March 29, 2024   10:16:11 PM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > SUPER ทุ่ม 2 หมื่นลบ. รุกโซลาร์ฯญี่ปุ่น
 

thaihoon
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 14,583
วันที่: 30/06/2015 @ 08:29:59
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

ซุปเปอร์บล็อก เซ็น MOU "เอ็นเนอร์ยี คอมเพล็กซ์" ร่วมลงทุนทำโซลาร์ฟาร์มญี่ปุ่น 300 MW ถือหุ้น 75% คาดใช้เงินลงทุนทั้งโครงการ 2.7 หมื่นล้านบาท ยันมีแบงก์พร้อมกู้ 85% ที่เหลือมาจากการขายหุ้น PP-แปลงสภาพวอร์แรนต์ ระบุเฟสแรก 70 MW จะเริ่มก่อสร้างปลายปีนี้ ก่อนครบ 300 MW ในปี 60 เตรียมจับมือพันธมิตรฟิลิปปินส์-เกาหลีต่อทันที คาดชัดเจนปีหน้า ขณะที่มั่นใจปีนี้ COD ได้ 500 MW ตามเป้า ดันผลการดำเนินงานพลิกมีกำไร ด้าน CSS เผยขายหุ้นโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่น เบนเข็มลุยพลังงานในประเทศ ระบุอยู่ระหว่างขอ PPA โซลาร์ฟาร์ม-โรงไฟฟ้าขยะ กำลังผลิตมากกว่า 40 MW คาดได้รับภายในปีนี้

*** SUPER ทุ่ม 2 หมื่นลบ.ลุยโซลาร์ฯญี่ปุ่น 300 MW

นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานคณะกรรมการ บริษัท ซุปเปอร์บล็อก จำกัด (มหาชน) หรือ SUPER เปิดเผยว่า บริษัทฯ ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU)ร่วมกับบริษัท เอ็นเนอร์ยี คอมเพล็กซ์ จากประเทศญี่ปุ่น ผ่านทางบริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ SUPER เพื่อร่วมศึกษาและพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยเบื้องต้นจะร่วมกันลงทุนประมาณ 300 เมกะวัตต์ โดยเฟสแรกซึ่งได้รับใบอนุญาตแล้ว 70 เมกะวัตต์ จะเริ่มก่อสร้างในไตรมาส 4/58 และจะรับรู้รายได้ประมาณปลายปี 59 โดยโครงการดังกล่าวจะมีผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ที่ประมาณ 14-18% และคาดว่าจะสร้างครบครบ 300 เมกะวัตต์ในปี 2560
" การพัฒนาโซลาร์ฟาร์มที่ญี่ปุ่น 1 เมกะวัตต์ จะใช้เงินลงทุน 90 ล้านบาท ซึ่งเฟสแรกจะได้ใบอนุญาตมาแล้ว 70 เมกะวัตต์ จะก่อสร้างไตรมาส 4/58 และจะรับรู้รายได้ปลายปี 2559 โดยบริษัทฯ ได้มีสัญญาในการขายไฟแต่ละโรงต่างกันบางโรง 36 เยน/หน่วย บางโรง 32 เยน/หน่วย ซึ่งเมื่อคิดเป็นผลตอบแทนการลงทุนจะเฉลี่ยอยู่ที่ 14-18% และบริษัทฯ คาดว่าจะทยอยได้รับใบอนุญาตครบ 300 เมกะวัตต์ และเริ่มก่อสร้างเสร็จภายในปี 2560" นายจอมทรัพย์ กล่าว

*** ตั้งบริษัทย่อย " ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี่ สิงคโปร์" เข้าถือหุ้นในบริษัทร่วมทุน
ทั้งนี้ บริษัทฯ เตรียมตั้งบริษัทย่อยอีก 1 แห่งคือ ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี่ สิงคโปร์ เพื่อถือหุ้นในบริษัทร่วมทุนดังกล่าว โดยในฝั่งของ SUPER จะถือหุ้นประมาณ 75% คาดว่าจะใช้เงินลงทุนทั้งโครงการประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาท โดยเงินทุนส่วนใหญ่จะมาจากการกู้สถาบันการเงิน 85% ที่เหลือจะมาจากการขายหุ้นเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PP) ที่ขอมติผู้ถือหุ้นไว้แล้ว 2,000 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 2.50 บาท และจากการแปลงสภาพวอร์แรนต์ SUPER-W1 ที่จะมีการใช้สิทธิในเดือน ก.ค.นี้ และSUPER-W2 ที่จะมีการใช้สิทธิในเดือน พ.ย.นี้ รวมถึง SUPER-W3 ที่จะมีการใช้สิทธิ์ในช่วงต้นปี 2559 เมื่อรวมการแปลงสภาพใบสำคัญแสดงสิทธิ์ทั้ง 3 ครั้ง ทำให้บริษัทฯมีเงินพร้อมลงทุนถึง 1.8 หมื่นล้านบาท
" เรามีสถาบันการเงินที่พร้อมปล่อยกู้ให้อยู่แล้ว โดยจะใช้เงินกู้ 85% ที่เหลือจะมาจากการขายหุ้น PP ซึ่งขอมติผู้ถือหุ้นไว้แล้ว และขณะนี้มีสถาบันหลายรายสนใจเข้ามาขอซื้อหุ้นในส่วนนี้ แต่เราไม่รีบขาย เพราะต้องการขายให้กับพันธมิตรหรือนักลงทุนที่มีไลเซนส์พลังงานทดแทนมากกว่า และจากการแปลงสภาพวอร์แรนต์ จะทำให้ทุนของบริษัทฯเพิ่มขึ้น ทำให้ D/E เพิ่มจากปัจจุบันไม่มาก แม้จะต้องกู้เงินเพิ่มก็ตาม โดยปัจจุบันมี D/E ไม่ถึง 1 เท่า " นายจอมทรัพย์กล่าว
ด้านนายเทรุโอะ ซาโต้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นเนอร์ยี คอมเพล็กซ์ กล่าวว่า ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ต้องการใช้ไฟฟ้าในปริมาณสูงมาก ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทน ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด โดยปีที่ผ่านมารัฐบาลได้อนุมัติสัญญาการรับซื้อไฟฟ้าถึง 9,000 เมกะวัตต์ ประเทศญี่ปุ่นจึงเป็นเป้าหมายการเข้ามาลงทุนของหลายๆประเทศ เพราะยังมีทิศทางความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นทุกๆปี และบริษัทฯได้มีการร่วมมือกับ SUPER เพราะเป็นบริษัทที่มีความพร้อมทางด้านประสบการณ์ บุคลากรมีความรู้ รวมถึงมีความพร้อมด้านเงินทุน ซึ่งจะสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือทางธุรกิจและพัฒนาธุรกิจร่วมกันในอนาคต

***เตรียมลุยฟิลิปปินส์-เกาหลีใต้
นายจอมทรัพย์ กล่าวด้วยว่า บริษัทฯ อยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรประเทศฟิลิปปินส์และเกาหลีใต้ เพื่อร่วมลงทุนในโครงการโซลาร์ฟาร์ม คาดว่าจะมีความชัดเจนในปีหน้า ส่วนการขยายการลงทุนในประเทศ อยู่ระหว่างการเจรจาซื้อกิจการพลังงานทดแทนประมาณ 3-4 แห่ง คาดว่าจะได้ข้อสรุป 1 แห่งในปีนี้
ทั้งนี้ บริษัทฯ มั่นใจว่าปีนี้จะสามารถจำหน่ายไฟเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ 500 เมกะวัตต์ ก่อนเพิ่มเป็น 1,000 เมกะวัตต์ ในปี 2559 และเพิ่มเป็น 2,000 เมกะวัตต์ ในปี 2560 ซึ่งจะทำให้ SUPER เป็นบริษัทที่มีการจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนรายใหญ่ที่สุดของประเทศ
โดยจะใช้งบลงทุนปีนี้อย่างน้อย 3 หมื่นล้านบาท สำหรับ COD จำนวน 500 เมกะวัตต์ โดยเตรียมทยอย COD เฟสแรก จำนวน 131.62 เมกะวัตต์ ในเดือน ก.ค.นี้ ซึ่งเงินลงทุนมูลค่ากว่า 8 พันล้านบาท เป็นการกู้จาก ธนาคารกรุงเทพ ประมาณ 6.7 พันล้านบาท ซึ่งจะเซ็นสัญญาในวันพรุ่งนี้

***มั่นใจปีนี้พลิกกำไร
นายจอมทรัพย์ ยืนยันว่า ปีนี้ SUPER จะกลับมามีกำไรสุทธิได้ จากปีก่อนที่ขาดทุน 89 ล้านบาท หลังจากสามารถจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ และจะล้างขาดทุนสะสมจำนวน 736 ล้านบาท ให้หมดภายในปีนี้ โดยจะใช้กำไรจากการดำเนินงานและส่วนเกินมูลค่าหุ้น ขณะที่ใน
ปี 59 คาดว่าจะมีรายได้อย่างน้อย 4.5 พันล้านบาท

*** CSS เบนเข็มลุยพลังงานในประเทศ จากเดิมสนญี่ปุ่น
นายสมพงษ์ กังสวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คอมมิวนิเคชั่น แอนด์ ซิสเต็มส์ โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CSS เปิดเผยว่า ล่าสุดได้ขายหุ้นที่ถืออยู่ 50% ในบริษัทร่วมทุนเพื่อประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่นกำลังการผลิต 10.2 เมกกะวัตต์ เนื่องจากคณะกรรมการบริษัทมีนโยบายใหม่ที่จะเน้นลงทุนพลังงานทดแทนในประเทศ ซึ่งมีความมั่นคงในระยะยาวมากกว่าและใช้เงินลงทุนน้อยกว่า ?ทั้งนี้ การขายหุ้นดังกล่าวจะไม่กระทบกับเป้าหมายรายได้ปีนี้ที่ตั้งไว้ 5,000 ล้านบาทแน่นอน เพราะไม่ได้รวมอยู่ในประมาณการ??
" เราจะหันมาเน้นการลงทุนพลังงานทดแทนในประเทศแทน เพราะเงินลงทุนน้อยกว่า ระยะสัมปทานยาวกว่าที่ไทยได้ 25 ปี ที่ญี่ปุ่นเพียง 20 ปี จึงเห็นว่าคุ้มกว่าแน่นอน จึงตัดสินใจขายหุ้นในส่วนของเรา 50% ให้ Prime Road Capital. ไป ส่วนราคาขายก็เท่ากับตอนตั้งบริษัทร่วมทุน โดยบริษัทร่วมทุนดังกล่าวมีทุนจดทะเบียน 400 ล้านบาท" นายสมพงษ์ กล่าว
ทั้งนี้ ปัจจุบัน บริษัทฯ อยู่ระหว่างการรอใบอนุญาตขายไฟฟ้า (PPA) ซึ่งได้ยื่นไปแล้วมากกว่า 40 เมกกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 35 เมกกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าขยะที่สามารถประกาศได้แล้วคือจังหวัดพะเยากำลังผลิต 8-10 เมกกะวัตต์ และยังเหลืออีก 2 แห่งซึ่งยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากเหตุผลทางธุรกิจซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาซื้อที่ดิน โดยคาดหวังว่าจะได้รับใบอนุญาติทั้งหมดภายในปีนี้
" ตอนนี้เรารอเพียงการตอบรับจากภาครัฐเกี่ยวกับการขอ PPA เพราะได้ยื่นไปแล้วทั้งโซลาร์และขยะ ซึ่งคงอยู่ในกระบวนการ เพราะช่วงนี้ภาครัฐปรับโครงสร้างหลายอย่าง อาจจะทำให้ล่าช้าไปบ้าง แต่ก็หวังว่าจะประกาศออกมาภายในปีนี้ โดยหลังจากได้ PPA โซลาร์ฟาร์มจะใช้เวลาสร้าง 6 เดือน ส่วนโรงไฟฟ้าขยะใช้เวลาสร้าง 18 เดือน" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CSS กล่าว
สำหรับเงินลงทุน ปัจจุบันบริษัทฯ มีวงเงินกู้ที่ได้รับอนุมัติจากธนาคารแล้วกว่า 1,000 ล้านบาท ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าสามารถขอ ทำโปรเจคไฟแนนซ์ได้ถึง 70% (ไม่รวมกับวงเงินกู้ที่ได้รับมาแล้วของบริษัทฯ) นอกจากนี้ยังมีเงินหมุนเวียนในบริษัทที่สามารถนำมาลงทุนได้

 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com