April 25, 2024   3:04:50 PM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > กนง.เมินหั่นดบ.คุมฟันด์โฟลว์
 

thaihoon
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 14,583
วันที่: 29/01/2015 @ 08:36:25
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

กนง.เสียงแตก 5:2 คงดอกเบี้ยอาร์พี หรือดอกเบี้ยนโยบายที่ 2% มองดอกเบี้ยระดับนี้ยังเหมาะสมที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งในปัจจุบันและระยะต่อไป อีกทั้งไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงิน ขณะที่เงินเฟ้อแม้ต่ำ แต่ไม่ถึงขั้นเงินฝืด ย้ำชัดจะใช้นโยบายการเงินเป็นมาตรการสุดท้าย เพื่อคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย เหตุมีเครื่องมืออื่นให้ใช้ได้อยู่ ด้านธนาคารกลางสหรัฐฯ คงดอกเบี้ยตามที่ตลาดคาด แต่อาจส่งสัญญาณปรับขึ้นกลางปีนี้ ถือเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 9 ปี โบรกฯ คาดกลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัย รถยนต์ ค้าปลีก-ค้าส่ง และลิสซิ่ง รับอานิงสงส์มากสุด หากดอกเบี้ยลด


*** กนง.คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2% ตามคาด
นายเมธี สุภาพงษ์ เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)แถลงผลการประชุม กนง.ในวันที่ 28 มกราคม 2558 ว่า คณะกรรมการฯ มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงคงให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.00 ต่อปี โดย 2 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 ต่อปี
ประเด็นที่คณะกรรมการฯ ให้ความสำคัญในการตัดสินใจนโยบาย มีดังนี้? เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 ฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน โดยเป็นผลจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้น ช่วยชดเชยอุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัวต่ำกว่าคาดเล็กน้อย
ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยจะยังมีแนวโน้มฟื้นตัว โดยราคาน้ำมันที่ปรับลดลงมากจะช่วยให้การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศเข้มแข็งขึ้น อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกยังมีอยู่ ทั้งจากการฟื้นตัวช้าของคู่ค้าสำคัญหลายประเทศ ปัญหาการเมือง และการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศหลักที่มีทิศทางแตกต่างกันซึ่งอาจทำให้ตลาดการเงินโลกมีความผันผวน

*** เงินเฟ้อต่ำ แต่ไม่เข้าขั้นเงินฝืด
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงตามราคาพลังงาน และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะหลุดขอบล่างของกรอบเป้าหมายในปีนี้ แต่ไม่ถือเป็นภาวะเงินฝืด เพราะอุปสงค์ในประเทศยังขยายตัวและราคาสินค้าส่วนใหญ่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับน้ำมันไม่ได้ปรับลดลง ซึ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัว อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มจะปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ตามแนวโน้มราคาน้ำมันโลกเมื่ออุปทานและอุปสงค์ทยอยปรับตัวเข้าสู่สมดุล เสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ต้องติดตามคุณภาพของสินเชื่อครัวเรือนและการปรับตัวของราคาสินทรัพย์
ทั้งนี้ ในการตัดสินของคณะกรรมการฯ มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.00 ต่อปี กรรมการส่วนใหญ่ประเมินว่านโยบายการเงินปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ผ่อนปรนเพียงพอต่อการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อีกทั้งการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงิน ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องมานานและตลาดการเงินโลกมีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น
อย่างไรก็ดี กรรมการ 2 ท่านเห็นว่านโยบายการเงิน ควรสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเพิ่มเติม ในช่วงที่ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกมีมากขึ้น แรงกระตุ้นจากภาคการคลังยังต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผลชัดเจน และอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับต่ำมากไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงปรับสูงขึ้น

*** ยันไม่ใช้ดอกเบี้ยลดความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย
ในระยะต่อไป กรรมการเห็นพ้องถึงความจำเป็นที่นโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างชัดเจน ทั้งนี้ กรรมการจะติดตามพัฒนาการทางเศรษฐกิจและการเงินของไทยอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมต่อไป
สำหรับการดูแลความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย หลังจากหลายฝ่ายมีความกังวลจากกรณีที่ธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB ประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือ QE นั้น นายเมธี กล่าวว่า กนง.ยืนยันจะใช้มาตรการเรื่องนโยบายด้านดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือสุดท้ายในการจัดการแ เนื่องจาก กนง.มองว่า ธปท.มีมาตรการในการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายหลายมาตรการอยู่แล้ว ซึ่งคาดว่าจะเลือกนำมาใช้ตามความเหมาะสม
"ในที่ประชุมกนง.มีการพูดถึงการใช้มาตรการดอกเบี้ย แต่มองว่าน่าจะเป็นมาตรการสุดท้ายมากกว่า ส่วนมาตรการอื่นๆในการดูแลคงไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่อย่างไรก็ตามกนง.จะติดตามสถานการณ์ต่างๆอย่างใกล้ชิด"นายเมธี กล่าว
ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายห่วงเรื่องการเข้ามาเก็งกำไรค่าเงิน มองว่าไม่ใช่ประเด็นสำคัญเนื่องจากการไหลเข้าออกของเงินทุนเคลื่อนย้ายขณะนี้ยังปกติ ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบันยังเคลื่อนไหวไปตามปัจจัยพื้นฐาน

*** ผู้ส่งออกยังแข่งขันได้ บาทอ่อนไม่มาก-ไม่พบฟองสบู่อสังหาฯ
นอกจากนี้ เงินบาทที่อ่อนค่าลงน้อยกว่าสกุลอื่นๆ ในภูมิภาคและอาจส่งให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันนั้น ขณะนี้ได้มีการติดตามดูในเรื่องของดัชนีค่าเงินและมีการเทียบกับสกุลอื่นๆในภูมิภาค ซึ่งยืนยันว่าค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวตามปัจจัยพื้นฐาน และมองว่าอัตราแลกเปลี่ยนไม่ได้มีผลมากนักในเรื่องของการส่งออก
ขณะที่สถานการณ์ภาคอสังหาริมทรัพย์ นั้น ขณะนี้ยังไม่พบสัญญาณฟองสบู่ในภาคอสังหาฯตามที่หลายฝ่ายกังวล แม้จากการลงพื้นที่จะพบว่าเริ่มเห็นบางโครงการตามหัวเมืองจะไม่สามารถจบโครงการได้ แต่ในโครงการในกทม.และปริมณฑลยังเดินหน้าได้ปกติ แต่อย่างไรก็ตามธปท.จะติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิดต่อไป ส่วนปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนในปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณชะลอตัวลง เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวการบริโภคเริ่มปรับตัวดีขึ้น

*** วงการคาด เฟด ไม่ขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมรอบนี้

รายงานข่าวบนเว็บไซท์บลูมเบิร์กดอทคอม ระบุว่า นักวิเคราะห์คาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด จะยังคงส่งสัญญาณว่า เฟดจะยังคงให้คำมั่นว่าจะยังคงอดทนรอ โดยจะไม่เร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมที่จะมีขึ้นวันนี้(28 ม.ค.2558)แม้จะเป็นที่คาดหมายกันว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกนับแต่ 2006 จะเกิดขึ้นในปีนี้
'เฟดยังคงต้องการที่จะสื่อสารว่า เรากำลังอยู่บนแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น แต่ยังคงแสดงความกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดกับภูมิภาคต่างๆทั่วโลก'นายลี เฟอร์ริดจ์หัวหน้านักกลยุทธ์ ที่สเตทสตรีทคอร์ปในบอสตั้นกล่าว
ขณะเดียวกันนายเฟอร์ริดจ์คาดว่า ข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังบ่งชี้ถึงความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจอยู่บ้าง และคาดว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดจะยังคงไม่เกิดขึ้นต่อไปอีกอย่างน้อยในการประชุม 2 ครั้งหน้า หรือ ไม่เกิดขึ้นก่อนเดือนเมษายน


*** เฟดประกาศคงดบ.ใกล้ 0% จนถึงกลางปี - ชี้ศก.สหรัฐฯขยายตัวแข็งแกร่ง

รายงานข่าวจากต่างประเทศ เปิดเผยว่า วานนี้ (28 ม.ค.58) คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ลงมติในการประชุมด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ 10-0 เห็นพ้องให้คงอัตราดอกเบี้ยใกล้ 0% อย่าง น้อยจนถึงกลางปีนี้
โดยเฟดแถลงว่า ยังคงสามารถ"อดทนรอได้"ในการตัดสินใจกลับมาใช้นโยบายการเงินแบบปกติ โดยกำหนดเวลา ในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจที่ได้รับ
นางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด กล่าวในเดือน ธ.ค.ว่า การระบุว่า เฟดสามารถ"อดทนรอได้" หมายความว่า เฟด ไม่มีแนวโน้มที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุม 2 ครั้งข้างหน้า ซึ่งหากตีความเช่นนี้ หมายความว่า เฟดจะยังไม่ขึ้นอัตรา ดอกเบี้ยในการประชุม FOMC เดือนมี.ค.และเม.ย. แต่จะเปิดกว้างต่อการดำเนินการในการประชุมวันที่ 16-17 มิ.ย.ทั้งนี้ เฟดได้ตรึงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอยู่ในช่วง 0-0.25% ตั้งแต่เดือนธ.ค.2008 ในความพยายามเพื่อกระตุ้นการ ขยายตัวทางเศรษฐกิจ และเพิ่มการจ้างงาน
แถลงการณ์เฟดระบุว่า "กิจกรรมด้านเศรษฐกิจมีการขยายตัวในอัตราที่แข็งแกร่ง" ซึ่งเป็นการประเมินภาวะ เศรษฐกิจนับตั้งแต่การประชุมเดือนธ.ค. โดยถือเป็นการประเมินที่ดีขึ้นกว่าเดิมที่เฟดใช้คำว่า "ขยายตัวในอัตราปานกลาง" ใน ปีที่แล้ว นอกจากนี้ เฟดยังตั้งข้อสังเกตุว่า การจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างมาก และอัตราว่างงานได้ลดต่ำลง ส่วนอัตราเงินเฟ้อยังคง ปรับตัวต่ำกว่าเป้าหมายในระยะยาวที่เฟดกำหนดไว้

*** นักเศรษฐศาสตร์ คาด เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยกลางปีนี้
รายงานข่าวบนเว็บไซท์บลูมเบิร์กดอทคอม ระบุว่า นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ที่สำรวจความเห็นโดยบลูมเบิร์กคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในกลางปีนี้ แม้อัตราเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับต่ำก็ตาม โดยนักเศรษฐศาสตร์ 45 คนจากทั้งหมด 53 คนคาดว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนมิถุนายนนี้ หลังจากเฟดส่งสัญญาณในการประชุมครั้งก่อนว่า จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ ขณะที่ในการประชุมที่จะมีขึ้นสัปดาห์นี้คาดว่าจะส่งสัญญาณเกี่ยวกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเช่นเดียวกับการประชุมครั้งที่ผ่านมา
'เศรษฐกิจสหรัฐฯส่งสัญญาณอย่างต่อเนื่องว่า ผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤตแล้ว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่อยุ่ในระดับต่ำเป็นผลจากราคาน้ำมันที่ลดลง ซึ่งนั่นเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯอยู่แล้ว' นายจอห์น ไรดิ้งหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ที่อาร์ดีคิวอิโคโนมิกส์กล่าว

ด้าน เฟด เผย ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวมขยายตัวในระดับปานกลางถึงเล็กน้อย หลังการบริโภคยังขยายตัว ขณะเขตดัลลัสศก.ชะลอลงมากสุด รับพิษราคาน้ำมันดิ่ง รายงานข่าวบนเว็บไซท์บลูมเบิร์กดอทคอมระบุว่า รายงานภาวะเศรษฐกิจรายเขตของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟดบ่งชี้ว่า ภาวะเศรษฐกิจในเขตเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของประเทศขยายตัวในระดับปานกลางถึงระดับเล็กน้อย เนื่องจากการบริโภคยังขยายตัว ขณะที่เขตดัลลัสเป็นเขตเดียวที่เศรษฐกิจชะลอลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ลดลง ซึ่งเขตดัลลัสเป็นแหล่งผลิตน้ำมันที่สำคัญของประเทศ
'การใช้จ่ายผู้บริโภคเพิ่มขึ้นในเขตเศรษฐกิจส่วนใหญ่ แต่ยอดค้าปลีกขยายตัวได้เล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ยอดขายรถยนต์ขยายตัวในระดับปานกลางถึงระดับแข็งแกร่ง' ในรายงานของเฟดที่รวบรวมข้อมูลเศรษฐกิจช่วงก่อนวันที่ 5 มกราคมระบุ
ขณะที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯแจ้งว่า ยอดค้าปลีกในเดือนธันวาคมลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนเพิ่มขึ้น 3.2% ชะลอลงจากที่เพิ่มขึ้น 4.7%
'ภาวะเศรษฐกิจในหลายเขตส่งสัญญาณว่าจะขยายตัวได้ดีขึ้นในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า ขณะที่การจ้างงานในหลากหลายอุตสาหกรรมขยายตัวในระดับปานกลาง ส่วนแรงงานในระดับผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคได้รับแรงกดดันด้านรายได้อย่างมีนัยสำคัญ' ในรายงานดังกล่าวระบุ
ทั้งนี้ เฟดระบุว่า การใช้จ่ายผู้บริโภคในช่วงสุดสัปดาห์ขยายตัวในระดับไม่สูงนักเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนในเขตบอสตั้น ดัลลัส ฟิลาเดลเฟีย และคลีฟแลนด์ ขณะที่ยอดขายสินค้าและบริการในเขตแอตแลนต้าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ชิคาโก้อยู่ในระดับที่สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซานฟรานซิสโก้อยู่ในระดับที่คาด แคนซันต่ำกว่าที่ช่วงเดียวกันปีก่อน และนิวยอร์กชะลอลงอย่างมาก


*** กลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัย รถยนต์ ค้าปลีก-ค้าส่ง และลิสซิ่ง รับอานิงสงส์มากสุด หากดอกเบี้ยลด

บทวิเคราะห์ บล.เอเซียพลัส ได้นำเสนอผลบวก หากมีการลดดอกเบี้ย ต่อผู้ประกอบการในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะดีต่อ 4 อุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัย รถยนต์ ค้าปลีก-ค้าส่ง และลิสซิ่ง
กลุ่มอสังหาฯ:การโอนกรรมสิทธิ์ให้กับลูกค้าตามแผนงาน จะทำได้ง่ายขึ้น อัตราการปฎิเสธสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงิน น่าจะลดลง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้เป้าหมายการบันทึกรายได้ และกำไรที่ฝ่ายวิจัยคาดการณ์ไว้เป็นไปได้มากขึ้น ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2557 Backlog ของบริษัทจดทะเบียน อยู่ที่ระดับประมาณ 2.4 แสนล้านบาท (90% เป็นโครงการคอนโดมิเนียม) ทั้งนี้หุ้น Top picks ของกลุ่มคือ SPALI(FV@B31.96) และ PS(FV@B40.52)
กลุ่มยานยนต์:คาดดอกเบี้ยที่ลดลง จะเอื้อต่อยอดขายรถยนต์ในประเทศไม่มาก เนื่องจากปัจจุบันดอกเบี้ยรถยนต์ใหม่อยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว โดยส่วนใหญ่อยู่ที่ 0-1% (พร้อมเงินดาวน์เฉลี่ย 20-25% ผ่อนชำระ 4-6ปี) แต่ปัจจัยที่ส่งผลกระทบมากกว่า คือ ความเข้มงวดในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น ทำให้มีลูกค้าจำนวนมากที่ไม่ผ่านเงื่อนไข และไม่สามารถซื้อรถได้ ด้านผลกระทบด้านต้นทุนทางการเงิน บริษัทในกลุ่มยานยนต์ภายใต้ coverage 6 บริษัทส่วนใหญ่ไม่มีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยระยะยาว มีเพียง SAT และ AH ที่ได้ผลประโยชน์เพียงเล็กน้อย เนื่องจากมี D/E ณ งวด 3Q57 ค่อนข้างต่ำที่ 0.35 และ 0.20 เท่า ตามลำดับ และประกอบไปด้วยหนี้สินที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่เป็นส่วนใหญ่
ค้าส่ง-ค้าปลีก :เชื่อว่าการลดดอกเบี้ยฯ จะส่งผลบวกในเชิงจิตวิทยา และถือเป็นปัจจัยบวกเรื่องที่ 2 ต่อเนื่องจากต้นทุนน้ำมันที่ลดลง ช่วยให้ภาพรวมต้นทุนการดำเนินงานของกลุ่มฯ แม้จะไม่มากนัก แต่ช่วยบรรเทาผลกระทบของด้านรายได้ที่ยังรับผลจากปัญหากำลังซื้อชะลอตัว ทั้งนี้ หากพิจารณาเป็นรายบริษัท พบว่ามีเพียง CPALL(FV@B53) ที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ย เนื่องจากมีหนี้สินสูงสุดในกลุ่ม
กลุ่มลีสซิ่ง :กลุ่มลิสซิ่ง เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคในระดับกลาง และ รากหญ้า จึงน่าจะได้รับผลบวกหากทิศทางดอกเบี้ยเป็นขาลง กล่าวคือ สินเชื่อที่คิดดอกเบี้ยกับลูกค้ามักเป็นอัตราเบี้ยคงที่ในสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับปริมาณธุรกรรมทั้งหมด ตรงกันข้าม กับต้นทุนการกู้ยืมของผู้ประกอบการ ส่วนใหญ่พึ่งพาภาระหนี้สินที่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว จึงได้ประโยชน์เต็มที่ในภาวะดอกเบี้ยขาลง

*** กลุ่มมีเดียส์-ขนส่ง-สื่อสาร-โรงแรม-เหล็ก ได้ประโยชน์รองลงมา

บทวิเคราะห์ บล.เอเซียพลัส ระบุต่อว่า นอกจาก 4 อุตสาหกรรม ดังกล่าวแล้ว อุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์รองลงมา ได้แก่ กลุ่มมีเดียส์ แนะนำหุ้นเด่น BEC(FV@B57)หากมีการลดดอกเบี้ย น่าจะช่วยให้ต้นทุนทางการเงินของกลุ่มนี้ลดลงตามไปด้วย
กลุ่มขนส่งทางอากาศ :การปรับลดดอกเบี้ย คาดดีต่อกลุ่มสายการบิน ด้วยลักษณะของธุรกิจที่มีการใช้เงินลงทุนสูง จึงทำให้ผู้ให้บริการสายการบินมีแนวโน้มได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาลง โดยเฉพาะ THAI ที่มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนสูงถึง 4.02 เท่า ขณะที่ AAV มีสัดส่วนเพียง 0.46 เท่า
กลุ่มสื่อสาร :เป็น sentiment เชิงบวกเท่านั้น คาดว่า ผลบวกของดอกเบี้ยขาลง จะเป็นเพียง Sentiment เชิงบวกต่อกลุ่มเท่านั้น โดยจะไม่มีผลกระทบต่อกำไรอย่างมีนัยสำคัญ พิจารณาจากโครงสร้างหนี้สิน คาดว่า THCOM, ADVANC, DTAC น่าจะ ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาลงมากสุด เพราะมีภาระดอกเบี้ย ที่เป็นดอกเบี้ยลอยตัวสัดส่วน 50% 60% และ 80% ตามลำดับ
กลุ่มโรงแรม :ได้ประโยชน์ดอกเบี้ยขาลงน้อย แม้กลุ่มโรงแรมมีโครงสร้างหนี้สินต่อทุนสุทธิประมาณ 1 เท่า แต่ส่วนใหญ่เป็นการกู้ยืมโดยมีดอกเบี้ยจ่ายคงที่ หรือคิดเป็นสัดส่วน 55% ของภาระหนี้ที่มีดอกเบี้ยทั้งหมด
อุตสาหกรรมเหล็ก :บริษัทที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาลงมากที่สุด คือกิจการที่โครงสร้างทางการเงินที่มีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยอยู่มาก เช่น SSI โดยมี Net Debt อยู่ที่ระดับ 5.1 หมื่นล้านบาท และ มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (DE Ratio) อยู่สูงถึง 11.5 เท่า



 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com