April 26, 2024   12:39:33 AM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > แบงก์อู้ฟู่ฟันกำไร2.06แสนลบ.
 

thaihoon
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 14,583
วันที่: 22/01/2015 @ 08:19:41
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

กลุ่มแบงก์ประกาศกำไรปี57 รวมสองแสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.53% จากปีก่อนหน้า ธพ.ขนาดใหญ่ล้วนกำไรโต ยกเว้น KTB หด 3.8% จากสำรองเพิ่ม ขณะที่แบงก์เล็ก-แบงก์ทำเช่าซื้อ กำไรลดลงเป็นส่วนใหญ่โบรกฯ แนะขาย KKP มองยังเสี่ยงจากเอ็นพีแอลใหม่ แต่แนะถือ TCAP กำไรQ1/58 ฟื้น-ปันผลดี และแนะซื้อ KBANK คาดกำไรปีนี้โต 10% BBL ราคาหุ้นยัง Laggard ชู SCB อัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้นสูงสุดกลุ่มแบงก์

ผู้สื่อข่าวรวบรวมกำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารพาณิชย์(ธพ.)ทั้ง 11 ธนาคารที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ งวดปี 2557พบว่า มีกำไรสุทธิ 206,916 ล้านบาท เพิ่มขึ้น จากงวดปี 2556ที่มีกำไรสุทธิ 199,854 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.53%โดยธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เกือบทุกแห่ง มีกำไรเพิ่มขึ้น ยกเว้น KTB นำโดย KBANK กำไรเพิ่ม 11.68%,SCB กำไรเพิ่ม 6.2% และ BBL กำไรเพิ่ม 1.2% ในขณะที่ KTB กำไรลดลง 3.81% ส่วนธนาคารขนาดกลาง นำโดย TMB กำไรเพิ่ม 66% ตามด้วย BAY กำไรเพิ่ม 19% ในขณะที่ TCAP กำไรลดลง 44% และธนาคารขนาดเล็กกำไรก็ลดลง KKP ลดลง 40% CIMBT ลดลง 33% และ LHBANK กำไรลดลง 34.49%


*** แบงก์ใหญ่ กำไรยังเติบโต
ธนาคารกสิกรไทย (KBANK)รายงานว่า ผลการดำเนินงานสำหรับ ปี 2557 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 46,153ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 11.68% ส่วนใหญ่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจำนวน 10,335 ล้านบาท หรือ 14.20% ทำให้อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin : NIM) อยู่ที่ระดับ 3.80% ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน
ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)ประกาศกำไรสุทธิก่อนตรวจสอบเป็นจำนวน 53,335 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.2% จากปี 2556 โดยสามารถสร้างผลกำไรในระดับสูงขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 5 แม้ว่าสภาวะการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2557 ไม่เอื้ออำนวย ระบุสาเหตุสำคัญที่ทำให้กำไรสุทธิเติบโตในระดับที่ดีต่อเนื่องมาจาก การเพิ่มขึ้นอย่างมากของรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิอันเป็นผลจากการลดต้นทุนค่า ใช้จ่ายด้านดอกเบี้ย และการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียมบริการ
ธนาคารกรุงเทพ (BBL)มีกำไรสุทธิปี 2557 จำนวน 36,332 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 426 ล้านบาท หรือ 1.2% จากปี 2556 โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 3,118 ล้านบาท หรือ 5.6% รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 2,282 ล้านบาท หรือ 6.4% และค่าใช้จ่ายจากการดาเนินงานเพิ่มขึ้น 5,140 ล้านบาท หรือ 13.5%
ธนาคารกรุงไทย (KTB)มีกำไรสุทธิ 33,196 ล้านบาท ลดลง 1,315 ล้านบาท หรือ 3.81%จากปี 2556 จากการตั้งสำรองมากขึ้นจากเดือนละ 500 ล้านบาทเป้ฯ 700 ล้านบาทตั้งแต่ไตรมาส 2/57ส่งผลรวมทั้งปี 57 ธนาคารตั้งสำรองรวม 1.37 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.94% เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 7.47% NIM ที่ 2.69%ลดลงจาก 2.76%ในปี 56ยอดสินเชื่อโต 10.92% ขณะที่ NPLอยู่ที่ 2.41%


*** แบงก์เล็ก-เช่าซื้อ กำไรลด
นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธ.ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)หรือ CIMBT เปิดเผยว่า กำไรสุทธิปี57ที่ลดลง 33% จากปี56 เนื่องจากปี 56ธนาคารมีรายการพิเศษหลายรายการ เช่น ส่วนแบ่งกำไรจากการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของ บสท.,กำไรจากการชำระบัญชีของบริษัทย่อยแห่งหนึ่ง,กำไรจากการไถ่ถอนกองทุนรวมวายุภักษ์1 และเงินปันผลจากกองทุนรวมวายุภักษ์ 1 ซึ่งรายการเหล่านี้ไม่มีในงวดปี57ทำให้เมื่อเทียบแล้วกำไรลดลงมาก แต่หากหักรายการพิเศษนี้ออกไป เทียบกันใหม่แล้ว กำไรจะลดลงแค่ 9.5%
ด้าน TCAP กำไรที่ปรับลดลง มาจากการหดตัวของสินเชื่อเช่าซื้อ และในปี57กำไรพิเศษลดลงจากปี56 เช่นเดียวกับ KKP ที่กำไรปี57ลดลง 40% จากการที่ไตรมาสสุดท้ายนั้นสินเชืาอยังคงลดลงเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน ตามการลดลงของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์


*** KKP ยังเสี่ยงจากเอ็นพีแอลใหม่ แนะขาย

บล.เคจีไอ แนะนำขาย KKP ราคาเป้าหมายที่ 42.50 บาท กำไรสุทธิของ KKP ในไตรมาสที่ 4/57อยู่ที่ 488 ล้านบาท ลดลง 42% จากไตรมาสก่อนหน้า และ 53%จากไตรมาส 4/56ซึ่งต่ำกว่าประมาณการของเรา 36% และต่ำกว่าประมาณการเฉลี่ย 45% โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการตั้งสำรองจำนวนมาก โดยตั้งสำรองเพิ่มอีก 1.5 พันล้านบาท(เพิ่มขึ้นเท่าตัว YoY และเพิ่มขึ้นถึงสามเท่า QoQ)
สำหรับงวดปี 2557 กำไรสุทธิอยู่ที่ 2.6 พันล้านบาท ลดลง 40% จากงวดปี 2556 ในไตรมาสที่ 4/57 มีรายการพิเศษคือการกลับรายการค่าใช้จ่ายภาษีเป็นรายได้ซึ่งส่งผลให้อัตราภาษี (effective tax rate) อยู่ที่ 1% เท่านั้น
รายได้จากธุรกิจทางฝั่งตลาดทุนซึ่งดำเนินการโดย บล.ภัทร ค่อนข้างดีในไตรมาสที่ 4/57 โดยมีกำไรจากการลงทุน 376 ล้านบาท (+99% QoQ และ +440% YoY) ซึ่งช่วยหนุน Non-NII (-39% QoQ และ +2% YoY)Valuation and action
อย่างไรก็ตาม เรากังวลเกี่ยวกับศักยภาพในการเติบโตของรายได้และอัตราการเพิ่มขึ้นของ NPLs โดยสินเชื่อที่ลดลงจะจำกัดการเติบโตของ NII ในขณะที่ความผันผวนในตลาดทุนจะทำให้รายได้จาก บล. ภัทร ผันผวนตามไปด้วย เราแนะนำให้ขาย KKP โดยให้ราคาเป้าหมายที่ 42.50 บาท (PBV ที่ 1.0x) ความเสี่ยง คือ อัตราการเพิ่มขึ้นของ NPL ใหม่


*** TCAP กำไรไตรมาสแรกฟื้น-ปันผลดี แนะถือ
บล.บัวหลวง คาดว่ากำไรไตรมาส 1/58 ของ TCAP จะเพิ่มสูงขึ้นจากไตรมาส 4/57 เล็กน้อย จากการฟื้นตัวของสินเชื่อ (โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อ SME),รายได้ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มสูงขึ้นและการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สูญฯที่คงที่จากปีก่อนสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป
ทั้งนี้ เรายังคงประมาณการกำไรปี 2558 ของเราไม่เปลี่ยนแปลงที่ 5.5 พันล้านบาท สูงขึ้น 7% จากปี 2557 โดย??TCAP ในขณะนี้ซื้อขายกันด้วย PBV ณ สิ้นปี 2558 ที่ถูกที่เพียง 0.7เท่า เท่านั้น ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มธนาคารที่ 1.4 เท่า เราเชื่อว่ามูลค่าการซื้อขายที่ต่ำและประมาณการอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลที่เหมาะสมที่ 4.6% สำหรับปี 2557 และ 4.9% สำหรับปี 2558 จะหนุนให้ TCAP เป็นหุ้นปันผลที่มีผลตอบแทนดี เรายังคงคำแนะนำ
ถือ เป้าหมายพื้นฐาน 38.50 บาท
บล.ทรีนีตี้ ให้ราคาเป้าหมาย 38 บาท อิง PBV 1 เท่า ยังแนะนำ "ถือ" จาก Div. Yield ที่สูงกว่า 5% เป็นระดับที่จูงใจ ขณะที่แม้ว่าธุรกิจเช่าซื้ออาจยังไม่ฟื้นตัวเร็ว แต่การที่ธนาคารหันไปเน้นลูกค้ากลุ่มอื่นมากขึ้นจะเป็นปัจจัยที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าธนาคารที่เน้นสินเชื่อเช่าซื้อรายอื่น

*** KBANK กำไรปีนี้โต 10%-ROEสูง แนะซื้อ
บล.ทรีนีตี้ ระบุว่า ให้ราคาเป้าหมายของ KBANK ที่ 255 บาท อิง PBV 2.1 เท่า และยังคงคำแนะนำ "ซื้อ" แม้ราคาหุ้นในระยะสั้นอาจถูกกระทบด้วยกำไรที่อ่อนตัวลงมากกว่าตลาดคาด แต่ในระยะยาวเรายังไม่เปลี่ยนมุมมองด้านระดับความสามารถในการทำกำไรที่โดดเด่น ROE สูงเกือบ 20% เป็นรองเพียง SCB และจุดเด่นอีกด้าน คือ ความสม่ำเสมอในการเติบโต เนื่องจากในช่วงปีที่ผ่านมาแม้มีปัจจัยกดดันแต่ภาพรวมก็ยังเติบโตได้ดีกว่ากลุ่ม
เป้าปี 58 ยังเป็นระดับที่ค่อนข้างดี ภายใต้สมมติฐาน GDP ปี 2558 จะมีการเติบโตดีขึ้นจากปีก่อนมาอยู่ในช่วง 3-4% นั้น เราคาดว่าสินเชื่อของธนาคารจะเติบโตได้ในระดับ 8.5% ซึ่งเป็นระดับที่สมเหตุสมผล หลังจากในภาวะที่เศรษฐกิจเติบโตไม่ดี เรายังเห็นสินเชื่อปีนี้เติบโตถึง 6%
โดยคาดกำไรสุทธิปี 2558 จะอยู่ที่ราว 5.1 หมื่นล้านบาท หรือเติบโต 10%YoY ทั้งนี้ กลยุทธ์หลักของธนาคารในปีนี้จะเน้นที่การพัฒนาระบบ Digital Banking เพื่อรองรับกับ Life Style ของคนยุคใหม่ เช่นเดียวกับธนาคารอื่นๆ พร้อมทั้งมุ่งเน้นการรักษาตำแหน่ง Main Bank ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการแข่งขันทุกด้านเป็นอีกหนึ่งธนาคารที่ความสามารถในการทำกำไรสูง

*** BBL ราคาหุ้นยัง Laggard
บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า ยังคงรอทิศทางการเติบโตในปี 2558 จากผู้บริหาร BBL ที่คาดว่าจะมีการชี้แจงในช่วงเดือน ก.พ.นี้ ซึ่งในเบื้องต้นเราคาดการเติบโตของ BBL ไว้ในลักษณะค่อนข้าง Conservative โดยคาดสินเชื่อจะเติบโตราว 3.5%YoY และคาดกำไรจะเติบโตราว 5%YoY หรือเท่ากับ 3.8 หมื่นล้านบาท โดยปัจจัยผลักดันภายนอกที่สำคัญ คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการเริ่มเบิกจ่ายเงินลงทุนภาครัฐบางส่วน ส่วนปัจจัยเฉพาะตัว คือ การรุกตลาด SME ขนาดเล็ก ซึ่งคาดว่านอกจากจะช่วยหนุนสินเชื่อแล้ว ยังช่วยพยุง NIM ในช่วงที่ต้นทุนทางการเงินอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการแข่งขันด้วย เนื่องจาก SME ขนาดเล็กเป็นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนในการปล่อยสินเชื่อค่อนข้างสูงยังคงแนะนำ "ซื้อ" มองราคาหุ้นยังค่อนข้างถูก
เราให้ราคาเป้าหมายของ BBL ที่ 226 บาท อิง PBV 1.27 เท่า ยังคงคำแนะนำ "ซื้อ" แม้ว่าในแง่ของการเติบโตและความสามารถในการทำกำไร อาจต่ำกว่าธนาคารขนาดใหญ่อื่นๆ แต่ราคาหุ้นค่อนข้าง Laggard โดยระดับ Forward PER และ PBV อยู่ที่ 9.2 เท่าและ 1 เท่า ตาม ลำดับ (ค่าเฉลี่ย Forward PERและ PBV ของธนาคารขนาดใหญ่อยู่ที่ 9.5 เท่า และ 1.5 เท่า)


*** หั่นราคา SCB เหลือ214บาท แนะซื้อ-ROEสูงสุดกลุ่มแบงก์
บล.บัวหลวง ได้ปรับลดสมมติฐานสินเชื่อ SCB เติบโตจาก 9% เป็น 7% สำหรับปี 2558 และ จาก 8.5% เป็น 8% สำหรับปี 2559 นอกจากนี้เรายังได้ปรับเพิ่มสมมติฐานกันสำรองหนี้สูญฯ 12% สำหรับปี 2558 เป็น 1.4 หมื่นล้านบาท และ 16% สำหรับปี 2559 เป็น 1.45 หมื่นล้านบาท ดังนั้นประมาณการกำไรของเราลดลง 7.6% สำหรับปี 2558 เป็น 6.1 หมื่นล้านบาท และ 6.9% สำหรับปี 2559 เป็น 6.7 หมื่นล้านบาทเนื่องจากเราปรับลดประมาณการกำไร ราคาเป้าหมายของเรา ณ สิ้นปี 2558 จึงลดลง 4.3% เป็น 214 บาท อ้างอิงจาก PBV เดิมที่ 2.25 เท่า
อย่างไรก็ตาม เรายังคงคำแนะนำ ซื้อ อ้างอิงจาก 1)กำไรฟื้นตัวรวดเร็วสุดหากภาครัฐมีการใช้จ่ายในโครงการสาธารณูปโภคและการลงทุนของภาคเอกชนเริ่มที่จะขยายตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 2)การบริหารสินทรัพย์ดี (สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่เพียง 2.1% และกันสำรองหนี้สูญฯสูงที่ 138%) และ 3)ประมาณการ ROE ปี 2558 สูงสุดในกลุ่มธนาคารที่ 20%



รวมผลประกอบการปี57ของกลุ่มแบงก์ที่จดทะเบียนใน ตลท.(11ธนาคาร)
หน่วย:ล้านบาท

ธนาคาร กำไรปี57 กำไรปี56 เปลี่ยนแปลง(%)

1.BBL 36,332 35,905 +1.2%
2.KTB 33,196 34,511 -3.81%
3.KBANK 46,153 41,324 +11.68%
4.SCB 53,334 50,232 +6.2%
5.BAY 14,169 11,864 +19.5%
6.TCAP 5,120 9,231 -44.53%
7.TMB 9,538 5,737 +66%
8.TISCO 4,249 4,249 0.00%
9.KKP 2,636 4,418 -40%
10.LHBANK 1,201 893 -34.49%
11.CIMBT 988 1,490 -33.6%

รวม 206,916 199,854 +3.53%


รวบรวมโดย : สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย



 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com