April 20, 2024   5:31:17 PM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > นับ 1 นาโนไฟแนนซ์-บจ. ตบเท้าชิงเค้ก
 

thaihoon
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 14,583
วันที่: 28/01/2015 @ 08:31:24
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

บจ. ตบเท้าชิงเค้กนาโนไฟแนนซ์หลัง คลัง-ธปท.คลอดแล้ว เผยแบง์ทำได้เลยส่วน นิติบุคคลอื่น ต้องมีทุนจดทะเบียน ไม่ต่ำกว่า 50 ลบ. มี D/E ไม่เกิน 7 เท่า หากเกินต้องปรับลดตามเกณฑ์ ภายใน 23 ม.ค. 59 ผู้สนใจยื่นเอกสารได้ตั้งแต่ 26 ม.ค. ที่ผ่านมา แย้มมีเอกชนแสดงความสนใจแล้ว 14 ราย ขณะที่ MTLS รับลูก จ่อยื่นขอพร้อมทำใน Q1/58 นี้ ปรับเพิ่มเป้ารายได้ตามทันที SAWAD-TK-JMT ประกาศยื่นขอด้วย ด้านนักวิเคราะห์เชื่อ MTLS ได้ผลบวกสูงสุดให้ราคาเป้าหมายใหม่ 22 บ.

**คลังออกประกาศเกณฑ์สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยได้ร่วมกันจัดทำมาตรการสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนรายย่อย (สินเชื่อ Nano-Finance) โดยอนุญาตให้มีนิติบุคคลประเภทใหม่ในระบบสถาบันการเงินไทย เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบอาชีพรายย่อย และกำหนดแนวทางการประกอบธุรกิจสินเชื่อ Nano-Finance ให้มีความเป็นธรรม ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค และแก้ไขปัญหาภาระดอกเบี้ยจากการกู้ยืมนอกระบบที่สูงจนเกินควร ซึ่งสรุปสาระสำคัญกฎหมายที่เกี่ยวข้องและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจสินเชื่อ Nano-Finance ได้ดังนี้
1. กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
1.1 ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 (เรื่อง สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ) ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2557 เพื่อกำหนดให้การประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับเป็นกิจการที่ต้องได้รับการอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมทั้งมอบอำนาจให้ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อดังกล่าว
1.2 ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดสถาบันการเงินและอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืม (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2557 ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2557 เพื่อกำหนดอัตรารวมสูงสุดของดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมที่ผู้ประกอบธุรกิจอาจเรียกเก็บรวมกันแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี (Effective rate) 1.3 ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สนส.1/2558 เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน ลงวันที่ 22 มกราคม 2558 เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขที่ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับต้องถือปฏิบัติ
2. หลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจสินเชื่อ Nano-Finance
2.1 ประเภทสินเชื่อที่จะกำกับดูแล กำหนดนิยามสินเชื่อที่จะกำกับดูแลประเภทใหม่ โดยใช้ชื่อว่า “สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ” ซึ่งหมายความถึง การให้กู้ยืมเงิน การรับซื้อ ซื้อลดหรือรับช่วงซื้อลดตั๋วเงิน หรือตราสารเปลี่ยนมืออื่นใด การให้เช่าซื้อ การให้เช่าแบบลีสซิ่งแก่บุคคลธรรมดาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปใช้ในการประกอบอาชีพที่ไม่มีทรัพย์หรือทรัพย์สินเป็นหลักประกัน โดยมีกระบวนการให้สินเชื่อที่ยืดหยุ่นสอดคล้องกับคุณลักษณะของกลุ่มลูกหนี้ เช่น ผู้ที่เริ่มต้นธุรกิจใหม่ เป็นต้น และมีวงเงินรวมสินเชื่อไม่เกินหนึ่งแสนบาทต่อลูกหนี้แต่ละราย
2.2 ผู้กำกับดูแล ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเป็นผู้กำกับดูแลสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ โดยมีหน้าที่ในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องถือปฏิบัติ และตรวจสอบการดำเนินงานของผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อ Nano-Finance
2.3 คุณสมบัติผู้ประกอบธุรกิจ เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนที่มีทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท โดยต้องยื่นขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังผ่านธนาคารแห่งประเทศไทย
2.4 ดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมใด ๆ โดยที่สินเชื่อ Nano-Finance เป็นสินเชื่อประเภทใหม่ที่มีกระบวนการให้สินเชื่อที่ยืดหยุ่นสอดคล้องกับคุณลักษณะของกลุ่มลูกหนี้ เช่น ผู้ที่เริ่มต้นธุรกิจใหม่ เป็นต้น ดังนั้น เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น แต่อยู่ในระดับที่ไม่เป็นภาระมากจนเกินควรต่อผู้บริโภค จึงกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจอาจเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมใด ๆ จากลูกหนี้รวมกันแล้วคิดเป็นอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Effective rate) ไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี
2.5 เงื่อนไขการดำเนินงานอื่น ๆ กำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานอื่น ๆ ให้ผู้ประกอบธุรกิจถือปฏิบัติ เช่น แนวทางการเรียกให้ชำระหนี้และการติดตามทวงถามหนี้ การปฏิบัติและจัดการเกี่ยวกับข้อมูลผู้บริโภค การปฏิบัติเมื่อมีข้อร้องเรียน เป็นต้น
3. การมีผลบังคับใช้
3.1 ประกาศกระทรวงการคลังทั้งสองฉบับตามข้อ 1.1 และ 1.2 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2558
3.2 ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยตามข้อ 1.3 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2558
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจจะประกอบธุรกิจสินเชื่อ Nano-Finance สามารถยื่นขออนุญาตประกอบธุรกิจผ่านธนาคารแห่งประเทศไทยได้ตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศในราชกิจจานุเบกษา(วันที่ 24 มกราคม 2558)
4. การสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ผู้ประกอบธุรกิจและประชาชนที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
4.1 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เบอร์โทรศัพท์ 02-273-9020 ต่อ 3288
4.2 ธนาคารแห่งประเทศไทย เบอร์โทรศัพท์ 1213

**ธปท.เผยนาโนไฟแนนซ์ แบงก์-ไฟแนนซ์ ไม่ต้องขออนุญาตก็เปิดได้/นอนแบงก์ต้องยื่นขอฯ ทุนจดฯ ไม่ต่ำกว่า 50 ลบ. D/E ไม่เกิน 7 เท่า
นายรณดล นุ่มนนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ หรือ สินเชื่อ Nano Finance มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2558 กำหนดให้การประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ เป็นกิจการที่ต้องได้รับการอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมทั้งมอบอำนาจให้ ธปท. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจดังกล่าว ซึ่ง ธปท. ได้ออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและนำลงในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 132 ตอนพิเศษ 20 ง แล้ว โดยมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2558 เป็นต้นไป
สรุปสาระสำคัญ คือ
1. สินเชื่อ Nano Finance : เป็นสินเชื่อที่ให้แก่บุคคลธรรมดา ในวงเงินกู้รายละไม่เกิน 100,000 บาท มีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ โดยมีกระบวนการให้สินเชื่อที่ยืดหยุ่นสอดคล้องกับคุณลักษณะของกลุ่มลูกหนี้ เช่น ผู้ที่เริ่มต้นธุรกิจใหม่ เป็นต้น และไม่มีหลักประกัน อัตราดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมทุกประเภทรวมกันไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี (Effective rate)
2 ผู้ประกอบธุรกิจ ได้แก่
2.1 ธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุน สามารถประกอบธุรกิจสินเชื่อ Nano Finance ได้ทันทีโดยไม่ต้องขออนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เนื่องจากเป็นธุรกรรมที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติธุรกิจธนาคารสถาบันการเงินอยู่แล้ว
2.2 ผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank) ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยยื่นคำขอรับอนุญาตผ่านธนาคารแห่งประเทศไทย
3. คุณสมบัติผู้ประกอบการ :
เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ที่มีทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท มีอัตราส่วนหนี้สินรวมทั้งสิ้นต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E Ratio)ไม่เกินกว่าร้อยละ 7 ในกรณีที่มีอัตราส่วนดังกล่าวเกินกว่าที่กำหนด จะต้องดำเนินการปรับลดให้อยู่ในอัตราที่ กำหนดภายในวันที่ 23 มกราคม 2559 (1 ปีนับแต่วันที่ประกาศ ธปท. มีผลบังคับใช้)
4. การยื่นขอใบอนุญาต :
ยื่นแบบฟอร์มตามที่ ธปท. กำหนด (สามารถ download ได้จากwww.bot.or.th) พร้อมกับเอกสารการพิจารณาอย่างน้อย ประกอบด้วย(1) สำเนาใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน(2) สำเนาหนังสือบริคณห์สนธิ(3) สำเนาข้อบังคับ(4) สำเนาทะเบียนผู้ถือหุ้น(5) สำเนาหนังสือรับรองกระทรวงพาณิชย์ฉบับล่าสุด(6) สำเนารายงานการประชุมของคณะกรรมการบริษัทที่มีมติเห็นชอบให้บริษัทประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ-2-(7) แบบรับรองคุณสมบัติของกรรมการ ผู้จัดการ หรือพนักงานผู้มีอำนาจในการจัดการ ได้แก่ กรรมการ ผู้จัดการ รองผู้จัดการ และผู้มีอำนาจลงนาม (ทุกรายตามที่ระบุในหนังสือรับรองบริษัท) พร้อมสำเนาบัตรประชาชน(8) นโยบายและแผนการดำเนินธุรกิจการให้สินเชื่อ รวมทั้ง แนวทางการคัดกรองลูกค้า การกำหนดอัตราดอกเบี้ยและวงเงิน กระบวนการติดตามทวงหนี้ และการรับผิดชอบต่อลูกค้ากรณีเกิดข้อร้องเรียน(9) ผังโครงสร้างองค์กร (โดยระบุรายชื่อกรรมการ ผู้จัดการ รองผู้จัดการ และผู้มีอำนาจลงนาม)(10) เอกสารแสดงฐานะทางการเงิน ได้แก่ สำเนาบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ (กรณีจัดตั้งบริษัทใหม่) หรืองบการเงินของบริษัทที่ผ่านการรับรองจากผู้สอบบัญชีปีล่าสุด (กรณีบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอยู่แล้ว)(11) รายชื่อ ประวัติการทำงานและคุณวุฒิของผู้สอบบัญชี
5. สถานที่ยื่นคำขอรับอนุญาต :
ตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2558 เป็นต้นไป- ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานใหญ่- สำนักงานภาคของธนาคารแห่งประเทศไทยทุกแห่ง ได้แก่ สำนักงานภาคเหนือ(เชียงใหม่) สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ขอนแก่น) และสำนักงานภาคใต้ (สงขลา)
ทั้งนี้ สามารถยื่นคำขอรับอนุญาตได้ในวันและเวลาทำการ คือ วันจันทร์ - วันศุกร์เวลา 8.30-16.30 น. เว้นวันหยุดราชการ โดยส่งคำขออนุญาตทางไปรษณีย์ลงทะเบียนมายังธนาคารแห่งประเทศไทย เลขที่ 273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200นอกจากนี้ เพื่อความสะดวกรวดเร็ว ผู้สนใจสามารถส่ง soft file เอกสารดังกล่าวมายังธนาคารแห่งประเทศไทยที่ email address : NanoAppFID@bot.or.th ก่อนและนำส่งเอกสารต้นฉบับมาตามช่องทางข้างต้นได้

**เผยมีเอกชนแสดงความสนใจแล้ววานนี้ 14 ราย
นายรณดล นุ่มนนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า มีผู้สนใจสอบถามข้อมูลการจัดตั้งนาโนไฟแนนซ์แล้ว ประมาณ 14 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็น Non-Bank และคาดว่าอีก 2-3 สัปดาห์ จะทราบรายชื่อว่ามีบริษัทใดยื่นขอใบอนุญาตเข้ามาบ้าง
   ขณะที่ประเมินว่า ผู้ให้บริการนาโนไฟแนนซ์แต่ละราย จะสามารถปล่อยกู้ ได้ไม่เกิน 400 ล้านบาท ซึ่งธปท.ต้องการให้เน้นปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ ที่ประสบปัญหาในการเข้าถึงสินเชื่อ

** MTLS เตรียมยื่นขอใบอนุญาต เริ่มดำเนินธุรกิจปลาย Q1/58 จ่อเพิ่มเป้ารายได้ตาม
นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) (MTLS) เปิดเผยกับ "สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย" ว่า บริษัทฯเตรียมยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจการให้สินเชื่อรายย่อยภายใต้การกำกับ (นาโนไฟแนนซ์) ต่อธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) โดยคาดว่าจะสามารถประกอบธุรกิจการให้สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ได้ประมาณไตรมาส 1/58 โดยบริษัทฯมีความพร้อมในการดำเนินธุรกิจดังกล่าวจากที่มีฐานลูกค้าจำนวน 600,000 ราย และจะมีการหาลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นจากการที่ลูกค้าเก่ามีการแนะนำญาติพี่น้องมายื่นกู้   
ด้านเงินทุนที่บริษัทฯจะนำมาปล่อยสินเชื่อดังกล่าว จะกู้จากสถาบันการเงินเนื่องจากปัจจุบันบริษัทฯมีอัตราหนี้สินต่อทุนเพียง 0.6 เท่า ซึ่งสามารถกู้ได้เป็นระดับหมื่นล้านบาท จากสถาบันการเงินที่สามารถให้ MTLS กู้ได้ถึง 3 เท่า  มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ต่ำเพียง 1.5% ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในอุตสาหกรรม
โดยในช่วงปลายไตรมาส 1/58 บริษัทฯจะมีการพิจารณาการปรับเพิ่มประมาณการรายได้และยอดปล่อยสินเชื่อปี 2558 เนื่องจากบริษัทฯจะมีการดำเนินธุรกิจการปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ จากเดิมที่คาดว่ารายได้และยอดปล่อยสินเชื่อจะเพิ่มขึ้น 30% หรือมียอดปล่อยสินเชื่อเพิ่มเป็น 1.65 หมื่นล้านบาท จากปี 2557 ที่มียอดปล่อยสินเชื่อประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท และมียอดปล่อยสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 7,000 ล้านบาท  
สำหรับกำไรสุทธิปี 2558 คาดว่าน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2557 เนื่องจากบริษัทฯมีต้นทุนทางการเงินในการปล่อยสินเชื่อที่ต่ำกว่าปี 2557 ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯมีต้นทุนทางการเงินเหลือเพียง 4% จากก่อนหน้านี้ที่บริษัทฯยังไม่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีต้นทุนทางการเงินอยู่ที่ 5.5%
"ขณะนี้บริษัทฯยังไม่สามารถประมาณการยอดปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ได้ว่าจะมีมูลค่าเท่าไหร่ เนื่องจากขอเวลาในการเจรจากับลูกค้าของบริษัทฯก่อนว่ามีความสนใจที่จะเข้ามาขอสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์มากน้อยแค่ไหน โดยคาดว่าภายในไตรมาส 1 น่าจะได้ข้อสรุปว่าบริษัทฯจะมีการปรับเพิ่มเป้าปล่อยสินเชื่อปี 2558 เท่าไหร่ และจะทำให้รายได้ของบริษัทฯน่าจะโตเพิ่มขึ้นกว่า 30% จากที่การปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์จะเข้ามาเป็นจุดเพิ่มทำให้รายได้ของ บริษัทฯเติบโตมากกว่าจากเดิมที่เคยคาดไว้" นายชูชาติ กล่าว
   นอกจากนี้ MTLS ได้มีการปรับเพิ่มการเปิดสาขาในปีนี้เป็น 170 สาขา จากเดิมที่จะเปิด 150 สาขา เนื่องจากบริษัทฯเห็นศักยภาพตลาดการปล่อยสินเชื่อมีแนวโน้มการเติบโตมากขึ้น ทั้งนี้บริษัทฯคาดว่าจะเปิดได้ครบ 170 สาขาภายในไตรมาส 1/58 ซึ่งในเดือน ม.ค. ได้เปิดสาขาไปแล้ว 49 สาขา

**SAWAD เตรียมขอใบอนุญาต เพิ่มความหลากหลายปล่อยสินเชื่อ
นางสาวธิดา แก้วบุตตา กรรมการ บริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD เปิดเผยกับ "สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย" ว่า บริษัทฯเตรียมยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ต่อธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ทันทีหากมีการเปิดให้ขอใบอนุญาต เนื่องจากจะเพิ่มความหลากหลายของการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้ามากขึ้น จากที่บริษัทฯปล่อยสินเชื่อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ สินเชื่อทะเบียนรถเก่าทุกประเภท สินเชื่อบ้านและโฉนดที่ดิน ฯลฯ เพื่อให้ลูกค้าของบริษัทฯเลือกใช้บริการสินเชื่อที่ตรงกับความต้องการ โดยปัจจุบันบริษัทฯมีฐานลูกค้าจำนวน 2 แสนราย
"บริษัทฯมีความสนใจทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ เพราะมีความพร้อม มีโมเดลในการทำธุรกิจดังกล่าวและไม่ต้องลงทุนเพิ่ม ส่วนการทำธุรกิจนาโนไฟแนนซ์จะทำให้บริษัทฯมีรายได้และมียอดปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นเท่าไหร่นั้น ยังไม่สามารถตอบได้ ซึ่งต้องรอให้บริษัทฯได้ทำธุรกิจดังกล่าวก่อน และขณะนี้ยังคงเป้าหมายรายได้และการปล่อยสินเชื่อปี 2558 โต 30% จากปี 2557 โดย 9 เดือนปี 2557 มียอดการปล่อยสินเชื่อคงค้างมูลค่า 7,000 ล้านบาท " นางสาวธิดา กล่าว

** TK-JMT เตรียมยื่นขอตั้งนาโนไฟแนนซ์
นายประพล พรประภา กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK เปิดเผยกับ "สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย" ว่า คาดว่าในเร็วๆ นี้ บริษัทฯ จะยื่นหนังสือขออนุญาตธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เพื่อประกอบธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ (Nano Finance)เนื่องจากเป็นธุรกิจที่บริษัทฯมีความสนใจอยู่แล้ว และไม่กังวลว่าจะมีหนี้เสียเพิ่มขึ้น เพราะบริษัทฯ ให้ความสำคัญ กับการควบคุมคุณภาพของลูกหนี้อยู่แล้ว โดยตั้งเป้าจะคุมหนี้เสียไม่ให้เกิน5%
" เราสนใจอยู่แล้ว คงจะขออนุญาต ธปท.ไปเร็วๆ นี้ คงจะยื่นเอกสารเข้าไป เกณฑ์คุณสมบัติเราครบ หนี้สินต่อทุนแค่ 1 เท่ากว่า และก็ไม่มีปัญหาเรื่องทุนจดทะเบียน ทุนจดทะเบียนเราตั้ง 500 ล้านบาท ซึ่งการทำนาโนไฟแนนซ์ก็จะช่วยเสริมรายได้หลักของเรา จากปัจจุบันที่ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์" นายประพล ระบุ
   ทั้งนี้ คาดว่าพอร์ตสินเชื่อปีนี้ จะโตตามอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ที่คาดโต 3-5%จากปีก่อน โดยบริษัทฯจะใช้ประโยชน์จากการมีสาขา 90 แห่งครอบคลุม 53 จังหวัด และปีนี้จะเปิดเพิ่มอีก ไม่เกิน 5สาขา นอกจากจะให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์และธุรกิจให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์แล้ว ยังสามารถรองรับการให้บริการธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ ที่บริษัทฯ กำลังจะขออนุญาตธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ดำเนินธุรกิจดังกล่าวด้วย
     ด้านนายปิยะ พงษ์อัชฌา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน)หรือ JMT ผู้ประกอบ ธุรกิจให้บริการติดตาม เร่งรัดหนี้ บริหารหนี้ด้อยคุณภาพ เปิดเผยกับ "สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย"ว่าบริษัทฯ จะขอดูรายละเอียด และเงื่อนไขของการประกอบธุรกิจนาโนไฟแนนซ์อีกประมาณ 2 สัปดาห์ ก่อนจะตัดสินใจว่า จะยื่นขออนุญาตธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เพื่อทำธุรกิจนี้หรือไม่ เพราะต้องดูให้ละเอียด โดยเฉพาะคุณสมบัติของลูกค้าบุคคลธรรมดาที่จะมาขอสินเชื่อว่า เสี่ยงมากหรือไม่ อย่างไร 
"เราก็สนใจอยู่ แต่คาดว่าคงภายใน 2 สัปดาห์ ขอดูรายละเอียดก่อนว่าจะยื่นขออนุญาตหรือไม่ เพราะเรากังวลเรื่องกลุ่มเป้าหมายที่จะมาขอกู้นาโนไฟแนนซ์ คือใคร อาจเป็นใครก็ได้ใช่หรือไม่ คนก่อสร้างหรือเปล่า ตรงนี้เรากังวล เพราะการตามหนี้เสียนี่ค่าใช้จ่ายมาก เช่น สมมุติเรามีลูกค้ากลุ่มเดิมเป็นพนักงานโรงงาน เขาเข้าเกณฑ์ดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคล แต่พอเรามาทำนาโนไฟแนนซ์ เราก็เลยเอากลุ่มนี้มาใช้ดอกเบี้ยแบบนาโนฯ มันจะผิดไหม อย่างไร เป็นต้น เราจึงขอดูรายละเอียดก่อน" นายปิยะกล่าว

**โบรกเพิ่มเป้าหมาย MTLS เป็น 22 บ. จาก 8 บ. รับผลบวกนาโนไฟแนนซ์
บล.ฟินันเซีย ไซรัส เปิดเผยว่า MTLS ขยายตัวเร็วกว่าที่เคยคาด ทั้งกาารขยายสาขาได้มากและเร็วกว่าที่เราคาด โดยภายใน 1Q15 จะเปิดสาขาทั้งสิ้น 170 สาขา มากกว่าที่เราคาดว่าจะทยอยเปิด 150 สาขาทั้งปี นอกจากนี้ ธุรกิจนาโนไฟแนนซ์จะเป็นขุมพลังมหาศาลของ MTLS จากสาขาของบริษัทที่มีจำนวนมากและกระจายทุกภาคทั่วประเทศ และฐานลูกค้าที่มีอยู่แล้วกว่า 6 แสนรายซึ่งกลุ่มรากหญ้า ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายตรงของสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ในขณะที่บริษัทมีการควบคุมคุณภาพหนี้ดีที่สุด โดยมี NPL ต่ำเพียง 1.5% จึงปรับคาดการณ์การเติบโตของลูกหนี้คงค้างในปีนี้จาก 46% เป็น 52% และโตปีละ 35% ในปี 2016-17 ทำให้กำไรสุทธิปี 2015 เติบโตก้าวกระโดด 64% Y-Y (เพิ่มจากเดิม 11%) และเฉลี่ย 36% Y-Y ในปี 2016-17 ปรับราคาเป้าหมายขึ้นเป็น 22 บาทจากเดิม 8 บาท แนะนำซื้อ
"ผู้ที่ได้ประโยชน์คือผู้ที่ทำธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่แล้วและปล่อยกู้ในอัตราต่ำกว่า 36% มีสาขาครอบคลุมพื้นที่กว้างเช่น MTLS, MIDA, ECL, AMANAH, AEONTS, KTC รวมถึงแบงก์ต่างๆ ทุกแห่ง โดยเฉพาะธนาคารกรุงศรีอยุธยา โดย MTLS อยู่ในตำแหน่งดีที่สุดในการขยายธุรกิจนี้ MIDA ดีรองลงมา ตามมาด้วย ECL ทว่าในส่วนของ AEONTS, KTC มีสัดส่วนหนี้สินต่อทุนสูง เป็นข้อจำกัดในการขยายธุรกิจ" นักวิเคราะห์ ระบุ

**เปิดตัวเลข D/E บจ. ชิงเค้กนาโนไฟแนนซ์
ผู้สื่อข่าวรวบรวมตัวเลขบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ ที่ประกอบการด้านเงินทุน (เรียงตามทุนจดทะเบียน) โดยทั้งหมดล้วนมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วเกินเกณ์ 50 ล้านบาท ทั้งสิ้น อีกทั้งอัตราหนี้สินต่อทุนหรือ ค่า D/E ณ สิ้นไตรมาส 3/57 (ยกเว้น MTLS ที่มีตัวเลขล่าสุดจากตลาดหลักทรัพย์เพียงไตรมาส 2/57 ) ต่ำหว่า 7 เท่าทั้งหมดดังนี้
บริษัท ทุนจดทะเบียนชำระแล้ว D/E
บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) KTC 2,578,334,070.00 บาท / 6.32 เท่า
บริษัท เมืองไทย ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) MTLS 2,120,000,000.00 บาท/ 2.5 เท่า (**ณ สิ้นไตรมาส2/57)
บริษัท ราชธานีลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) THANI 2,013,522,778.00 บาท/ 6.48 เท่า
บริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 จำกัด (มหาชน) SAWAD 1,000,000,000.00 บาท/ 1.40 เท่า
บริษัท พรีเมียร์เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด (มหาชน) PE 800,000,000.00 บาท/ 3.17 เท่า
บริษัท อะมานะฮ์ ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) AMANAH 950,000,000.00 บาท/ 1.56 เท่า
บริษัท ตะวันออกพาณิชย์ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ECL 594,776,000.00 บาท / 1.76 เท่า
บริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) GL 542,884,816.00 บาท/ 2.01 เท่า
บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) TK 500,000,000.00 บาท/ 1.36 เท่า
บริษัท ไอเอฟเอส แคปปิตอล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) IFS 470,000,000.00 บาท / 2.14 เท่า
บริษัท ภัทรลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) PL 447,369,569.00 บาท/ 5.01 เท่า
บริษัท ไมด้า ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ML 439,999,941.50 บาท/ 0.83 เท่า
บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) JMT 300,000,000.00 บาท/ 1.99 เท่า
บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) SINGER 270,000,000.00 บาท/ 1.21 เท่า
บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) AEONTS 250,000,000.00 บาท/ 5.56 เท่า
บริษัท กรุงไทยคาร์เร้นท์ แอนด์ ลีส จำกัด (มหาชน) KCAR 250,000,000.00 บาท/ 1.0 เท่า
บริษัท จี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) GCAP 100,000,000.00 บาท / 2.10 เท่า



 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com