แต่การได้ 900 MHz มีข้อดี คือ ช่วยน่าจะรักษาลูกค้าที่ใช้งานอยู่เกือบทั้งหมด (ดีกว่าที่คาดว่าจะเสีย 3.5 ล้านราย กรณีไม่มี 900 MHz) และประหยัดต้นทุนค่าใช้สัญญาณ 2G กับ DTAC (ดีกว่าสมมติฐาน) ขณะที่ระยะยาวช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน คงประมาณการปีนี้ แต่ปรับลดกำไรตั้งแต่ปี 2560 จากต้นทุนคลื่น 900 MHz
ภายใต้สมมติฐานที่ ADVANC ชนะประมูลคลื่น 900 MHz ที่ 76,414 ล้านบาท แต่ปีนี้รับรู้ต้นทุนค่าตัดจำหน่ายคลื่นยังไม่เต็มปี ขณะที่ยังมีส่วนชดเชยจากที่กล่าวถึงข้างต้น จึงยังคงประมาณการกำไรสุทธิปีนี้ แต่ปรับลดกำไรปี 2560-61 ลงปีละ 9.1% เพื่อสะท้อนภาระต้นทุนคลื่นที่จะเข้ามาเต็มปี ภายใต้ประมาณการใหม่ คาดว่ากำไรปีนี้ที่ 3.05 หมื่นล้านบาท ลดลง 22% และทรงตัวในปีถัดๆไป

*** รวมราคาพื้นฐาน ADVANC ล่าสุดหลังประกาศงบโค้งแรก
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทยได้รวบรวมราคาพื้นฐานของ ADVANC ของแต่บริษัทหลักทรัพย์หลังจากที่ประกาศผลประกอบการในไตรมาสแรกปีนี้ออกมา ดังนี้
โบรก คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย
บล.เคจีไอ ซื้อ 203
บล.ดีบีเอสวิเคอร์ส ซื้อ 180
บล.ทรีนีตี้ ซื้อเก็งกำไร 191
บล.เคทีบี ถือ 185
บล.โกลเบล็ก ถือ 178
บล.ซีไอเอ็มบี ซื้อ 184
บล.ทิสโก้ ซื้อ 210
บล.เอเซียพลัส ซื้อ 189
บล.คันทรี่กรุ๊ป ถือ 188
บล.ฟินันเซียไซรัส ซื้อ 180
บล.ธนชาต ถือ 165
บล.ฟิลลิป ซื้อเก็งกำไร 166
บล.เมแบงก์กิมเอ็ง ถือ 190
บล.กสิกร Outperform market 205
บล.เคเคเทรด ซื้อ 184

*** DTAC กำไรวูบ 45% เหลือ 1.2 พันลบ. แต่ยังคงเป้ารายได้ - เงินลงทุนใกล้เคียงปีก่อน
บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC เปิดเผยว่า บริษัทฯมีกำไรสุทธิไตรมาส 1/59 ที่ 1,255.74 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.53 บาท ลดลง 45% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 2,292.15 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.97 บาท
โดยกำไรสุทธิลดลง 45% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนโดยเกิดจาก EBITDA ที่ลดลงและมีค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายและค่าใช้จ่ายทางการเงินที่สูงขึ้น อย่างไรก็ดี กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 26% จากไตรมาสก่อนเนื่องจากมี EBITDA เพิ่มขึ้นมากกว่าการเพิ่มขึ้นของค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย
อย่างไรก็ตามบริษัทฯ คงเป้าหมายรายได้จากการให้บริการไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (IC) ปีนี้อยู่ในระดับทรงตัวหรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2558 ที่ราว 6.62 หมื่นล้านบาท EBITDA margin อยู่ในช่วงประมาณ 27-31%
ขณะที่เงินลงทุน อยู่ในระดับเดียวกับปีที่แล้วที่ราว 20,000 ลบ.
ทั้งนี้บริษัทจะใช้แพ็คเกจค่าบริการและข้อเสนออุปกรณ์ที่น่าสนใจรวมทั้งรักษาตาแหน่งทางการตลาดของบริษัทในการนาเสนอความคุ้มค่าให้กับลูกค้า บริษัทมีเป้าหมายเพิ่มฐานลูกค้าผู้ใช้บริการ 4G เป็น 4.5 ล้านเลขหมายภายในสิ้นปี 2559 จากปัจจุบัน 2.9 ล้านเลขหมาย เนื่องจากมีโครงข่าย 4G ที่มีคุณภาพสามารถแข่งขันได้และการนาเสนออุปกรณ์โทรศัพท์ 4G พร้อมแพ็คเกจที่น่าสนใจ

*** โบรกฯ มอง Q2/59 ยังทรุด ตามโปรลดค่าเครื่องรักษาฐานลูกค้า 4G
บล.คันทรี่กรุ๊ป ประเมินว่า ใน Q2/59 การแข่งขันในอุตสาหกรรมมือถือของไทยมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น หลังจากการออกโปรโมชั่นแจกเครื่องมือถือ 3G ฟรีของทางคู่แข่งอย่าง ADVANC เพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิม แต่ในส่วนของ DTAC จะเห็นได้ว่ายังไม่ได้ให้ส่วนลดค่าเครื่องมากนักในช่วง Q1/59 ดังนั้นคาดว่า ในช่วง Q2/59 บริษัทฯจะกลับมาออกโปรโมชั่นที่ให้ส่วนลดค่าเครื่องเพิ่มมากขึ้นเพื่อรักษาฐานลูกค้า รวมทั้งเร่งลงทุนขยายโครงข่าย 4G ผ่านทั้งทางคลื่น 1800 MHz (15 MHz) และคลื่น 2100 MHz (5 MHz) เพื่อที่จะให้มี 4G ครอบคลุมทุกอำเภอภายใน Q3/59 ตามแผนที่ตั้งไว้ ทำให้ต้นทุนค่าเสื่อมราคาในช่วง Q2/59 มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น QoQ และกดดันในกำไรปกติ Q259 มีแนวโน้มอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าอย่างแน่นอน
เนื่องจากคลื่นความถี่ส่วนใหญ่ (850MHz+1800MHz) จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในช่วง ก.ย. ปี 2561 ทำให้ในระยะกลาง (3 ปีข้างหน้า) บริษัทฯมีความเสี่ยงที่จะต้องลงทุนขนาดใหญ่ผ่านการประมูลคลื่นความถี่ใหม่ ขณะที่ในระยะสั้น (1-2 ปีข้างหน้า) เรากังวลในแง่ของการแข่งขันที่อาจจะรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงฉพาะตัวอีก ได้แก่ 1.) ต้นทุนค่าเสื่อมราคาที่เพิ่มขึ้น จากการลงทุนบนคลื่นที่อยู่ภายใต้สัมปทานเดิม ทำให้ต้องตัดค่าเสื่อมเพิ่มมากขึ้น และต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ในอัตราที่สูงถึง 30% 2.) ค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่มีโอกาสเพิ่มสูงกว่าที่คาด หากการแข่งขันในอุตสาหกรรมรุนแรง ดังนั้นในเบื้องต้นเราคาดว่ากำไรปี 59 จะชะลอตัวลง 55%YoY มาอยู่ที่ 2.76 พันลบ. (EPS 1.17 บาท) และจากนโยบายอัตราการจ่ายเงินปันผลคาดว่าจะลดลงเหลือ 50% ของกำไร ทำให้อัตราเงินปันผลจ่ายสำหรับปี 59 เหลือเพียง 2% ต่อปี

*** รวมราคาพื้นฐาน DTAC หลังเห็นงบ Q1/59
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทยได้รวบรวมราคาพื้นฐานของ ADVANC ของแต่บริษัทหลักทรัพย์หลังจากที่ประกาศผลประกอบการในไตรมาสแรกปีนี้ออกมา ดังนี้
โบรก คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย
บล.ดีบีเอสวิเคอร์ส ถือ 40
บล.เคจีไอ ซื้อ 34
บล.ซีไอเอ็มบี ซื้อ 41
บล.เมแบงก์กิมเอ็ง ขาย 28.66
บล.ทรีนีตี้ ซื้อเก็งกำไร 38.64
บล.โกลเบล็ก ซื้อ 40
บล.คันทรีกรุ๊ป ถือ 40
บล.บัวหลวง ถือ 31.50
บล.ทิสโก้ ซื้อ 70
บล.เคทีบี ถือ 37.50
บล.ฟินันเซียไซรัส ขาย 30
บล.เอเซียพลัส ถือ 37

 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com