April 25, 2024   1:57:31 PM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > สภาพัฒน์หั่นจีดีพีปีนี้เหลือ3-4%
 

thaihoon
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 14,583
วันที่: 19/05/2015 @ 08:16:58
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

สภาพัฒน์ หั่นเป้าจีดีพีปี 58 เหลือโต 3-4% หลังส่งออกโตแค่ 0.2% มอง Q2/58 มีแนวโน้มฟื้นตัว จากแรงส่งการลงทุนภาครัฐ ลั่นเศรษฐกิจไทยยังไม่เกิดภาวะเงินฝืด ขณะที่โค้งแรกจบที่ 3% ต่ำกว่าตลาดคาดการณ์ ด้านโบรกฯ ตบเท้าปรับลดจีดีพีปีนี้ ASP มองต่ำสุด 2.5% กดดัน SET Index ไปไม่ไกล FSS หั่นเป้าเหลือแค่ 1,560 จุด ฟาก บลจ.วรรณ มองสวนทาง คาดหุ้นไทยปรับฐานช่วงสั้น ลุ้นรีบาวน์ครึ่งปีหลังแตะ 1,700 จุด กลุ่มพลังงาน - ไอซีที- อสังหาฯยังน่าสนใจ


ผ่านมาเกือบครึ่งปี อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทย ถูกปรับลดเป้าหมายลงมาเรื่อยๆ จากที่คาดว่าจะโตเกิน 4% มาเหลือเพียง 3-4% บางค่ายมองต่ำกว่า 3% ด้วยซ้ำ โดยเฉพาะเมื่อจีดีพีไตรมาสแรกประกาศออกมา เติบโตเพียงแค่ 3% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ 3.4-3.5% ยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการส่งออก ที่ติดลบถึง 4.3% ในไตรมาสแรกที่ผ่านมา ส่งผลให้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ปรับประมาณการส่งออกปี 58 เหลือโต 0.2% จากเดิมคาดโต 3.5% สิ่งเหล่านี้ล้วนกดดัน Set Index ไม่สามารถปรับตัวขึ้นได้ตามที่เคยวางเป้าหมายไว้สวยหรูเมื่อต้นปี

** หั่นจีดีพีปีนี้เหลือ3-4%
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. เปิดเผยว่า สศช.ปรับลดประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ปี 58 ลงเหลือ 3-4% จากเดิมที่ 3.5-4.5% เนื่องจากปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก การอ่อนค่าของเงินยูโรและเงินเยน ความตกต่ำของราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของการส่งออก อุปสงค์ภาคเอกชนและเศรษฐกิจในภาพรวมขยายตัวได้ต่ำกว่าประมาณการไว้
สำหรับปัจจัยที่สนับสนุนต่อการขยายตัวเศรษฐกิจปีนี้ คือการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง การใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น และราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำ
ส่วนเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2558 ที่ผ่านมา จีดีพีขยายตัวได้ 3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาครัฐ และการส่งออกบริการ

**ส่งออก Q1/58ติดลบ4.3% คาดทั้งปีโตแค่ 0.2%
ทั้งนี้ สศช.ปรับประมาณการส่งออกปี 58 เหลือโต 0.2% จากเดิมคาดโต 3.5% ขณะที่ไตรมาสแรกที่ผ่านมาการส่งออกติดลบ 4.3% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ซบเซาในประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ที่การฟื้นตัวยังไม่มีแนวโน้มชัดเจน โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง อุปสงค์ในประเทศญี่ปุ่นที่ยังอ่อนแอและเศรษฐกิจยุโรปที่ฟื้นตัวล่าช้า รวมทั้งเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์
นอกจากนี้ยังเป็นผลจากการอ่อนค่าของสกุลเงินในประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะในไตรมาสแรกเงินเยนอ่อนค่าลง 13.7% และยูโรอ่อนค่าลง 17.8%เมื่อเทียบกับเงินบาทภาวะตกต่ำของราคาสินค้าในตลาดโลก การผลิตภาคเกษตรยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะตกต่ำชองราคาสินค้าในตลาดโลก
ด้านการนำเข้า สศช.ปรับลดประมาณการทั้งปีลงเหลือ -0.8% จากเดิมที่ 1.8% และไตรมาสแรก -7.2% เนื่องจากการลดลงของราคานำเข้า เช่น น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ทองคำ และเคมีภัณฑ์ ส่วนในไตรมาสแรกปี 2558 ดุลการค้าเกินดุล 7,425 ล้านดอลลาร์ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 8,238 ล้านดอลลาร์
สำหรับดุลการค้าในปี 2558 คาดว่าดุลการค้าจะเกินดุล 26.6 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากเกินดุล 24.6 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2557 แต่ต่ำกว่าประมาณการในครั้งก่อน เนื่องจากการปรับลดมูลค่าการส่งออกสินค้าที่มากกว่าการปรับลดมูลค่าการนำเข้า และเมื่อรวมกับการปรับเพิ่มการเกินดุลบริการ ตามการปรับเพิ่มสมมติฐานจำนวนนักท่องเที่ยวจะส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 16.0 พันล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ สศช.ปรับลดประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2558 อยู่ที่ -0.3-0.7% จากเดิมคาดอยู่ที่ 0-1% เนื่องจากการปรับลดสมมติฐานราคานำเข้าและอุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัวต่ำกว่าประมาณการครั้งก่อน ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาสแรกอยู่ที่ -0.5% ปรับตัวลดลงจากไตรมาส 4 ที่ 1.1% และเป็นการลดลงต่ำสุดในรอบ 22 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2552 เนื่องจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศยังลดลงต่อเนื่อง รวมทั้งราคาอาหารสดชะลอตัวลง
โดยดัชนีราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 1.8% ชะลอลงจากการเพิ่มขึ้น 3.3% ในไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลจากราคาไข่และผลิตภัณฑ์นมลดลง เช่นเดียวกับราคาผักและผลไม้ในช่วงฤดูกาลที่มีปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ดัชนีราคาในหมวดที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลง 1.7% เนื่องจากราคาพลังงานลดลง ซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศมีการปรับลดลงตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และการปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปรหรือ FT ในรอบเดือน ม.ค.-เม.ย.2558 ที่ลดลง 10 สตางค์ต่อหน่วย ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.5% ชะลอลงจาก 1.7% ในไตรมาสก่อนหน้า

**ยันไม่เกิดภาวะเงินฝืด - ศก.จะฟื้นใน Q2/58
ทั้งนี้ นายอาคมยืนยันว่า แม้อัตราเงินเฟ้อจะมีการปรับลดต่อเนื่อง รวมไปถึงการปรับประมาณการทั้งปีลง แต่ยืนยันว่าสถานการณ์ในปัจจุบันยังไม่เข้าข่ายภาวะเงินฝืด เนื่องจากในขณะนี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพรวมในการอุปโภคบริโภค โดยคาดว่าประชาชนจะเริ่มใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น และจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในช่วงหลังจากนี้ไปจะสามารถกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2 คาดว่าจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่าย และการลงทุนภาครัฐที่จะสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การฟื้นตัวของการใช้จ่ายและการลงทุนของภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ตามความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจและแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม รวมไปถึงการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะฟื้นตัวต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้นและสามารถสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น ราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำ?? นอกจากนี้ ยังเป็นผลมาจากการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง 2 ครั้ง ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยมีการปรับตัวลดลงและช่วยกระตุ้นให้ค่าเงินบาทมีการปรับตัวอ่อนค่า ซึ่งคาดว่าจะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้ภาคการส่งออกกลับมาขยายตัวได้ รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ยังมีมาตรการผ่อนคลายเงินทุนไหลออก ส่งผลให้การส่งออกน่าจะฟื้นตัวได้อย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม การส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2558 และในระยะยาวยังมีข้อจำกัด ดังนั้นการแก้ไขไทยจะต้องเร่งปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภาพการผลิต และเพิ่มสัดส่วนอุตสาหกรรม เช่น การดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเร็วกว่าประเทศคู่แข่ง การประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆของภาครัฐและภาคเอกชนในการแสวงหาตลาดและเพิ่มปริมาณการส่งออกสินค้าที่สำคัญ การดูแลราคาสินค้าในกลุ่มที่เป็นวัตถุดิบนำเข้าสำคัญ การลดปัญหาอุปสรรคความล่าช้า และข้อจำกัดในกระบวนการทำงานและระเบียบปฏิบัติของภาครัฐ เพื่อลดต้นทุนทางธุรกรรมของผู้ส่งออก เป็นต้น

**คลังมั่นใจ ศก.โตได้ 3.7%
นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)ปรับเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐของประเทศ หรือ จีดีพี ในปี 58 ลงเหลือร้อยละ 3-4 หรือ เฉลี่ยร้อยละ 3.5 ขณะที่กระทรวงการคลังปรับจีดีพีเหลือร้อยละ 3.7 นับว่าเป็นตัวเลขที่ไม่แตกต่างกันมากจึงไม่ต้องตกใจ เพราะใช้สมมติฐานในแต่ละด้าน และจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
โดยรัฐมุ่งหวังการอัดฉีดเงินลงสู่ระบบผ่านโครงการลงทุนขนาดใหญ่ เมื่อเริ่มใช้เงินงบประมาณปี 59 ตั้งแต่เดือนกันยายปีนี้ เพื่อให้เงินเริ่มออกสู่ระบบในปลายปีนี้ ส่วนราชการต้องเตรียมแผนโครงการลงทุนไว้ล่วงหน้า ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ปลายปีนี้ และตลอดทั้งปีจีดีพีเป็นบวกได้

** เอกชนตบเท้าหั่น จีดีพี ASP มองต่ำสุด 2.5%
ผู้สื่อข่าว eFinanceThai รวบรวมการประมาณการจีดีพี ของแต่ละหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน พบว่าก่อนหน้านี้ภาคเอกชนหลายแห่งได้ปรับลดประมาณการจีดีพีของไทยลงมาแล้ว โดย บล.เอเซียพลัส หรือ ASP ถือเป็นค่ายที่ให้ตัวเลขการเติบโตปีนี้ต่ำที่สุดเพียง 2.5%
ทั้งนี้ ASP ระบุว่า ได้ปรับลด GDP Growth ปี 2558 ลง 1% เหลือ 2.5% (จากเดิม 3.5%) โดยเป็นการปรับลดตัวแปรหลัก ๆ เกือบทุกตัว ยกเว้น การใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชน และการส่งออก-นำเข้าบริการ คงเดิม เนื่องจากภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลกต่ำกว่าที่คาด สะท้อนจาก IMF ปรับลด GDP Growth ปี 2558 เหลือ 3.5% (จากเดิม 3.8%) และดัชนีชี้นำเศรษฐกิจในงวด 1Q58 ยังไม่มีสัญญานฟื้นตัวที่ดีนัก ขณะที่ในปี 2559 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 3.5% โดยกำหนดอัตราเงินเฟ้อสิ้นปีที่ 1% ภายใต้สมมติฐาน ราคาน้ำมันดิบไปจะขึ้นไปแตะที่ 70 เหรียญฯต่อบาร์เรล
ขณะที่คาดว่า ดอกเบี้ยนโยบายสุทธิปัจจุบัน (ดอกเบี้ยนโยบาย ลบ เงินเฟ้อ) ยังมีแนวโน้มบวกเพิ่มขึ้นเกิน 2% ทำให้มีโอกาสสูงที่ กนง. อาจจะลดดอกเบี้ยฯ ลงเพิ่มเติม หลังจากที่ลดลงไปแล้ว 1 ครั้ง 0.25% เหลือ 1.75% เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา

หน่วยงาน คาดการณ์ GDP ปี 58 (ใหม่) (เดิม)
สศค. 3.7% 3.9%
สภาพัฒน์ 3-4% 3.5-4.5%
DBS 3.6% 3.6%
ASP 2.5% 3.5%
FSS 3% 3.8%
KTB 3–3.5 % 3.9%
บลจ.วรรณ 2.5-3% 3-3.8%
ที่มา : eFinanceThai.com รวบรวม

** โบรกฯมองจีดีพี Q1/58 ต่ำกว่าคาดกดดัน Set Index
บทวิเคราะห์ บล.ธนชาต ระบุว่า การส่งออกที่อ่อนแอส่งผลให้ GDP 1Q15 ขยายตัว +3.0% อ่อนแอกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ +3.3-3.4% อย่างไรก็ดี ถ้าพิจารณาจากการบริโภค และการลงทุนทั้งภาครัฐ และเอกชน จะเห็นว่ามี Momentum ดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตั้งแต่ 4Q14 ที่ผ่านมา และคาดว่าการเบิกจ่ายเงินงบประมาณที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น หลังรัฐบาลใช้ ม.44 แทนกฎอัยการศึก อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเติบโตต่อเนื่อง จะเป็นปัจจัยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป ประกอบกับสภาพคล่องในประเทศที่อยู่ในระดับสูงจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลต่อเนื่องตั้งแต่ ม.ค.-มี.ค. และดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำต่อไป
แนะนำ “ซื้อ” กลุ่มหุ้น Top Picks ใน Tactical Portfolio อย่าง AOT, BDMS BLA ICHI ROBINS SAMART SCC BCP INTUCH และ EA โดยเฉพาะในกรณีที่ SET ปรับลดลงมาที่แนวรับ 1,500 จุด
บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ระบุว่า Set Index มีความเสี่ยงด้าน Downside เพิ่มขึ้น หลัง GDP ไตรมาสแรกอยู่ที่ 3.0% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดไว้เล็กน้อยที่ 3.4% ระยะต่อไปอาจเห็นการปรับประมาณการเศรษฐกิจและผลประกอบการลงอีก โดยล่าสุดสภาพัฒน์ได้ปรับประมาณการ GDP ปีนี้ลงเหลือ 3 – 4% จาก 3.5-4.5% ยังไม่เห็นแรงซื้อกลับอย่างจริงจังของสถาบัน และต่างชาติ นอกจากนี้ยังเห็นต่างชาติขายหนักในตลาดพันธบัตรอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ระดับ Yield ของพันธบัตร 10 ปี ปรับขึ้นมาที่ 2.86% เทียบกับช่วงก่อนลดอัตราดอกเบี้ยที่ 2.54% กลยุทธ์เน้นทยอยขายตามแนวต้าน แล้วรอตั้งรับจะดีกว่า บ่ายนี้มองกรอบ 1505 – 1520 ซึ่งหากผ่านแนวต้านไปได้ มองเป้าที่ 1550 จุดแต่ประเมินโอกาสเกิดขึ้นค่อนข้างน้อย

**FSS หั่น SET Target ปีนี้เหลือ 1,560 จุด -กำไร บจ.อ่อนแอกว่าคาด
บทวิเคราะห์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส (FSS) ระบุว่า ฝ่ายวิเคราะห์ฯ ปรับ SET Target ลงเหลือ 1,560 จุด จากเดิม 1,680 จุด อิง PE 16 เท่า (+1.5SD) จากการปรับประมาณการการเติบโตของ EPS ปี 2015 ลงเหลือ 28% Y-Y จากเดิม 33% Y-Y จากกำไรของบจ.ที่อ่อนแอกว่าคาด ปรับลด GDP ปีนี้ลงเหลือ 3.0% จากเดิม 3.8% แต่กรณีดีสุดหากภาครัฐเร่งให้มีการประมูลโครงการขนาดใหญ่ในช่วงที่เหลือของปีและ Fed เลื่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปเป็นปีหน้า EPS growth ในปีนี้มีโอกาสขยับขึ้นเป็น 30% Y-Y และ SET Target มีโอกาสปรับขึ้นเป็น 1,620 จุด
ทั้งนี้ผลประกอบการ 1Q15 สะท้อนเศรษฐกิจที่ฟื้นช้ากว่าคาดมาก หากไม่รวมกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีซึ่งมีผลขาดทุนจากสต็อกน้ำมันดิบที่ผันผวนตามราคาน้ำมันในตลาดโลก กำไรปกติของหุ้นใน FSS Coverage ใน 1Q15 +8.3% Q-Q (กลุ่มท่องเที่ยวเป็นกลุ่มหลักที่ช่วยผลักดัน) และ +11.5% Y-Y (จากฐานต่ำใน 1Q14 ที่มีเหตุการณ์ทางการเมือง) แต่เป็นกำไรที่ไม่มีคุณภาพเพราะเกิดจากการลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย แต่ข้อดีคือกำไรใน 1Q15 น่าจะเป็นจุดต่ำสุดของปี การฟื้นตัวจะดีขึ้นใน 2H15
โดยตลาดคาด GDP 1Q15 +3.3% Y-Y, +0.5% Q-Q ค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าแม้ GDP อาจต่ำกว่าคาด เพราะตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐในระยะหลังไม่ค่อยดีนัก และหากต่ำกว่าคาด อาจทำให้กนง.ปรับดอกเบี้ยลงอีกในการประชุม 10 มิ.ย. ล่าสุดเราปรับ GDP ปีนี้เหลือ 3% จากเดิม 3.8%

** บลจ.วรรณ มองสวนทาง ลุ้นหุ้นรีบาวน์ 1,700 จุด ในครึ่งปีหลัง
ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 2/58 จะยังซบเซา หลังภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังทรุดต่อเนื่อง โดย บลจ.วรรณ ปรับลดคาดการณ์จีดีพีลงจาก 3-3.8% เหลือ 2.5-3% ในปีนี้??อย่างไรก็ตาม มองว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยมีโอกาสรีบาวน์ในครึ่งปีหลัง ซึ่งภาครัฐต้องเร่งฟื้นความเชื่อมั่น และ การลงทุนขนาดใหญ่ ที่จะทำให้ไตรมาส 3 ตลาดหุ้นไทย จะสามารถฟื้นตัวดีขึ้นได้ โดยดัชนีมีโอกาสทดสอบ 1,600-1,650 จุด
สำหรับกำไรของบริษัทจดทะเบียนในปีนี้มองว่าจะเติบโต 10-20% โดยครึ่งปีแรกมองว่าได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ซึ่งกลุ่มที่ยังมีผลประกอบการที่ดีประกอบด้วย พลังงานอย่าง PTT PTTGC เพราะได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมัน กลุ่มสื่อสาร เพราะมีประเด็น 4G กลุ่มก่อสร้างและอสังหาที่ได้ประโยชน์จากการลงทุนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้า เช่น ANAN QH CPN SCC TPIPL TASCO
ดร.วิน กล่าวว่า ในระยะสั้นตลาดหุ้นไทยอาจปรับตัวผันผวน แต่เชื่อว่าตลาดหุ้นไทยจะสามารถพลิกกลับมาฟื้นตัวได้จากปัจจัยพื้นฐานที่ทยอยฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง หากภาครัฐสามารถดึงความเชื่อมันของนักลงทุนกลับมาได้ โดยเฉพาะการเร่งผลักดันการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งแนวโน้มการส่งออกที่จะฟื้นตัวได้ดีขึ้นจากอานิสงส์ของค่าเงินบาทที่มีทิศทางอ่อนค่าลง ซึ่งมองว่าดัชนี SET จะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,400-1,670 จุด และมีโอกาสปรับตัวขึ้นทดสอบ 1,700 จุด ได้ในช่วงครึ่งปีหลัง



 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com