April 17, 2024   2:09:46 AM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > แบงก์เศร้า!กำไรQ3ทรุด13.2%
 

thaihoon
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 14,583
วันที่: 02/10/2015 @ 08:23:33
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

โบรกฯคาดไตรมาส 3/58 กลุ่มแบงก์มีกำไร 4.65 หมื่นล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 13.2% และจากไตรมาสก่อนหน้า 8.6% หลังภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเล่นงาน แถมเจอพิษตั้งสำรองหนี้ SSI กดดัน มอง KBANK - BAY - TCAP เจ็บตัวน้อยสุด เพราะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ SSI แต่ SCB อาการหนัก คาดกำไรดิ่งหนักเกิน 20% ส่วน KTB โคม่าสุดกำไรอาจหายไปเกือบ 40%

ใกล้เข้าสู่ช่วงประกาศผลประกอบการไตรมาส 3/2558 (Q3/58) บริษัทหลักทรัพย์ชั้นนำของไทย เริ่มที่จะประเมินแนวโน้มของหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมแรกที่จะรายงานผลประกอบการออกมา ซึ่งในไตรมาสนี้ มีประเด็นสำคัญที่เข้ามากดดันช่วงปลายไตรมาส นั่นคือเรื่องประเด็นการตั้งสำรองของ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ SSI ที่ประสบปัญหาทางการเงิน ส่งผลให้นักวิเคราะห์ออกมาประเมินว่า ผลประกอบการของกลุ่มธนาคารฯ ในไตรมาสนี้จะปรับตัวลดลงหนักกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะ 3 ธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้ของ SSI อย่าง ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารกรุงไทย (KTB) และ ธนาคารทิสโก้ (TISCO) ขณะที่ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ซึ่งเป็นธนาคารที่ไม่ได้รับผลกระทบจาก SSI นักวิเคราะห์ก็ยังมองว่าผลประกอบการจะลดลงเช่นกัน จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แต่ยังถือว่าเป็นธนาคารที่แข็งแกร่งที่สุดในกลุ่ม

*** SSI ป่วนกลุ่มแบงก์ คาดกดกำไร Q3/58 ทั้งกลุ่มวูบ 13.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาส 3/2558 ของกลุ่มธนาคาร จะมีกำไรอยู่ที่ 4.65 หมื่นล้านบาท ลดลง 8.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และลดลง 13.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าซึ่งปัจจัยหลักที่กดดันกลุ่มธนาคาร คือ กรณีที่ SSI ประสบปัญหาทางการเงิน ทำให้ธนาคารต้องตั้งสำรองเพิ่ม สำหรับธนาคารที่คาดว่าผลประกอบการจะออกมาแข็งแกร่งในไตรมาสนี้ ประกอบด้วย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY และ ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP โดยสองธนาคารนี้ไม่ได้รับผลกระทบจาก SSI และสินเชื่อโดยรวมฟื้นตัวดีขึ้น
สำหรับธนาคารที่ผลประกอบการที่จะออกมาไม่ดี คือ SCB KTB และ TISCO โดย 3 ธนาคารร่วมกันปล่อยกู้ SSI กดดันให้ธนาคารต้องตั้งสำรองเพิ่มกดดันไตรมาส 3 ลดลง
ด้านนายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์ บล.อาร์เอชบี โอเอสเค เปิดเผยว่า ภาพรวมผลประกอบการไตรมาส 3/2558 กลุ่มธนาคารถือว่าหดตัวลงทั้ง QoQ และ YoY ซึ่งปัจจัยหลักเกิดจากกรณี SSI ทำให้ธนาคารต้องตั้งสำรองเพิ่มโดยเฉพาะ SCB KTB และ TISCO ถึงแม้ว่า SCB จะมีกำไรจากเงินลงทุนเข้ามาแต่ไม่สามารถที่จะชดเชยกำไรให้มีการเติบโตได้เหมือนที่ผ่านมา ประกอบกับสัญญาณ NPL ของกลุ่มธนาคารเพิ่มขึ้นอย่างมีนัย โดยเฉพาะจากกลุ่มลูกค้ารายย่อย อย่างไรก็ตาม ด้านค่าธรรมเนียมยังเติบโตในทิศทางที่ดีอยู่ โดยเฉพาะรายได้ที่มาจากการขายประกัน ขายกองทุน หรือโอนเงินต่างๆ
"ผลประกอบการธนาคารถ้าจะออกมาแย่ ก็คงจะหนีไม่พ้น 3 แบงก์ที่ปล่อยกู้ SSI แต่ถ้าแบงก์ที่พอจะไปได้หรือติดลบน้อยกว่าคนอื่น คงเป็น TMB เนื่องจากไม่ได้รับผลกระทบกับ SSI และสินเชื่อยังเติบโตได้ดีอยู่ ปัจจัยหลัก ๆ โดยรวมของกลุ่มแบงก์ไตรมาส 3 อาจจะลากถึงไตรมาส 4 คือการตั้งสำรอง ซึ่งไม่รู้จะมีเคส SSI ขึ้นหรือเปล่า"นายธนเดช กล่าว

*** พิษหนี้ SSI อาจลากยาวกระทบกำไรแบงก์ทั้งปี 58
บล.ฟิลลิป เปิดเผยว่า หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ จะได้รับปัจจัยลบจาก การตั้งสำรองหนี้ของ SSI ซึ่งคาดว่าในครั้งนี้จะกระทบกับกำไรปี 2558 ของ SCB ให้ลดลงประมาณ 4.5% จากเดิมที่คาดไว้ที่ 53 พันล้านบาท ลดลงเหลือ 51 พันล้านบาท โดยรวมส่วนของกำไรจากเงินลงทุนที่ SCB คาดว่าจะนำมาชดเชยผลจากการตั้งสำรองครั้งนี้ประมาณ 7 – 8 พันล้านบาท และจะทำให้ราคาพื้นฐานลดลงเหลือ 183 บาท จากเดิม 185 ล้านบาท ในส่วน ของ KTB กับ TISCO ทางฝ่ายยังไม่มีข้อมูลว่าทั้ง 2 ธนาคารจะมีรายได้อย่างอื่นมาชดเชยผลของการตั้งสำรองหรือไม่ผลกระทบจึงสูงกว่าในกรณีของ SCB โดยคาดว่ากำไรของ KTB จะลดลง 24% จากเดิมที่คาดไว้ที่ 30 พันล้านบาท ลดลงเหลือ 23 พันล้านบาท และทำให้ราคาพื้นฐานลดลงเหลือ 20.40 บาท จากเดิมที่ 21 บาท TISCO คาดว่ากำไรจะลดลง 27% จากเดิมคาดไว้ที่ 4.5 พันล้านบาท ลดลงเหลือ 3.3 พันล้านบาท และราคาพื้นฐานลดลงเหลือ 44 บาท จากเดิมที่ 46 บาท และผลทั้งหมดจะทำให้กำไรของกลุ่มธนาคารลดลง 5.8% จากเดิมที่คาดไว้ที่ 2.1 แสนล้านบาท ลดลงเหลือ 2 แสนล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 2.6% y-y
ถึงแม้ว่าธนาคารเจ้าหนี้ของ SSI คือ SCB KTB และ TISCO จะถูกปรับลดประมาณการกำไรและราคาพื้นฐานลง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับราคาปัจจุบันก็ยังมีส่วนต่างอยู่ จึงยังคงแนะนำ “ซื้อ” ในธนาคารทั้ง 3 และถึงแม้ว่ากลุ่มธนาคารจะมีกำไรลดลงจากกรณีดังกล่าว แต่ทางฝ่ายมองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะทยอยออกมาน่าจะเป็นส่วนช่วยการเติบโตของสินเชื่อได้ จึงยังคงให้น้ำหนักลงทุน “มากกว่าปกติ” ทางฝ่ายยังคงเลือก KBANK (ราคาพื้นฐาน 230 บาท) เป็นหุ้น Top pick ของกลุ่ม เนื่องจาก KBANK มีโครงสร้างรายได้ที่โดดเด่นไม่เน้นการพึ่งพาสินเชื่อมากเท่าธนาคารอื่น

*** KBANK กำไรวูบตามศก.ชะลอตัว แต่มองยังแกร่งสุดในกลุ่ม
บล.เมย์แบงก์กิมเอ็ง เปิดเผยว่า หลังจากที่เข้าร่วมการประชุมนักวิเคราะห์เมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา และได้รับข้อมูลเหมือนที่ผู้บริหารเคยให้ไว้ก่อนหน้า ผลการดำเนินงานของธนาคารคาดจะอ่อนตัวลงในไตรมาสนี้จากสภาวะเศรษฐกิจ ไม่เหมือนการประชุมครั้งที่แล้วที่ธนาคารประกาศว่าจะกันสำรองเพิ่มขึ้นมาก ตามหนี้เสียที่คาดว่าจะเร่งขึ้น การประชุมครั้งนี้เราไม่ได้ข้อมูลเซอร์ไพร์สอย่างอื่น What’s Our View
จากคาดการณ์ของผู้บริหาร คาดสินเชื่อจะขยายตัว 1.8% QoQ อย่างไรก็ตาม NIM คาดจะปรับตัวลดลง 2bps ไปอยู่ที่ 3.57% ตามผลตอบแทนสินเชื่อที่ลดลง และดังนั้นรายได้ดอกเบี้ยสุทธิคาดจะทรงตัวจากไตรมาสที่แล้ว รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยสุทธิคาดจะอ่อนตัวลง QoQ แต่คาดจะเติบโต 9%YoY ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานคาดจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 4% QoQ ผลักดันให้ Cost-to-income ratio ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 45.0% เนื่องจากเราคาดว่า NPL จะปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 2.7% (ตามคาดการณ์ของเรา) Credit cost ในไตรมาสนี้คาดจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 40bps หรือเท่ากับ 6.3 พันล้านบาท
โดยรวม เราคาดกำไรสุทธิจะอ่อนตัวลง 13.3%QoQ ไปอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท แม้ว่ากำไรสุทธิจะออกมาไม่น่าประทับใจแต่มองว่าผลการดำเนินงานถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีและน่าจะแข็งแกร่งที่สุดในกลุ่มธนาคารด้วยกัน นอกจากนั้น ธนาคารไม่ต้องเผชิญแรงกดดันจากหนี้ของ SSI อย่างเช่นที่ SCB และ KTB เผชิญอยู่ KBANK นั้นให้ความสำคัญกับสินเชื่อ SMEs เป็นหลัก ดังนั้นธนาคารน่าจะได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นของรัฐบาลที่เพิ่งประกาศออกมา กำไรจะยังคงเติบโตช้าแต่จะยังคงแข็งแกร่งกว่าคู่แข่ง ดังนั้นเราคงยังเลือก KBANK เป็นหุ้นแนะนำของกลุ่ม

*** โบรกฯ ยังเชียร์ซื้อ KBANK ถ้วนหน้า
หลังจากที่ทาง KBANK ได้เชิญนักวิเคราะห์ เข้าไปพูดคุยถึงผลประกอบการในช่วง Q3/58 เมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลให้บริษัทหลักทรัพย์ได้ประเมินทิศทางราคาหุ้น KBANK ออกมาหลายบริษัท ซึ่งทางสำนักข่าว "อีไฟแนนซ์ไทย" ได้รวบรวม แนวโน้มของกำไร และคำแนะนำต่อหุ้น KBANK ของแต่ละบริษัทหลักทรัพย์ดังนี้ ...

บล. QoQ (%) YoY (%) แนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท)
เคจีไอ -10 -18 ซื้อ 220
ดีบีเอสวิคเคอร์ส -19 -11 ซื้อ 220
กรุงศรี -9 -17 ซื้อ 210
ฟิลลิป -6.6 -14.4 ซื้อ 197
เมย์แบงก์กิมเอ็ง -13.3 - - -
ทรีนีตี้ -11 -18 ซื้อ 205
ซีไอเอ็มบี -8.5 -16.1 ซื้อ 230
โกลเบล็ก -4 -12 ซื้อ 221
โดย สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย


*** SCB แม้เจอหนี้ SSI เล่นงาน แต่ยังมีกำไรพิเศษช่วยพยุง
บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า กำไรสุทธิของ SCB สำหรับ Q3/58 คาดจะอยู่ที่ 9,505 ล้านบาท หดตัว 28% ทั้ง QoQ และ YoY โดยผลกระทบหลักมาจากสำรองหนี้สูญที่เพิ่มขึ้นจากกรณีที่ SSI ต้องถูกปรับเป็น NPL ตามที่ธนาคารเคยได้แถลงไว้ก่อนหน้า ซึ่งธนาคารต้องตั้งสำรองเพิ่มเติมจากปกติราว 10,500 ล้านบาท ทำให้สำรองหนี้สูญในไตรมาสนี้พุ่งขึ้นไปสูงถึง 15,333 ล้านบาท อย่างไรก็ตามธนาคารได้ขายเงินลงทุนที่มีอยู่ ทำให้มีกำไรเข้ามาช่วยชดเชยผลกระทบดังกล่าว โดยคาดกำไรจากการขายเงินลงทุนจะอยู่ที่ราว 8 พันล้านบาท สำหรับผลการดำเนินงานอื่น คาดว่าสินเชื่อจะหดตัวราว 1%QoQ จากหนี้ของ SSI รวม 22,000 ล้านบาท ที่ถูกจัดชั้นเป็น NPL ซึ่งทำให้คาดว่า NIM จะหดตัวราว 8 bps มาอยู่ที่ 3.09% ด้วยเช่นกัน จากดอกเบี้ยรับที่น้อยลง
อย่างไรก็ตามเราคาดว่ารายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิจะยังเติบโตได้ดีราว 5%QoQ และรายได้อื่นจะมาจากกำไรจากการขายเงินลงทุนดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ซึ่งทำให้รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยรวมในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นถึง 69%YoY ด้านค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเราคาดว่าจะลดลงเล็กน้อย เนื่องจากธนาคารอาจตัดค่าใช้จ่ายเพื่อลดผลกระทบจากสำรองที่มีต่อกำไร และเมื่อรวมรายได้ที่ค่อนข้างสูงจากกำไรพิเศษแล้ว ทำให้คาด Cost-to-income ratio จะอยู่ที่ 29.3% จากระดับ 35.4% ในไตรมาสก่อน

*** ปรับลดกำไรทั้งปี 58 -59 ลง 4% แล 3% ตามลำดับ
นอกจากนี้ บล.ทรีนีตี้ ได้ปรับลดประมาณการกำไรปี 2558-2559 ของ SCB ลงราว 4% และ 3% ตามลำดับ โดยเมื่อเทียบกำไรทั้งปีถือว่าสำรองที่เพิ่มขึ้นกระทบไม่มาก เนื่องจากเดิมประมาณการที่ทำไว้ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม และยังมีกำไรพิเศษเข้ามาช่วยลดผลกระทบอีกด้วย ด้าน NPL ในไตรมาสนี้คาดจะเพิ่มขึ้นตามยอดหนี้ของ SSI ที่ 2.2 หมื่นล้านบาท มาอยู่ที่ 6.69 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากธนาคารไม่สามารถ Write-off หนี้ในส่วนของ SSI UK ได้ทันในไตรมาสนี้ จะทำให้ NPL Coverage Ratio อ่อนแอลงเหลือ 110% จากไตรมาสก่อนที่ 137% แต่หากธนาคารสามารถ Write-off หนี้ของ SSI UK ได้ทัน ระดับ NPL จะลดลงราว 1.2 หมื่นล้านบาท และ NPL Coverage Ratio คาดจะอยู่ที่ 112%
จากประมาณการใหม่ รวมถึงประเด็น NPL Coverage Ratio ที่ลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจกระทบต่อการเติบโตในอนาคตหากธนาคารต้องตั้งสำรองพิเศษมาเพื่อเพิ่มสัดส่วนดังกล่าวให้สามารถเทียบเคียงกับคู่แข่งได้ ทำให้เราปรับลดราคาเป้าหมายลงเหลือ 155 บาท อิง PBV 1.7 เท่า โดยแม้จะมี Upside ในระดับที่ยังลงทุนได้

*** โบรกฯ ประสานเสียงกำไร SCB ช่วง Q3/58 ดิ่งหนักกว่า 20%
สำนักข่าว "อีไฟแนนซ์ไทย" ได้รวบรวม แนวโน้มของกำไร และคำแนะนำต่อหุ้น SCB ของแต่ละบริษัทหลักทรัพย์ดังนี้ ...

บล. QoQ (%) YoY (%) แนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท)
ดีบีเอสวิคเคอร์ส -25.5 -25.7 ซื้อ 165
ฟิลลิป -20.9 -21.1 ซื้อ 170
กรุงศรี -27 -27 ซื้อ 150
ทรีนีตี้ -28 -28 ซื้อ 155
โกลเบล็ก -21 -22 ซื้อ 166
ซีไอเอ็มบี -20.5 -20.8 ถือ 142
อาร์เอชบี โอเอสเค -30 -30 ถือ 144
เมย์แบงก์กิมเอ็ง -28 -28 ถือ 150
เอเซียพลัส -23.4 -23.6 ถือ 150
โดย สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย


*** KTB โคม่า เจอพิษ SSI ทำกำไร Q3/58 หด 33.4%
บล.เอเซียพลัส เปิดเผยว่า ฝ่ายวิจัยคาด KTB จะมีกำไรสุทธิงวด 3Q/58 เท่ากับ 5.62 พันล้านบาท หดตัวถึง 33.4% qoq และ 39.2% yoy กดด้วยด้วยการตั้งสำรองหนี้ฯ (สำรองทั่วไป) เพิ่มขึ้นกว่า 6 พันล้านบาท เพื่อเพิ่ม coverage ratio เนื่องจากธนาคารฯ ได้จัดสรรเงินกันสำรองส่วนเกินกว่า 9 พันล้านบาท ไปเป็นสำรองเฉพาะรายสำหรับลูกหนี้ SSI ในงวดนี้ จนครบทั้งจำนวน
นอกจากนี้ ธนาคารฯ ยังได้กันสำรองหนี้ฯ ทั่วไป (normalized provisioning) ตามที่กำหนดไว้อีก 700 ล้านบาท/เดือน รวมเป็น 2.1 พันล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมกับการตั้งสำรองหนี้ฯ ของบริษัทย่อย ได้แก่ KTB และ KTB ลีสซิ่ง ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยฯ ในงวดนี้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของ NPL ณ สิ้นงวด 3Q58 ไปที่ราว 4.58% จาก 3.42% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นงวด 2Q58 ทำให้คาดการณ์ coverage ratio ณ สิ้นงวด 3Q58 ลดลงเหลือราว 102.0% จาก 124.5% ณ สิ้นงวด 2Q58 โดยที่ธนาคารฯ เปิดเผยว่ายังไม่มีแผนจะตัดหนี้สูญสำหรับ SSI-UK ณ สิ้นงวด 3Q58 หากไม่รวมรายการดังกล่าว พบว่ากำไรจากการดำเนินงานยังค่อนข้างทรงตัวจากงวดที่ผ่านมา โดยภาพรวมสินเชื่อสุทธิยังชะลอตัว ส่วนคาดการณ์รายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลง เนื่องจากมีการบันทึกรายได้จากเงินลงทุนเข้ามามากในงวด 2Q58 ส่งผลให้ NIM อ่อนตัวเล็กน้อยลงมาที่ 3.00% คาดการณ์รายได้ค่าธรรมเนียมฯ ยังเติบโตดีต่อเนื่อง

*** ชี้ Q4/58 ยังทรงตัว แต่คงประมาณการปี 58-59
บล.เอเซียพลัสเปิดเผยต่อว่า ยังคงประมาณการผลการดำเนินงานปี 2558-59 ของ KTB โดยคาดกำไรสุทธิปี 2558 ลดลงถึง 33.2% yoy จากผลกระทบของการตั้งสำรองหนี้ฯ SSI ดังกล่าวข้างต้น แต่จะกลับฟื้นตัว 36.3% yoy ในปี 2559 จากฐานที่ต่ำในปี 2558 เพราะการตั้งสำรองหนี้ฯ ที่จะกลับเป็นปกติ และความคาดหวังเชิงบวกมากขึ้นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานงวด Q4/58 คาดว่ายังทรงตัวระดับต่ำ เนื่องจากเชื่อว่าธนาคารฯ ยังมีแผนจะเพิ่ม coverage ratio อย่างต่อเนื่อง โดยการตั้งสำรองพิเศษเพิ่มเติมอีก ภายใต้ภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงสั้นที่ยังฟื้นตัวล่าช้า ประกอบกับ NIM ที่คาดว่าเริ่มลดลงและค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่จะเร่งตัวมากขึ้นเมื่อเข้าช่วงฤดูกาลปลายปี
แม้ราคาหุ้นจะผ่านการปรับฐานไปมาก แต่ฝ่ายวิจัยยังคงคำแนะนำเพียงถือเพื่อรับปันผล เนื่องจากพื้นฐานธุรกิจที่ยังขาดความน่าสนใจ โดย fair value ปี 2558 เท่ากับ 18.50 บาท อิงวิธี GGM ที่ PBV 1.06 เท่า ภายใต้คาดการณ์ ROE ระยะยาวเท่ากับ 13.0% คงเหลือ upside เพียง 10% จากราคาปัจจุบัน และคาดการณ์ปันผลเฉลี่ยปี 2558 ที่ 3.9% p.a.



 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com