April 25, 2024   3:36:22 PM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > กูรูหั่นเป้าดัชนีปีนี้เหลือ1,612จุด
 

thaihoon
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 14,583
วันที่: 26/05/2015 @ 08:43:58
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

สมาคมนักวิเคราะห์หั่นเป้าดัชนีฯ สิ้นปีนี้เหลือ 1,612 จุด จากเดิม 1,670 จุด หลังเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า บจ.ทำกำไรได้น้อยกว่าคาด แถมนักลงทุนกังวลการเมืองในประเทศ หั่นเป้าจีดีพีเหลือโต 3.2% จากเดิม 3.8% ระบุมีโอกาสหั่นเป้าดัชนีฯ ลงอีก ส.ค.นี้ หากเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า แนะลดพอร์ตลงทุนในหุ้นเหลือ 42% พร้อมแนะลงทุนหุ้นพื้นฐานแกร่ง-ปันผลสม่ำเสมอ นำโดย ADVANC-KBANK-KTB-SCC-THCOM ด้านเอเซียพลัสมอง SET ช่วงนี้ยังอยู่ในแนวโน้มแกว่งตัวลง จากแรงกดดันด้าน ศก.-การเมือง แนะหุ้นเด่นกำไรโตเหนือตลาด RCL-VNG-TUF-IRPC

*** ปรับลดเป้าดัชนีฯ สิ้นปีนี้เหลือ 1,612 จุด
นางภรณี ทองเย็น อุปนายก สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน เปิดเผยผลสํารวจความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้ลงทุนสถาบันบางส่วน เกี่ยวกับแนวโน้มการลงทุน ซึ่ง ประกอบด้วยตลาดหุ้น ตลาดทองคำ ตลาดน้ำมัน ตลาดตราสารหนี้ รวมถึงตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญ พร้อมคำแนะนำในการลงทุน โดยสรุปแยกตามตลาดดังนี้
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ และผู้ลงทุนสถาบัน คาดการณ์ว่า ดัชนีตลาดหุ้น (SET Index)ในช่วง พฤษภาคม – กรกฎาคม 2558 จะอยู่ที่เฉลี่ย 1,519 จุด (เทียบกับล่าสุดอยู่ที่ 1,523 จุด) และจะปรับขึ้นไปเป็นเฉลี่ย 1,612 จุดในช่วงสิ้นปี 58 ซึ่งนับว่าต่ำกว่าคาดการณ์ครั้งที่ผ่านมา (ม.ค.58) ซึ่งคาดว่าสิ้นปี 58 จะอยู่ที่ 1,670 จุด หรือลดลง 58 จุด คิดเป็นร้อยละ 3.5 จากคาดการณ์ครั้งก่อนหน้าและ สิ้นปี 59 คาดว่าดัชนีตลาดหุ้นจะอยู่ที่ 1,707 จุด ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ผ่านมาที่ 1,804 จุด หรือ ลดลง 97 จุด หรือ ลดลงร้อยละ 5.4 จากประมาณการครั้งก่อน
ส่วนการคาดการณ์ดัชนีที่เป็นจุดสูงสุดของปี 58 จะอยู่ที่เฉลี่ย 1,662 จุด ต่ำกว่าที่คาดครั้งที่แล้ว 1,728 จุด (ลดลง 66 จุด หรือราวร้อยละ 3.8) แต่สำหรับจุดต่ำสุดปี 58 อยู่ที่เฉลี่ย 1,423 จุด สูงขึ้นเล็กน้อยจากคาดการณ์เดิมที่ 1,390 จุด (เพิ่มขึ้น 33 จุด หรือราวร้อยละ 2.4)
ทั้งนี้ ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อตลาด ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าปัจจัยบวกมาจากปัจจัยในประเทศคือ โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ รองลงมาคือ แนวโน้มทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย และ สภาพคล่องในตลาดเงิน ส่วนปัจจัยที่มีผลกระทบต่อตลาดในเชิงลบ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ให้ น้ำหนักกับ ปัจจัยการเมืองในประเทศมากถึง 83.3%

*** กำไรต่อหุ้นของตลาดเหลือ 96.8 บาท
ขณะที่กำไรต่อหุ้นของตลาดในปี 2558 และ ปี 2559 อยู่ที่ 96.8 บาท (ลดลงจากประมาณการครั้งก่อนที่ 107.0 บาท)และ 109.5 บาท มีอัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS Growth)ปี 58อยู่ที่เฉลี่ย 22.1% สูงกว่าคาดการณ์ครั้งก่อนที่ 15.0% สำหรับปี 59 คาดว่าอยู่ที่เฉลี่ย 13.0%
ทั้งนี้ หากพิจารณากำไรรายกลุ่ม ฯ พบว่ากลุ่มธุรกิจที่มี EPS Growth เติบโตสูงสุดในปี 58 คือ กลุ่มปิโตรเคมี (88.12%) และรองลงมาคือกลุ่มพลังงาน (72.66%) สำหรับปี 59 กลุ่มธุรกิจที่ EPS Growth จะเติบโตสูงสุดคือ กลุ่มอาหาร (18.01%) รองลงมาคือกลุ่มปิโตรเคมี (14.24%) ทั้งนี้ กลุ่มที่คาดว่าจะมีอัตราผลตอบแทนเงินปันผล (Dividend Yield) มากที่สุดทั้งในปี 58 และปี 59 คือ กลุ่มสื่อสาร (4.89% และ 5.71% ตามลำดับ)

*** แนะลดพอร์ตลงทุนหุ้นเล็กน้อย ชูหุ้นเด่น ADVANC-KBANK-KTB
กลยุทธ์การลงทุน นักวิเคราะห์และผู้ลงทุนสถาบันได้แนะนำให้ลดการลงทุนในหุ้นเล็กน้อยเป็น 42.5% ของเงินลงทุนรวม จาก 46% ในการสำรวจครั้งก่อนหน้า โดยแนะนำให้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้และกองทุนในตราสารหนี้ เป็น 17.6% จากเดิม 14% ในขณะที่การลงทุนในต่างประเทศใกล้เคียงกับประมาณครั้งก่อนคือ 19.8% (20.5%ในครั้งก่อน) ทองคำรวมถึงโกลด์ฟิวเจอร์ส 6.7% (6.5% ครั้งก่อน) และเงินสดรวมถึงเงินฝาก 11.8% (11% ครั้งก่อน)
ทั้งนี้ เลือกลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง มีเงินปันผลสม่ำเสมอ มีกระแสเงินสดมั่นคง โดยทยอยซื้อสะสมเมื่อราคาปรับตัวลดลง ติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงศึกษาปัจจัยพื้นฐานของหลักทรัพย์ที่จะเข้าลงทุน โดยพิจารณาทั้งผลประกอบการและธรรมาภิบาล วางแผนก่อนลงทุน มีการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตลงทุน
หุ้นเด่น ที่นักวิเคราะห์แนะนำให้ลงทุนตรงกันหลายสำนักวิจัยได้แก่ ADVANC, KBANK, KTB, SCC, THCOM เป็นต้น

*** ราคาทองปีนี้ 19,506 บาทต่อบาททองคำ
นักวิเคราะห์และผู้ลงทุนสถาบันส่วนใหญ่ร้อยละ 81.82 มองว่าตลาดทองคำมีแนวโน้มทรงตัว ถึงปรับตัวลดลง (ร้อยละ 50.0 ทรงตัว - แกว่งตัว และร้อยละ 31.82 แกว่งตัวลง) ที่เหลือส่วนน้อยร้อยละ 13.64 มองว่าจะแกว่งตัวขึ้น โดยคาดว่า ณ สิ้นปี 58 ราคาทองคำจะอยู่ที่เฉลี่ย 19,506 บาทต่อบาททองคำ ซึ่งสูงกว่าคาดการณ์ครั้งที่ผ่านมาเล็กน้อยหรือ 3% (คาดการณ์เดิมอยู่ที่ 18,884 บาทต่อบาททองคำ) และ ณ สิ้นปี 59 ราคาจะอยู่ที่เฉลี่ย 20,454 บาทต่อบาททองคำ ซึ่งสูงกว่าคาดการณ์เดิม 2.9% โดยมีปัจจัยที่คาดว่าจะมีอิทธิต่อราคาทองคำมากที่สุด คือ ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐ ซึ่งมีผู้ตอบร้อยละ 73.9 รองลงมา คือ มาตรกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางยุโรป โดยมีผู้ตอบมากสุดร้อยละ 69.6

*** ราคาน้ำมันดิบปีนี้ เฉลี่ย 61.6 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
นักวิเคราะห์และผู้ลงทุนสถาบันมีความเห็น มีความเห็นสอดคล้องไปในทางเดียวกัน คือ คาดว่าราคาน้ำมันน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และมีแนวโน้มขึ้นมากกว่าลง กล่าวคือ ผู้ตอบจำนวนร้อยละ 42.86 ประเมินว่าตลาดน้ำมันจะมีแนวโน้มขึ้นถึง แกว่งตัวขึ้น และอัตราใกล้เคียงกันคือ ร้อยละ 42.86 คาดว่าทรงตัว และมีเพียงร้อยละ 9.52% ที่มองว่าแกว่งตัวลง (ร้อย
ละ 4.76ไม่ตอบ)โดยมีเหตุผลสนับสนุนสำคัญที่คือ ตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ซึ่งมีผู้ตอบร้อยละ 73.7
ทั้งนี้ ผู้ตอบคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ Brent ปี 58 จะอยู่ที่เฉลี่ย 61.6 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งลดลงจากคาดการณ์ประมาณการครั้งก่อน 4.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลมาที่ 66.1ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และปี 59คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 70.1 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่ 71.9 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเล็กน้อยราว 1.8 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 47.37 มองว่าเส้นอัตราผลตอบแทน (Yield Curve)มีแนวโน้ม ขาขึ้น ถึง แกว่งตัวขึ้น ตามทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐ (Fed Funds Rate) ที่กำลังจะอยู่ในช่วงขาขึ้นและมีความกังวลว่าอาจจะมีเงินทุนไหลออกจากตราสารหนี้กลับไปสู่การถือครองสินทรัพย์สกุลดอลลาร์สหรัฐ แต่ด้วยปัจจัยพื้นฐานของประเทศไทยขณะนี้อยู่ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว ผู้ตอบร้อยละ 52.64 จึงมองว่าตลาดตราสารหนี้มีแนวโน้มทรงตัว (ร้อยละ 26.32)ถึงแกวงตัวลงได้อีก (ร้อยละ 26.32) ทั้งนี้ ผู้ตอบให้น้ำหนักกับปัจจัยสำคัญคือ แนวโน้มทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยและสภาพคล่องในตลาดเงิน โดยมีผู้ตอบร้อยละ 55.6

*** GDP ปีนี้ 3.2% ลดจากเดิมที่คาดโต 3.8%
อนึ่ง ผู้ตอบแบบสอบถามประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย (RP 1 วัน)ณ สิ้นปี 58 จะอยู่ระหว่างร้อยละ 1.0–1.75 และคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น ณ สิ้นปี 59 เป็นระหว่างร้อยละ 1.25–2.25
สมมติฐานในการประเมินดัชนี นักวิเคราะห์และผู้ลงทุนสถาบันประเมินว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP Growth) ปี 58 จะอยู่ที่เฉลี่ย 3.2% ซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่ 3.8% แต่ปี 59 จะปรับเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่เฉลี่ย 3.8%

*** คาดกำไรบจ.Q2/58 ใกล้เคียง Q1/58
นางภรณี กล่าวว่า กำไรบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 2/58 คาดว่าจะใกล้เคียงกับไตรมาส 1/58 ที่ 2.26 แสนล้านบาท เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในไตรมาส 2 มาอยู่ที่ระดับ 63-64 เหรียญ/บาร์เรล จากไตรมาส 1 ที่ประมาณ 55-56 เหรียญ/บาร์เรล ทำให้หุ้นพลังงานจะมีกำไรจากสต็อกน้ำมัน
ทั้งนี้ ส.นักวิเคราะห์จะมีการสำรวจความคิดเห็นครั้งต่อไปประมาณเดือน ก.ค.-ส.ค.58 ซึ่งมีโอกาสที่นักวิเคราะห์จะมีการปรับประมาณการดัชนีและกำไร บจ.ลดลง หากภาพรวมเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและกำไร บจ.ที่ประกาศออกมาไตรมาส
2 ไม่เป็นไปตามคาด โดยหุ้นที่มีโอกาสปรับกำไรลดลง เช่น กลุ่มแบงก์หากเศรษฐกิจไม่ดีซึ่งจะกระทบกับการปล่อยสินเชื่อลดลง และหากดอกเบี้ยมีการปรับตัวลดลงอีกจะทำให้ NPL มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นทำให้แบงก์ต้องมีการตั้งสำรองเพิ่ม หุ้นกลุ่มพลังงานมีโอกาสปรับตัวลดลง หากในช่วงที่เหลือของปีนี้ราคาน้ำมันไม่สามารถปรับตัวไปอยู่ที่ระดับ 78 เหรียญ/บาร์เรล ทำให้ราคาเฉลี่ยปีนี้ไม่สามารถอยู่ที่ระดับ 70 เหรียญ/บาร์เรลได้ หุ้นกลุ่มบันเทิงมีโอกาสปรับตัวลดลง ได้รับผลกระทบในเรื่องเรทติ้งและค่าโฆษณาที่ยังไม่ดี และยังมีภาระที่จะต้องจ่ายค่าสัมปทานจำนวนมาก ฯลฯ
"ปกติกำไรบจ.ไตรมาส 2 จะลดลงกว่าไตรมาส 1 แต่ปีนี้กำไรไตรมาส 2 จะใกล้เคียงกับไตรมาส 1/58 เพราะหุ้นกลุ่มพลังงานจะมีกำไรจากสต็อกน้ำมันเข้ามาช่วยพยุง จากที่ราคาน้ำมันไตรมาส 2 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1ในช่วงเดือน มิ.ย.ตามสถิติที่ผ่านมานักลงทุนต่างประเทศจะมีการขายหุ้นไทยออกมา ซึ่งเชื่อว่าดัชนีต่ำสุดไม่น่าจะต่ำไปกว่า 1,440 จุด "นางภรณี กล่าว
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในช่วงนี้ แนะนำนักลงทุนให้เลือกลงทุนเป็นรายตัว ที่ได้ประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจภายนอก


*** เอเซียพลัส มอง SETยังอยู่ในแนวโน้มแกว่งตัวลง
บทวิเคราะห์ บล.เอเซียพลัส ระบุว่า SET ยังได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจ และการเมือง โดยเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในแนวโน้มแกว่งตัวลง ทั้งนี้ หากพิจารณาแรงกดดันด้านเศรษฐกิจ พบว่า แม้หลังการรายงาน GDP Growth งวด 1Q58 ของไทยจะดีกว่าตลาดคาด (3%yoy แต่เป็นการปรับไปใช้วิธี Chain Volume Measures จากเดิมที่ใช้ ราคาคงทีในปี 2531) แต่ดูเหมือนตลาดหุ้นไทยมิได้มีการตอบรับทางด้านบวก
ทั้งนี้ คาดว่าตลาดยังให้น้ำหนักต่อเศรษฐกิจและในช่วงที่เหลือของปีนี้ ว่าจะมีแนวโน้มฟื้นตัวในลักษณะเดียวกับตัวเลขที่แสดงในงวด 1Q58 หรือไม่ แต่ก็เป็นที่สังเกตว่าขณะนี้มีนักเศรษฐศาสตร์บางค่ายได้เริ่มปรับลดประมาณ GDP Growth ลงต่ำกว่า 3% เพิ่มเติม จากที่ก่อนหน้า ASPS ได้มีการปรับลดลงจากเดิม 3.5% เหลือ 2.5% ในปลายเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา และ เช่นเดียวกับ ทางค่ายกสิกร ได้ประเมินไว้ที่ 2.8% ตั้งแต่ต้นปี 2558
โดยล่าสุด นักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทหลักทรัพย์โนมูระ ได้ปรับลด GDP Growth จากเดิม 3.3% เหลือ 2.8% (นักเศรษฐศาสตร์ ของบริษัทโกลแมนแซคส์ปรับลดเหลือ 2.9% จากเดิม 3.4%) ซึ่งเทียบกับเป้าหมายของสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ประเมินไว้ค่อนข้างสูงคือในกรอบ 3-4% แม้ได้ปรับลดลงจากประมาณการครั้งก่อนที่ 3.5%-4.5% ล่าสุดแล้วก็ตาม ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เดิมประเมินไว้ที่ 3.8% (19 มิ.ย.เตรียมแถลงการปรับมุมมอง GDP Growth)เป็นต้น

ส่วนแรงกดดันด้านการเมือง คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว มองว่า หากสรุปให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และกระบวนการต่างๆ ไปด้วยความราบรื่น คาดว่าจะเห็นการจัดการเลือกตั้งในช่วงเดือน ก.ย.2559 แต่อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งอาจจะล่าช้ากว่า ก.ย. 2559 ได้ หากเกิดการสะดุดหรือมีตัวแปรที่อาจทำให้การเกิดขึ้นของการเลือกตั้งทั่วไปอาจล่าช้ากว่ากำหนด เฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการลงมติในขั้นตอนต่างๆ ว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ก็อาจจะทำให้กำหนดการต่างๆ ต้องเลื่อนออกไปอีก
ทั้งนี้ เชื่อว่ามีเพียงประเด็นเดียวที่คาดว่าจะเป็นปัจจุบันหนุนตลาดหุ้นไทยในระยะสั้น ๆ คือเรื่องสภาพคล่องทางการเงิน เนื่องจากมีการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นจีน สหภาพยุโรป และ รวมถึงไทย ที่เชื่อว่า กนง.มีโอกาสลดดอกเบี้ยนโยบายต่ำกว่า 1.25% (ปัจจุบันอยู่ที่ 1.5%) ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ทาง ASPS ได้ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ นั่นแสดงว่าโอกาสลดดอกเบี้ยฯ ยังมีอยู่อีก 1 ครั้งเป็นอย่างน้อยราว 0.25%

*** แนะลงทุนหุ้นที่กำไรโตมากกว่าตลาด ชู RCL-VNG-TUF-IRPC
บทวิเคราะห์ บล.เอเซียพลัส แนะนำกลยุทธ์การลงทุน เน้นรายหุ้น ที่คาดว่าจะมีผลกำไรโดดเด่นต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีนี้ และกำไรทั้งปีจะเติบโตได้มากกว่าตลาด เช่น RCL,VNG,TUF,IRPC เป็นต้น นอกจากนี้ ยังแนะนำหุ้นปันผลที่มีคุณสมบัติ Expected P/E ต่ำ หรือ EPS Growth โดยการใช้ ASP Smart(เป็น application เรื่องหุ้น และ warrant บนมือถือ)เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการคัดกรองหุ้น ซึ่งได้ข้อสรุปดังต่อไปนี้ คือ

1)หุ้นที่มีค่า Expected P/E ต่ำกว่า 12 เท่า และ EPS Growth มากกว่า 27%
VNG (FV@B10.25) Expected P/E 10เท่า,EPS Growth 42.4%,Upside 25%
PTT(FV@B402.5)Expected P/E 10.3 เท่า, EPS Growth 86.1%,Upside 10.3%
PTTGC (FV@B67.5) Expected P/E 10 เท่า, EPS Growth
97.8%, Upside 2%

2) หุ้นที่มีค่า Expected P/E ต่ำกว่า 12 เท่า และ มี Dividend Yield สูงเกิน 4%
SPALI (FV@B31.96) Expected P/E 5.9 เท่า, Div.Yield 6.8%, Upside 68.2%
THANI (FV@B4.91) Expected P/E 7.5 เท่า, Div.Yield 8.1%, Upside 59.4%
AIT (FV@B53) Expected P/E 9.1 เท่า, Div.Yield 5.9%, Upside 53.6%
STPI (FV@B31.96) Expected P/E 7.9 เท่า, Div.Yield 4.8%, Upside 50.6%
ASK (FV@B30.1) Expected P/E 8.6 เท่า, Div.Yield 8.1%, Upside 45.4%
TVO (FV@B30) Expected P/E 10.6 เท่า, Div.Yield 7.9%, Upside 32.2%
BJCHI (FV@B9.4) Expected P/E 9.3 เท่า, Div.Yield 6.2%, Upside 28.7%
SITHAI (FV@B3.2) Expected P/E 10.6 เท่า, Div.Yield 5.2%, Upside 32%
TISCO (FV@B51.5) Expected P/E 7.6 เท่า, Div.Yield 6.6%, Upside 14.4%
TMT (FV@B10) Expected P/E 10. เท่า, Div.Yield 7.7%, Upside 15.7%

3) มี Dividend Yield สูงเกิน 5% และมี Expected P/E ระหว่าง 12-17 เท่า
INTUCH(FV@B113)Expected P/E 14.6 เท่า, Div.Yield 6.8%, Upside 44.4%
TTW(FV@B13.3)Expected P/E 14.8 เท่า, Div.Yield 5.9%, Upside 17.7%
TTW(FV@B13.3)Expected P/E 14.8 เท่า, Div.Yield 5.9%, Upside 17.7%
ADVANC(FV@B285)Expected P/E 16.9 เท่า, Div.Yield 5.9%, Upside 18.8%



 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com