April 20, 2024   4:46:18 PM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > หุ้นส่อหลุด1500จุด-แนะชะลอลงทุน
 

thaihoon
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 14,583
วันที่: 17/03/2015 @ 08:35:40
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

วงการชี้หุ้นไทยยังไม่จบรอบขาลง เตือนอย่าแพนิก แม้วานนี้ร่วงหนัก 30 จุด เหตุเป็นไปตามกลไกตลาด หลังผิดหวังเม็ดเงินคิวอียุโรปเข้าไทยน้อย และภาพรวม ศก.ไทยที่อ่อนแอ ขณะที่พี/อีตลาดแพงกว่าเพื่อนบ้าน โบรกฯ ต่างชาติออกบทวิเคราะห์แนะลดน้ำหนักลงทุนตลาดหุ้นไทย ขณะที่ทางเทคนิคมีแนวรับสำคัญ 1530 จุด หากหลุดเตรียมพบกันด่านถัดไปที่ 1500 จุด และ 1487 จุด ช่วงนี้ควรกระชับพอร์ต-จำกัดเงินที่ใช้เก็งกำไร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยวานนี้ ปรับลงแรง โดยร่วงมากสุดเกือบ 30จุด ระหว่างวันทำจุดต่ำสุดที่ 1512.17จุด ลดลง 29.38 จุด และปรับขึ้นไปสูงสุดที่ 1535.90 จุด หรือเพิ่มขึ้น 5.65จุด ก่อนจะปิดตลาดที่ 1515.57 จุด ลดลง 25.98 จุด หรือ 1.69% มูลค่าการซื้อขาย 4.53 หมื่นล้านบาท นักลงทุนสถาบันขายสุทธิเกือบ 2 พันลบ.ตามด้วยพอร์ตโบรกเกอร์ขายอีก 555ลบ.ขณะที่ต่างชาติ และนักลงทุนรายย่อยเป็นฝ่ายซื้อสุทธิ 711 ลบ.และ1.8พันลบ.ตามลำดับ


*** คาดวันนี้ร่วงต่อ แนวรับ 1500-1487จุด

นายเจริญ เอี่ยมพัฒนธรรม รองกรรมการผู้จัดการ บล.เคทีซีมิโก้ เปิดเผยว่า ดัชนีหุ้นไทยวานนี้ (16มี.ค.)ปรับตัวลงแรง เนื่องจากไร้ปัจจัยบวกใหม่เข้ามาสนับสนุนการลงทุน อีกทั้งยังเจอแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจที่ส่อแววชะลอตัว การฟื้นตัวช้ากว่าคาดการณ์ หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญต่าง ๆ ออกมาชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด
ส่วนทางเทคนิค ดัชนีฯ หลุดจุดต่ำสุดครั้งก่อนที่ระดับ 1,520 จุด ถือว่าส่งสัญญาณไม่ดี นักลงทุนจึงขายเพื่อลดความเสี่ยงออกมา ขณะที่ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ทั่วโลกแกว่งตัวออกด้านข้าง (Sideway) เพื่อรอดูความชัดเจนผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)ต่อท่าทีการส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเริ่มมีแรงกังวลว่าเฟดน่าจะส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าคาดการณ์เดิม ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะทำให้กระแสเงินทุนไหลกลับเข้าสหรัฐฯ เนื่องจากมีแรงจูงใจในการลงทุนมากกว่า
สำหรับวันนี้(17 มี.ค.)คาดหุ้นไทยแกว่งตัวลงต่อ ด้วยแรงกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจไทยชะลอตัว ฟื้นตัวช้ากว่าที่ควรจะเป็น อีกทั้งนักลงทุนผิดหวังต่อกระแสเงินทุนนักลงทุนต่างชาติ ที่คาดว่าน่าจะเห็นเม็ดเงินส่วนหนึ่งเข้ามาลงทุนในหุ้นไทย หลังจากที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB)เริ่มใช้มาตราการ QE ตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค.58แต่จากข้อมูลการซื้อขาย จะเห็นว่า นักลงทุนต่างชาติสลับซื้อขายสุทธิ ไม่เห็นแรงซื้ออย่างชัดเจน ซึ่งน่าจะเป็นผลจาก ภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังอ่อนแอ และด้านการเมือง ยังคงมีกฎอัยการศึก จึงไม่จูงใจต่อการลงทุนเท่าที่ควร
กลยุทธ์ สำหรับนักลงทุน แนะถือเงินสด ส่วนนักเก็งกำไร เป็นจังหวะของการเก็งกำไรในรูปแบบ ขึ้นขาย-ลงซื้อ พร้อมประเมินแนวรับ 1487-1500 จุด แนวต้าน 1520-1540 จุด

*** โบรกฯ ฝรั่งลดน้ำหนักหุ้นไทย-แนะกระชับพอร์ต
นายวิกิจ ถิรวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการสายงานวิจัยลูกค้าบุคคล บล.บัวหลวง เปิดเผยกับ "สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย"ว่า การที่ตลาดหุ้นไทยปรับลงแรงในวันนี้ นักลงทุนไม่ควรตื่นตระหนัก เพราะเป็นการปรับลงตามกลไกตลาดตามปกติ ทั้งในทางเทคนิคและทางพื้นฐาน โดยในทางเทคนิค ดัชนีฯ SET หลุดแนวรับสำคัญบริเวณเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน หรือที่ระดับ 1530 จุด ลงมาทำให้มีแรงขายทำกำไรตามออกมา
"ดัชนีหลุดแนวรับบนเส้นค่าเฉลี่ย 200 วันที่ 1530 จุด เลยมีแรงขายออกมา เพราะถือว่าหลุดแนวรับนี้เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว ที่มีข่าวลือออกมาในช่วงนั้น แล้วทำให้หุ้นลงแรงไปถึง 140 จุด และหุ้นคงจะเป็นขาลงสักพัก จนกว่าจะถึงจุดเปลี่ยน" นายวิกิจ กล่าว
ส่วนในทางพื้นฐาน จะเห็นได้ว่า ตลาดหุ้นไทยเริ่มแพงเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในภูมิภาค ซึ่งที่ผ่านมาหลายโบรกฯ ต่างชาติก็ออกมาปรับลดน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ไม่ว่าจะเป็นค่ายมอร์แกนสแตนเลย์ เครดิตสวิต หรือค่ายโนมูระ ในขณะที่โบรกฯ ของไทยเองต่างก็พูดไปในทำนองเดียวกันว่าหุ้นไทยแพง

*** มองจุดน่าสนใจค่าพี/อี 13-14เท่า
นายวิกิจ กล่าวต่อว่า ดัชนีฯ SET คงจะปรับลงต่อไปอีกสักพัก จนกว่าจะถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ซึ่งน่าจะเป็นระดับค่าพี/อี ประมาณ 13-14 เท่า หรือที่ดัชนีฯ บริเวณ 1400 จุดกลางๆ ช่วงนั้น จะเริ่มเป็นที่น่าสนใจของนักลงทุนในการที่จะกลับเข้ามาซื้อ เพราะเป็นระดับพี/อี ที่จูงใจ และจะทำให้อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลเพิ่มมากขึ้น คุ้มค่ากับการเข้าซื้อเพื่อหวังรับเงินปันผล ส่วนจะเป็นช่วงเวลาใดที่จะได้เห็นดัชนีฯ บริเวณ 1400 จุดกลางๆ ขึ้นอยู่กับแรงขายปรับพอร์ตว่าจะมาก หรือช้าเร็วเพียงใด
"หุ้นลงแรงวันนี้ เป็นไปตามกลไกตลาด เพราะว่ามูลค่าพื้นฐานของหุ้นแพงไป เมื่อเทียบกับตลาดภูมิภาค โบรกฯ ต่างชาติก็ออกมาลดน้ำหนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยมาตลอด วันนี้ดูภูมิภาคลงเหมือนกัน แต่ไม่ลงแรงเท่าเรา เพราะต่างชาติเขามองว่าหุ้นไทยแพงกว่าภูมิภาคด้วยกัน แต่ไม่ใช่เรื่องที่น่าตกใจ มันลงตามที่มันควรจะลงอยู่แล้ว ตามกลไกตลาด"นายวิกิจ กล่าว
นายวิกิจ กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว กลยุทธ การลงทุนในช่วงนี้ แนะนำให้นักลงทุนกระชับพอร์ต ซึ่งหมายความว่า ให้ทยอยขายหุ้นที่เต็มมูลค่า เช่น AOT SCC เป็นต้น ส่วนหุ้นที่เก็งกำไร แนะนำให้จำกัดเม็ดเงินในการเล่นเก็งกำไร ประเมินแนวรับถัดไป 1495-1488 จุด แนวต้านที่ 1530-1520 จุด

*** ชูกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ HANA เด่น
นายวิชนันท์ ธรรมบำรุง นักวิเคราะห์ทางเทคนิค บล.ธนชาต เปิดเผยว่า แนวรับถัดไปของดัชนีฯ SET อยู่ที่ 1500-1480 จุด แนวต้านที่ 1550-1520 จุด โดยแนวโน้มทางเทคนิคยังเป็นทิศทางปรับลง แนะนำให้นักลงทุนลดพอร์ต หากดัชนีฯ หลุดแนวรับ 1520 จุด ให้ลดพอร์ต แต่ถ้ายืนเหนือ 1520 จุดได้ก็ค่อยทยอยเพิ่มพอร์ตการลงทุน
สำหรับหุ้นที่แนะนำ คือ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เห็นได้จากวันนี้หุ้นกลุ่มดังกล่าวแข็งแกร่งกว่าตลาดหุ้นโดยรวม เนื่องมาจากรับอานิสงส์ภาพรวมเศรษฐกิจของสหรัฐ และยุโรปฟื้นตัว ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ส่งออกได้ดีขึ้น ประกอบกับเงินบาทที่อ่อนค่า จะยิ่งบวกต่อผู้ประกอบการส่งออกที่ขายสินค้าเงินได้เงินสกุลดอลลาร์ เพราะจะแปลงกลับมาเป็นบาทได้มากขึ้น ซึ่งวันนี้จะเห็นว่าหุ้นกลุ่มนี้บวก นำโดย HANA CCET SVI และ DELTA

เช่นเดียวกับ บล.เอเซียพลัส ที่มีมุมมองเชิงบวกต่อ HANA มากขึ้น หลังจากได้เข้าร่วม Analyst Meeting เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เนื่องจากธุรกิจหลักของ HANA จะเน้นผลิตภัณฑ์ IC (แผงวงจรไฟฟ้ารวม)เพื่อผลิตเซ็นเซอร์ที่ใช้ใน Smartphone ซึ่งถือว่าเป็นอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย (ตามการเติบโตของผู้ใช้โทรศัพท์ Smartphone low-end) รองลงมาเป็นการผลิต IC เพื่อผลิตเซ็นเซอร์ ที่ใช้ในกลุ่มยานยนต์ ซึ่งมีแนวโน้มฟื้นตัวในหลายตลาดฯ และเช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ PCBA (แผ่นวงจรพิมพ์) จะเติบโตอย่างมาก ตามผลิตภัณฑ์ Smart phone และยานยนต์ รวมถึงผลิตภัณฑ์ในกลุ่มการแพทย์ด้วย
เพื่อรองรับการเติบโตของลูกค้าดังกล่าว HANA เตรียมขยายกำลังการผลิตทั้งจากโรงงานผลิตเดิมและโรงงานใหม่ 3 แห่ง เพื่อรองรับคำสั่งซื้อเพิ่มเติม และจะสามารถเริ่มดำเนินการผลิตหรือผลิตได้เต็มที่ทั้งปีในปี 2558 บวกกับเงินบาทที่อ่อนค่ากลับมายืนบริเวณ 32.80–33 บาท ใกล้เคียงกับคาดการณ์ของฝ่ายวิจัยที่ 33 บาท/เหรียญฯ โดยสรุปในปี 2558 คาดว่าแม้กำไรสุทธิจะอยู่ที่ 2.65 พันล้านบาท ลดลงจาก 3.4 พันล้านบาทในปี 2557 ซึ่งมีรายการพิเศษคือ เงินประกันภัยรับ แต่หากพิจารณาเฉพาะกำไรจากการดำเนินงานคาดว่าจะเติบโตกว่า 36% มาอยู่ที่ 2.65 พันล้านบาท และ เติบโตต่อเนื่องราว 14% ในปี 2559
และหากพิจารณาข้อมูลพื้นฐานพบว่า HANA(FV@B48)ถูกสุดในกลุ่ม ไม่ว่าจะพิจารณาค่า PER ต่ำเพียง 11.84 เท่า มี PBV 1.6 เท่า มีเงินปันผล หรือ dividend yield 4.49% และราคาหุ้นมี upside 23% ขณะที่ราคาหุ้นจากต้นปีจนถึงปัจจุบันไม่เปลี่ยนแปลงจากปลายปี 2557 ส่วนทางด้านของ KCE(FV@60)ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมากถึง 75.8% จากต้นปีจนถึงปัจจุบัน (ytd)จนทำให้มี upsideเพียง 3%จึงแนะนำให้ switch ไปลงทุนใน HANAแทน
เช่นเดียวกับ DELTA (FV@B78)แม้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นเล็กน้อยราว 4% ytd แต่พบว่ามี upside เพียง 6.8% ขณะที่มีค่า PER 12.6 เท่า มี PBV 2.97เท่า แต่มีจุดเด่นที่เงินปันผล หรือ dividend yield สูงถึง 4.52% จึงแนะนำเพียงถือรอรับเงินปันผลเท่านั้น

*** แนะเลือกหุ้น PERต่ำ-ปันผลสูง
บล.เอเซียพลัส ระบุว่า นับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน SET ให้ผลตอบแทนเพียง 3% ซึ่งถือว่า underperform มากเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในกลุ่ม TIP คือ ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย เพิ่มขึ้น 4.2% และตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ เพิ่มขึ้น 7.8% หลังจากปี 2557 ที่ตลาดหุ้น TIP ให้ผลตอบแทนเป็นลำดับต้นๆ ของโลก กล่าวคือ อินโดนีเซีย 22% ฟิลิปปินส์ 19% และตลาดหุ้นไทย เพิ่มขึ้นกว่า 15%
ทั้งนี้ เมื่อแยกเป็นรายกลุ่มฯ ในปี 2557 พบว่ากลุ่มที่ให้ผลตอบแทนชนะตลาด มักจะกระจุกตัวในกลุ่ม Domestic เป็นหลัก ได้แก่ โรงพยาบาล 48%, กลุ่มขนส่ง 38% ธุรกิจการเงิน 30%,ธนาคารพาณิชย์ 30%, รับเหมาฯ 35%,กลุ่มชิ้นส่วนฯ เพิ่มขึ้น 30%, อสังหาฯ 23%,ไอซีที 21% วัสดุก่อสร้าง 16% ตรงข้ามกับ กลุ่ม Global โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน และปิโตรฯ ได้รับผลกระทบจากการขาดทุนสต็อกน้ำมัน ส่งผลให้ผลตอบแทนติดลบ 2% และ ติดลบ 24% ตามลำดับ
ส่วนในปีนี้ พบว่า มีเพียงบางกลุ่มเท่านั้นที่ outperform ตลาดต่อเนื่องจากปีที่แล้ว อาทิ ธุรกิจการเงิน –ลิสซิ่ง ตั้งแต่ต้นปีปรับขึ้นไปแล้วกว่า 29%ytd โดยคาดว่าได้ปัจจัยหนุนจากวงจรดอกเบี้ยขาลงรอบใหม่ (กนง.ประกาศลด ดอกเบี้ย 25 bpsเมื่อช่วงกลางเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา และมีความเป็นไปได้ที่จะลดดอกเบี้ยลงอีก 0.25% ในการประชุมในช่วงที่เหลือของปีนี้)ตามมาด้วย กลุ่มวัสดุก่อสร้าง เพิ่มขึ้น 18%ytd หลายบริษัทได้รับปัจจัยหนุน ต้นทุนพลังงานที่ลดลงราคาน้ำมันโลก , กลุ่มรับเหมาฯ เพิ่มขึ้น 16%ytd,โรงพยาบาล เพิ่มขึ้น 12% และ กลุ่มชิ้นส่วนฯ เพิ่มขึ้น 14%
ตรงข้ามกับกลุ่มที่ขึ้นน้อยกว่าตลาดในปีนี้ คือ กลุ่มไอซีที โดยลดลง 1% จากความกังวลต่อการเลื่อนประมูล 4G, กลุ่มค้าปลีก ลดลง 4% เนื่องจากกำลังซื้อของภาคครัวเรือนที่ยังไม่ฟื้นตัว ส่วน กลุ่ม ธ.พ.,พลังงาน และ อสังหาฯ ปีนี้ให้ผลตอบแทนใกล้เคียงตลาด ที่ 3%ytd
กลยุทธ์การลงทุน ในสถานการณ์ที่ดัชนีหุ้นผันผวนจากปัจจัยกดดันจากภายนอก และปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ มีเพียงปัจจัยเดียวที่ถือว่ายังคงหนุนตลาดคือเรื่องสภาพคล่องและโอกาสการลดดอกเบี้ยในประเทศยังมีอยู่ จึงแนะนำให้เลือกหุ้นที่ได้ประโยชน์จากภาวะดอกเบี้ยขาลง พร้อมกับมี PER ต่ำ และเงินปันผลสูง
ได้แก่ กลุ่มลิสซิ่ง ยังชอบ ASK(FV@B 31.10) ที่ได้ประโยชน์มากสุด โดยมี ซึ่งมี EPS growth สูงถึง 25.46% Expected PER 9.4 เท่า เงินปันผลสูง 7.45% และ upside 33.28% และเงินปันผล และกลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัย คือ SPALI (FV@B 31.96)ซึ่งมี EPSgrowth สูงถึง 22.5% Expected PER 6.7 เท่า เงินปันผลสูง 6.08% และ upside 50% จึงเลือกเป็นหุ้นเด่น



 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com