April 24, 2024   3:37:37 AM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > SAMARTทุบสถิติลงทุน-ปีหน้าผุดโรงไฟฟ้า
 

thaihoon
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 14,583
วันที่: 14/11/2014 @ 08:45:04
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

SAMART โชว์บิ๊กโปรเจกต์ เตรียมงบลงทุนปี 58 ระดับ 2 พันลบ. สูงสุดตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทฯ ขยายธุรกิจโรงไฟฟ้า-สายส่ง ภายใต้บริษัทย่อย "สามารถ ยู-ทรานส์" ตั้งเป้าสัดส่วนรายได้แตะ 50% ใน 3 ปี ประเดิมโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ชัดเจนใน 1-2 เดือนนี้ ยอมรับปีนี้ทำรายได้ 2.6-2.7 หมื่นลบ. ต่ำกว่าเป้าที่ 3 หมื่นลบ. หวังโค้งสุดท้ายปั๊มรายได้ 7-8 พันลบ. สูงสุดในปีนี้ ส่วนธุรกิจ ICT มี Backlog ทะลุ 1.2 หมื่นลบ. - รอประมูลงานกว่า 9 พันลบ. ด้าน SIM จะมียอดจำหน่ายปีนี้ 4.5 ล้านเครื่อง มีแผนรุกตลาดพม่า-ลาว-ยุโรป-ตะวันออกกลาง รวมเกือบ 30 ประเทศ โบรกฯมองผลงานผ่านจุดต่ำสุด

บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAMART เรียกเสียงฮือฮา ให้กับนักลงทุนอีกครั้ง หลังจากเปิดแผนลงทุนปี 2558 ด้วยการอัดงบลงทุนระดับ 2,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนในโรงไฟฟ้า - สายส่ง เตรียมบุกตลาดเพื่อนบ้าน พร้อมกับประมาณการรายได้ปีนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ขณะที่โบรกเกอร์ส่วนใหญ่ยังเชียร์ซื้อ กันถ้วนหน้าเนื่องจากผ่าจุดต่ำสุดในไตรมาส 3/2557 ไปจนหมดแล้ว
ทั้งนี้หุ้นในกลุ่ม SAMART ปรับตัวขึ้นกันถ้วนหน้า
หุ้น SAMART ปิดที่ระดับ 32.75 บาท เพิ่มขึ้น 2.25 บาท หรือ 7.38 % มูลค่าการซื้อขาย 390.35ล้านบาท
หุ้น SAMTEL ปิดที่ระดับ 20.70 บาท เพิ่มขึ้น 0.70 บาท หรือ 3.50% มูลค่าการซื้อขาย 13.09 ล้านบาท
หุ้น SIM ปิดที่ระดับ 3.42 บาท ไม่เปลี่ยนแปลง มูลค่าการซื้อขาย 17.68 ล้านบาท
หุ้น OTO ปิดที่ระดับ 6.65 บาท เพิ่มขึ้น 0.05 บาท หรือ 0.76% มูลค่าการซื้อขาย 3.03 ล้านบาท

*** ทุ่มงบลงทุน 2 พันลบ. เป็นประวัติศาสตร์
นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAMART เปิดเผยว่า ในปี 2558 จะเป็นปีแห่งการลงทุนของกลุ่ม SAMART ซึ่งจะใช้เม็ดเงินลงทุนมากที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งบริษัฯมา กว่า 60 ปี ในวงเงินไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท ในการขยายธุรกิจ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้า และธุรกิจสายส่งในต่างประเทศ ผ่านบริษัทย่อย " สามารถ ยู-ทรานส์"
ขณะที่จะเลื่อนการออกหุ้นกู้ วงเงิน 5,000 ล้านบาทไปเป็นช่วงต้นปีหน้า จากเดิมคาดเสนอขายในไตรมาส 4/57 เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการลงทุน
"ปีหน้าถือว่าเป็นปีแห่งการลงทุน ที่จะใช้เงินมากที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทฯ โดยคาดว่าจะลงทุนไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท จากที่ผ่านมาลงทุนหลักร้อยล้าน ส่วนการลงทุนจะมีหลายรูปแบบ ทั้งโรงไฟฟ้า ,สายส่งในต่างประเทศ และยังมีธุรกิจอื่นๆ หากมองเห็นโอกาสในการลงทุน "นายวัฒน์ชัย กล่าว

*** มั่นใจ "สามารถ ยู-ทรานส์" จะสร้างรายได้กว่า 50% ภายใน 3 ปี
ด้านนายประชา พัทธยากร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ SAMART เปิดเผยว่า บริษัท สามารถ ยู-ทรานส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ SAMART ทำธุรกิจพลังงาน เช่น โรงไฟฟ้าน้ำมันเตาในกัมพูชา และธุรกิจวางระบบไอที สายส่งสัญญาณ รวมถึงบริหารจัดการการจราจรทางอากาศในประเทศและต่างประเทศ และการติดตั้งระบบเรด้า จะสร้างรายได้ให้กับกลุ่มสามารถฯ มากกว่า 50% ในอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นแผนการสร้างรายได้ที่ยั่งยืนในอนาคต จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนรายได้ประมาณ 30%
"การที่เราจัดตั้งบริษัท สามารถ ยู-ทรานส์ เพื่อจะให้น้ำหนักของการสร้างรายได้ที่ยั่งยืนในอนาคต จากธุรกิจโรงไฟฟ้าและสายส่งสัญญาณต่างๆ โดยปัจจุบันสีสัดส่วน 30% ของรายได้รวมทั้งหมด และคาดว่าภายใน 3 ปีข้างหน้า สัดส่วนจะเพิ่มขึ้นเป็น 50% "นายประชา กล่าว
ทั้งนี้ บริษัทฯ มีแผนลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาในพื้นที่ 4 จังหวัด ซึ่งคาดว่าจะสามารถสรุปได้ภายใน 1-2 เดือนนี้ และจะชัดเจนและสรุปผู้ร่วมทุน 1-2 รายได้ในต้นปีหน้า และหลังจากนั้นจะเริ่มก่อสร้างทันที มูลค่าการลงทุนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท โดยโรงไฟฟ้าแต่ละแห่งจะมีขนาด 9-10 เมกะวัตต์ เงินลงทุนเมกะวัตต์ละ 60 ล้านบาท

*** ตั้ง 3 บ.ย่อย ลุยไฟฟ้าขยะ - สารสนเทศในลาว - การค้าในพม่า
ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการ SAMART อนุมัติให้บริษัท สามารถ ยู-ทรานส์ จำกัด (SUT) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทฯ ถือหุ้น 99.99% จัดตั้งบริษัทใหม่ 3 บริษัท โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
1. ชื่อบริษัท : บริษัท สามารถ เวสท์ทูเพาเวอร์ จำกัด
ประเภทธุรกิจ : ดำเนินบริหารจัดการ การกำจัดขยะมูลฝอยให้กับหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น โดยทำการคัดแยกขยะ ทำการผลิตเชื้อเพลิงขยะ (RDF) ทำการผลิตไฟฟ้า โดยใช้เชื้อเพลิงขยะ ทำการบริหารจัดการขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Recycle) และบริหารจัดการขยะในส่วนที่เหลือโดยวิธีฝังกลบหรือวิธีอื่นๆ และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง
สำนักงานที่ตั้ง : ประเทศไทย
ทุนจดทะเบียน : 50,000,000 บาท
สัดส่วนการถือหุ้น : SUT ถือหุ้นร้อยละ 99.99
2. ชื่อบริษัท : บริษัท สามารถ ยู-ทรานส์ จำกัด
ประเภทธุรกิจ : ให้บริการเขียนโปรแกรมการเรียกและรับชำระเงิน ออกแบบเว็ปไซต์ บำรุงรักษาฮาร์ดแวร์ ซอฟแวร์เทคโนโลยีสารสนเทศ ซ่อมแซม ติดตั้ง พัฒนาโปรแกรมและเว็บไซต์ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (เรียกรวมกันว่า "ระบบไอที")
สำนักงานที่ตั้ง : ประเทศลาว
ทุนจดทะเบียน : 1,000,000,000 Lao Kip (หรือประมาณ 4,000,000 บาท)
สัดส่วนการถือหุ้น : SUT ถือหุ้นร้อยละ 99.99
3. ชื่อบริษัท : บริษัท สามารถ ยู-ทรานส์ (เมียนมาร์) จำกัด
ประเภทธุรกิจ : ให้บริการและคำแนะนำต่างๆ ที่เกี่ยวกับการค้าในประเทศเมียนมาร์ รวมถึงการดำเนินการทั่วไปอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
สำนักงานที่ตั้ง : ประเทศเมียนมาร์
ทุนจดทะเบียน : 50,000 เหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 1.6 ล้านบาท)
สัดส่วนการถือหุ้น : SUT ถือหุ้น ร้อยละ 99.99

*** คาดรายได้ปีนี้โต 15-20%
นายวัฒน์ชัย กล่าวถึงผลการดำเนินงานของ SAMART ในปีนี้ คาดว่ารายได้จะอยู่ที่ 2.6-2.7 หมื่นล้านบาท แม้จะต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ที่ 30,000 ล้านบาท แต่ก็ถือว่าเติบโต 15-20% จากปีก่อนมีรายได้ 2.2 หมื่นล้านบาท ในขณะที่มั่นใจว่ากำไรสุทธิปีนี้ จะดีกว่าปีก่อน ซึ่งเป็นไปตามรายได้ที่ปรับตัวดีขึ้น แม้จะโดนผลกระทบจากกลุ่มธุรกิจ SAMTEL ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การเมือง จึงส่งผลทำให้โครงการภาครัฐและการวางระบบวิศวกรรมเลื่อนออกไป
โดยคาดว่า รายได้ของบริษัทฯ ในไตรมาส 4/57 จะอยู่ที่ประมาณ 7-8 พันล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงสุดสำหรับปีนี้ ทั้งจากธุรกิจรับเหมาวางระบบงานไอทีจากสายธุรกิจ ICT ที่รอการประมูลรวมกว่า 9 พันล้านบาท จากโครงการขององค์กรต่างๆ เช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การท่าอากาศยานไทย กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร เป็นต้น นอกจากนี้โครงการระบบตรวจคัดกรองผู้โดยสาร (APPS) จะสรุปและมีความชัดเจนในเดือน ธ.ค นี้ คาดเมื่อสิ้นสุดไตรมาส 4 จะมีเป้า Backlog ทะลุ 12,000 ล้านบาท

*** SIM ยังโตได้อีก รับตลาดสมาร์ทโฟนแถบ AEC สดใส
ส่วน SIM มั่นใจธุรกิจกลับมาคึกคักแน่นอน จากการจำหน่ายโทรศัพท์มือถือล็อตใหญ่ให้แก่โอเปอร์เรเตอร์ พร้อมเปิดตัวโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ เอาใจสาวกชอบเซลฟี่ เช่น รุ่นกล้องหน้าหลัง 13 ล้านพิกเซล และ รุ่นกล้อง 3 มิติ คาดสิ้นปี จำหน่ายได้มากถึง 4.5 ล้านเครื่อง ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีแผนรุกตลาดสมาร์ทโฟนในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า ลาว รวมถึงแถบเอเชีย ยุโรป ตะวันออกกลาง รวมเกือบ 30 ประเทศ ที่สำคัญในไตรมาสสุดท้ายของปี จะมีความคืบหน้าของโครงการวิทยุการบินที่ประเทศลาว, ธุรกิจกล้องวงจรปิดของกรมตำรวจและที่สนามบินสุวรรณภูมิ และการสรุปโครงสร้างธุรกิจใหม่ ซึ่งจะครอบคลุมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมของกลุ่มสามารถอีกด้วย

*** งบ Q3/57 ยังสดใส หลายธุรกิจยังกำไรดี
ด้านผลประกอบการไตรมาส 3/57 บริษัทฯ ต้องเผชิญกับสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลต่อธุรกิจของกลุ่มสามารถพอสมควร โดยเฉพาะการเลื่อนประมูลโครงการภาครัฐ แต่บริษัทก็สามารถสร้างรายได้เป็นที่น่าพอใจ โดยมีรายได้รวมไตรมาส 3 ที่ 5,556 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน โดยมีกำไรสุทธิ 351 ล้านบาท
สายธุรกิจ Mobile Multimedia นำโดย บมจ.สามารถไอ-โมบาย (SIM) มีรายได้รวม 2,739 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีกำไรสุทธิ 152 ล้านบาท มียอดการจำหน่ายมือถือประมาณหนึ่งล้านเครื่อง คิดเป็นสมาร์ทโฟนจำนวน 7.5 แสนเครื่อง
สายธุรกิจ ICT Solution & Services นำโดย บมจ.สามารถเทลคอม มีรายได้รวม 1,579 ล้านบาท ลดลงเนื่องจากการเลื่อนประมูลโครงการเป็นหลัก โดยมีกำไรสุทธิ 157 ล้านบาท ลดลงเช่นกัน โดยในไตรมาส 3 มีการเซ็นสัญญาโครงการพัฒนาเครือข่ายระบบโทรคมนาคมทหาร และโครงการอื่นๆ มูลค่ารวมกว่า 1,100 ล้านบาท โดยเมื่อสิ้นไตรมาสที่ 3 มีมูลค่างานในมือ (Backlog) แล้วประมาณ 5 พันล้านบาท นอกจากนี้ เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา บริษัทได้เซ็นสัญญาในการให้บริการและบำรุงรักษาระบบตรวจบัตรโดยสารขึ้นเครื่อง (CUTE) ของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) มูลค่ากว่า 2 พันล้านบาท รวมปัจจุบันมีมูลค่างานในมือ Backlog แล้วประมาณ 7.2 พันล้านบาท
สายธุรกิจสาธารณูปโภคและการเดินทาง Utilities & Transportation ซึ่งเป็นกลุ่มที่สร้างรายได้ประจำที่แข็งแกร่งให้กลุ่มสามารถ มีรายได้รวมประมาณ 570 ล้านบาท จากธุรกิจศูนย์ควบคุมการจราจรทางอากาศ CATS, โรงไฟฟ้ากัมปอต รวมถึงสามารถ-ยูทรานส์ ที่ล่าสุดได้งานวิทยุการบินในประเทศไทย (465 ล้านบาท) และประเทศพม่า (4 ล้านเหรียญ) รวมมูลค่าเกือบ 600 ล้านบาท และจากธุรกิจก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อย รวมถึงระบบสายส่งต่างๆ ของบริษัท เทด้า ซึ่งปัจจุบันมี Backlog ประมาณ 2 พันล้านบาท
กลุ่มธุรกิจอื่นๆ Technology Related Businesses มีรายได้รวมประมาณ 780 ล้านบาท โดยบริษัทฯที่มีรายได้โดดเด่นของกลุ่ม คือ บ.สามารถวิศวกรรม ซึ่งครองความเป็นผู้นำในการตลาดกล่องและเสารับสัญญาณดิจิตอลทีวี โดยในเดือนต.ค.ที่ผ่านมา มีการรับแลกคูปองกล่องดิจิตอลทีวีไปแล้วกว่า 3 แสนกล่องและจำหน่ายเสาอากาศไปได้ถึง 4 แสนชุด โดยมีรายรับในเดือน ต.ค เพียงเดือนเดียว ถึงกว่า 200 ล้านบาท คาดว่าสิ้นปี ยอดจำหน่ายน่าจะทะลุ 2 ล้านชุดตามคาด
ทั้งนี้ถ้านับรวม 3 ไตรมาสที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทสามารถ มีรายได้ 18,480 ล้านบาท โตขึ้น 10.21% กำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 1,166 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวของปีก่อนประมาณ 5.02%

*** โบรกฯ เชียร์ซื้อเพียบ หลังผ่านจุดต่ำสุดในช่วง Q3/57
บล.ฟิลลิป เปิดเผยว่า SAMART 9 เดือนแรกมีกำไรสุทธิ 1,160 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.1% y-y คาดว่าในไตรมาสที่ 4 กำไรจะดีขึ้นเพราะเป็นช่วง High Season โดย SIM จะจำหน่ายโทรศัพท์ได้มากขึ้น และมีการจำหน่าย Big Lot ให้ DTAC ส่วน SAMTEL ก็จะรับรู้รายได้เพิ่มขึ้นจากโครงการ CUTE จึงคาดกำไรทั้งปีที่1,641 ล้านบาท (ปรับลงจากเดิมที่ 1,771 ล้านบาท เพราะไตรมาสที่ 3 คาดกำไรอ่อนตัวกว่าที่เคยคาดไว้) ส่วนปี 2558 คาดกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 1,973 ล้านบาท แนะนำ "ทยอยซื้อ" ราคาหุ้นพื้นฐานในปี 2558 จึงเท่ากับ 33.50 บาทต่อหุ้น
ด้าน บล.บัวหลวง เปิดเผยว่า ดูกำไรสุทธิของ SAMART ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นในไตรมาส 4/57 แทน (ซึ่งจะได้รับปัจจัยหนุนจากยอดขายกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตัลและเสารับสัญญาณ รวมถึงยอดขายบิ๊กล็อตของ SIM) นอกจากนี้ดีลโครงการโรงชีวมวลขยะในประเทศแห่งแรกมีแนวโน้มประกาศได้ภายในสิ้นปี 2557 (ส่วนที่เหลือแห่งอื่นๆ มีแนวโน้มประกาศได้ภายในปี 2558) รวมถึงดีลโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศกัมพูชาคาดว่าจะประกาศได้เช่นกันภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 ทั้งสองโครงการถือว่าเป็นอัพไซด์ต่อประมาณการ ยังคงคำแนะนำ ซื้อเป้าหมายพื้นฐาน 33.85 บาท
ส่วนบล.เคจีไอ เปิดเผยว่า มีมุมมองที่เป็นบวกต่อผลประกอบการไตรมาสที่ 4/57 จากแนวโน้มที่สดใสของ SIM และการที่ SAMTEL จะได้เข้าร่วมประมูลงานมากขึ้นหลังจากปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองผ่านพ้นไปแล้ว ในขณะที่ธุรกิจนอกตลาดก็ยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ปัจจัยสำคัญอีกประการที่จะช่วยหนุนผลประกอบการได้แก่การแจกคูปองแลกกล่องรับสัญญาณของกสทช. ซึ่งเริ่มแจกตั้งแต่ช่วงต้นไตรมาสที่ 4/57 ดังนั้น เราจึงเชื่อว่าไตรมาสที่ 3/57 เป็นจุดต่ำสุดที่แท้จริงของ SAMART ทั้งนี้ยังคงประมาณการและคำแนะนำซื้อ โดยให้ราคาเป้าหมายที่ 34.25 บาท อิงจาก PER ที่ 16x ซึ่งเท่ากับค่าเฉลี่ย PE ย้อนหลังของบริษัท โดยคำนวณจากสมมติฐาน EPS (2015) ที่ 2.14 บาท
* หมายเหตุ บทวิเคราะดังกล่าว ยังไม่ได้รวมประมาณการ แผนลงทุน 2 พันล้านบาท ในปี 2558

 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com