March 29, 2024   7:28:58 PM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > แบงก์ Q1/59 ฟันกำไร 4.9 หมื่นลบ.
 

thaihoon
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 14,583
วันที่: 22/04/2016 @ 08:18:22
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

กลุ่มแบงก์ฟันกำไร Q1/59 ระดับ 4.9 หมื่นลบ. ลดลง 6% จากช่วงเดียวกันปี 58 ที่กำไรทะลุ 5.24 หมื่นลบ. พบแบงก์ใหญ่อย่าง KBANK -BBL - KTB กำไรวูบกันถ้วนหน้า ฟาก SCB ยังไม่ประกาศ แต่โบรกฯคาดกำไรวูบหนัก 11% เหตุต้องตั้งสำรองเพิ่มรับความเสี่ยงศก.ไม่แน่นอน ขณะที่ CIMBT เป็นแบงก์กำไรโตดีสุดกว่า 150% หลังขยายสินเชื่อ - ค่าใช้จ่ายดบ.ลดลง ส่วน 3 แบงก์ไฟแนนซ์ TCAP-TISCO - KKP ดี๊ด๊า หลังคุม NPL เข้ม ช่วยดันกำไรโต


ธนาคารพาณิชย์ประกาศผลประกอบการงวดไตรมาส 1/2559 ออกมาครบถ้วน โดยไตรมาสนี้มีผลประกอบการรวมอย่างไม่เป็นทางการ 49,056.42 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปี 2558 ที่มีกำไรรวม 52,499.52 ล้านบาท หรือ -6.56% โดยธนาคารขนาดใหญ่อย่าง KBANK -BBL กำไรลดลงกันถ้วนหน้า จากการตั้งสำรองหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน ขณะที่ CIMBT เป็นแบงก์ที่กำไรเติบโตโดดเด่นสุดในไตรมาสนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 59 ส่วนแบงกลุ่มไฟแนนซ์ อย่าง TCAP-TISCO และ KKP กอดคอโชว์กำไรเติบโตอย่างน่าพอใจ หลังจากเดินหน้าคุม NPL อย่างเข้มงวด ด้าน SCB เป็นแบงก์เดียวที่ยังไม่ประกาศงบ แต่โบรกฯคาด กำไรวูบ 11%

*** KBANK กำไรทรุดเหลือ 9.64 พันลบ. จากกำไร 1.24 หมื่นลบ. เหตุสำรองหนี้สูญเพิ่ม
ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK แจ้งผลการดำเนินงานไตรมาส 1/59 กำไรสุทธิ 9,646.09 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 4.03 บาท ลดลงจากไตรมาส 1/58 ที่มีกำไรสุทธิ 12,401.33 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 5.18 บาท
กำไรสุทธิลดลง 22.22% ส่วนใหญ่เกิดจากธนาคารมีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับความไม่แน่นอนในเรื่องของภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัว
อย่างไรก็ตาม ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญและภาษีเงินได้จำนวน 24,958 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4,116 ล้านบาท หรือ 19.75% เนื่องจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 1,225 ล้านบาท หรือ 5.84% รวมถึงรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจำนวน 2,267 ล้านบาท หรือ 14.84% เป็นผลมาจากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ และ รายได้จากผลิตภัณฑ์ตลาดทุนที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ลดลง ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ระดับ 37.21%

*** BBL กำไรสุทธิ 8.31 พันลบ. ลดลงจาก 9.40 พันลบ. ใน Q1/58 ตาม ศก.ที่ยังชะลอตัว
ธนาคารกรุงเทพ (BBL) แจ้งผลการดำเนินงานไตรมาส 1/59 มีกำไรสุทธิ 8,317 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 1/58 ที่มีกำไรสุทธิ 9,406.90 ล้านบาท แต่เพิ่มขึ้นหากเทียบกับไตรมาส 4/58 ที่มีกำไรสุทธิ 7,681 ล้านบาท ตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจำนวน 16,034 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 417 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.7 รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจำนวน 10,672 ล้านบาท ลดลง 121 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.1 และค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานจำนวน 12,856 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 710 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.8 ขณะที่มี NPL อยู่ที่ร้อยละ 2.9
โดยในไตรมาส 1 ปี 2559 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐและการท่องเที่ยวที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนยังถูกกดดันจากรายได้เกษตรกรที่ตกต่ำ ประกอบกับปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลต่อปริมาณผลผลิต รวมทั้งหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ในส่วนของการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นในบางกลุ่มธุรกิจแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ
จากปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจดังกล่าวส่งผลให้ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2559 ธนาคารมี เงินให้สินเชื่อจำนวน 1,874,924 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,021 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.3 จากสิ้นปี 2558 โดยเติบโตจากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายกลางและรายปลีก และสินเชื่อกิจการธนาคารต่างประเทศ
ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2559 ธนาคารมีสินเชื่อด้อยคุณภาพจำนวน 61,841 ล้านบาท และมีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่ออยู่ที่ร้อยละ 2.9 และตั้งสำรองค่าใช้จ่ายหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ธนาคารมีเงินสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในระดับสูง ในไตรมาส 1 ปี 2559 ธนาคารมีค่าใช้จ่ายหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 3,644 ล้านบาท ส่งผลให้อัตราส่วนสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 5.8

*** CIMBT กำไรโตแรงสุด 150.6% รับสินเชื่อพุ่ง - NIM พุ่งแตะ 3.72%
นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือCIMBT เปิดเผยว่าธนาคารมีกำไรสุทธิในQ1/59 จำนวน 327.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 196.7 ล้านบาท หรือ 150.6% เมื่อเปรียบเทียบผลกำไรสุทธิของงวดเดียวกันปี 2558 สาเหตุหลักเกิดจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 24.9% และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ลดลง 1.5% สุทธิกับรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลง 18.3% และรายได้อื่นลดลง 7.8% นอกจากนี้สำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น 12.6% เพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นจากสภาวะเศรษฐกิจ
โดยรายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจากปี 2558 จำนวน 351.0 ล้านบาท หรือ 11.8% เป็นจำนวน 3,314.6 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 476.0 ล้านบาท หรือ 24.9% เป็นผลจากการขยายสินเชื่อและการลดลงของค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ขณะที่อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin – NIM) สำหรับงวดสามเดือนปี 2559 อยู่ที่ 3.72% เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันปี 2558 อยู่ที่ 2.95% เป็นผลจากการที่ธนาคารสามารถควบคุมต้นทุนเงินฝากที่ดีขึ้น
ด้านสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) อยู่ที่ 6.2 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้น (NPL ratio) อยู่ที่ 3.0% ลดลงเมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2558 อยู่ที่ 3.1% ด้านอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2559 อยู่ที่ 115.0% เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ 106.5% ตามนโยบายการตั้งสำรองอย่างระมัดระวัง

*** กลุ่มแบงก์ไฟแนนซ์ กำไรดีถ้วนหน้า - คุม NPL เข้ม
นางอรนุช อภิศักดิ์ศิริกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO เปิดเผยว่า กลุ่มทิสโก้ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2559 โดยมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน จำนวน 1,255 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ลดลงจากร้อยละ 3.23 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นร้อยละ 3.07 สะท้อนให้เห็นถึงการบริหารธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ ท่ามกลางความท้าทายของภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้า
“กลุ่มทิสโก้ยังคงรักษาผลประกอบการได้เป็นที่น่าพอใจในไตรมาสแรกของปี 2559 แม้ว่าการเติบโตจะเป็นไปได้ช้าตามภาวะเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัว ส่งผลให้สินเชื่อรวมของกลุ่มปรับตัวลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ด้านการตั้งสำรองในไตรมาส 1 ปี 2559 กลุ่มทิสโก้พิจารณาตั้งค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ตามนโยบายการตั้งสำรองอย่างระมัดระวังในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน” นางอรนุช กล่าว
นายสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TBANK ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2559 ว่าธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิในไตรมาส 1 ปี 2559 จำนวน 2,844 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.78% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 11.05% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2558 ขณะที่ NPL Ratio ลดลงเหลือ 2.70% BIS Ratio อยู่ที่ 18.22%
“ผลจากการที่ธนาคารธนชาตและบริษัทย่อยประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการ NPL และลด NPL Ratio ลงได้เหลือ 2.70% ส่งผลให้ไตรมาส 1 ที่ผ่านมาธนาคารและบริษัทย่อยมีค่าใช้จ่ายหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญจากการดำเนินงานปกติลดลง สนับสนุนให้กำไรเติบโตต่อเนื่องอีกหนึ่งไตรมาส " นายสมเจตน์ กล่าว
นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) หรือ KKP รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 1/59 ที่ 1,106 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/58 ที่มีกำไรสุทธิ 664 ล้านบาท
" ปริมาณหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารและบริษัทย่อยมีจำนวน 10,106 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.7 ของสินเชื่อรวม ลดลงจากร้อยละ 5.8 ณ สิ้นปี 2558 ในส่วนของสินเชื่อเช่าซื้อ สินเชื่อด้อยคุณภาพของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ยังคงมีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีการปรับลดลง 364 ล้านบาท จากสิ้นปี 2558 โดยอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.2 จากร้อยละ 2.4 ณ สิ้นปี 2558 จากมาตรการและการพัฒนากระบวนการภายในอย่างต่อเนื่อง " นายอภินันท์ กล่าว

*** ยังเหลือ SCB ฟากโบรกฯ คาดกำไรวูบ 11% เมื่อเทียบ Q1/58
บล.โนมูระพัฒนสิน ได้คาดการณ์ว่า SCB รายงานกําไรสุทธิไตรมาส 1/2559 ที่ 11,700 ล้านบาท ลดลง -11% YoY และ -0.8% QoQ โดยการลดลงของกํา เนื่องจากการตั้งสํารองที่สูงขึ้น แม้ในด้านคุณภาพสินทรัพย์จะดีขึ้น แต่ธนาคารต้องการเพิ่ม Coverage ratio จึงทําให้การตั้งสํารองอยู่ในระดับสูง หลังจากลดลงตั้งแต่ Q3/58 ที่ SSI กลายเป็น NPL จึงตั้งสํารองสูงกว่าระดับปกติ
สําหรับ Q2/59 คาดกําไรสุทธิจะกลับมาทรงตัว YOY จากรายได้ที่ยังเติบโตได้ มาชดเชยการตั้งสํารองที่สูงขึ้น

*** รวมงบกลุ่มแบงก์ประจำ Q1/59


ธนาคาร Q1/59 Q1/58 เปลี่ยนแปลง (%)
ลบ. ลบ.
BAY 5,150.23 4,325.98 19.05
BBL 8,317.18 9,406.9 -11.58
CIMBT 327.34 130.6 150.64
KBANK 9,646.09 1,2401.33 -22.22
KKP 1,106.58 664.09 66.63
KTB 7,539.86 7,928.81 -4.91
LHBANK 571.45 328.2 74.12
*SCB 11,700 13,152 -11.04
TBANK 1,350.5 1,331.5 1.43
TISCO 1,255.03 1,192.46 5.25
TMB 2,092.16 1,637.65 27.75
รวม 49,056.42 52,499.52 -6.56
* งบQ1/59 ของ SCB เป็นตัวเลขคาดการณ์จาก บล.โนมูระ พัฒนสิน เนื่องจากยังไม่ประกาศตัวเลขออกมาอย่างเป็นทางการ
ที่มา : สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com