April 19, 2024   4:33:15 PM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > หุ้นโซลาร์ฟาร์มรับทรัพย์จนจุก
 

thaihoon
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 14,583
วันที่: 24/10/2014 @ 08:22:11
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

ผู้ผลิตโซลาร์ฟาร์มดี๊ด๊า เตรียมลงแย่งเค้กก้อนใหม่ หลังกพช.ขยายการรับซื้อไฟจากโซลาร์ฟาร์มอีก 800 เมกะวัตต์ เป็น 2,800 เมกะวัตต์ EA ออกตัวแรง เดินหน้าขอไลเซ่นส์โซลาร์ฟาร์มเพิ่มทันที ด้าน IFEC ยันร่วมวงแน่นอน มั่นใจต้องได้บางส่วน ขณะที่กูรูมอง EA ศักยภาพดีสุด เหตุหนี้สินต่อทุนที่อยู่ในระดับต่ำ และโครงการที่อยู่ในมืออยู่ในระดับสูง ส่วน GUNKUL รับ 2 เด้ง ทั้งเป็นผู้ผลิต และรับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้า ส่วน DEMCO ไม่น่าพลาด เหตุเป็นพี่ใหญ่ด้านรับเหมาในเครือโรงไฟฟ้าครบวงจร

มีข่าวดีเข้ามาสนับสนุนไม่ขาดสาย สำหรับหุ้นในกลุ่มพลังงานทดแทน ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) มีมติให้ขยายการรับซื้อ ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน(โซลาร์ฟาร์ม)อีก 800 เมกะวัตต์ (MW) ทำให้กรอบการรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มขยับเป็น 2,800 เมกะวัตต์ จากเดิม 2,000 เมกะวัตต์ โดยจะต้องจ่ายไฟฟ้าภายในเดือน ธ.ค.58 ทำให้บรรดาผู้ประกอบการโรงไฟฟ้า เตรียมเข้ามาแย่งชิงเค้กชิ้นนี้กันถ้วนหน้า

*** ก.พลังงาน เผยทำสัญญารับซื้อไปแล้ว 1,434 MW
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ตามกรอบการรับซื้อ ไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มที่ 2,000 เมกะวัตต์นั้น มีผู้ยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้ามาจำนวนมากกว่าการรับซื้อ ซึ่งขณะนี้มีการทำสัญญารับซื้อไฟฟ้าและผลิตแล้วราว 1,434 เมกะวัตต์ โดยยังคงเหลือรับซื้อไฟฟ้าตามกรอบอีกราว 576 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตาม การที่มีจำนวนผู้ที่ยื่นข้อเสนอมาและรอการพิจารณารับซื้อ ไฟฟ้าดังกล่าวรวมถึง 1,376 เมกะวัตต์ ทำให้กพช.ได้ขยายการรับซื้อไฟฟ้าไว้ทั้งหมด
"เดิมที่จะรับซื้อ 2,000 เมกะวัตต์ ก็ให้รับซื้อทั้งหมดเพื่อเป็นการส่งเสริม พลังงานทดแทน ทำให้กรอบการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มเพิ่มเป็น 2,800 เมกะวัตต์ ส่วนจะรับซื้อได้ทั้งหมดหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับเอกชนว่าจะจ่ายไฟฟ้าได้ทัน ในปี 58 หรือไม่" นายอารีพงศ์ กล่าว
เขา กล่าวอีกว่า ส่วนจะมีการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มเพิ่มเติมหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาในอนาคตต่อไป สำหรับราคาการรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มในกลุ่มนี้ กำหนดรูปแบบตามต้นทุน แท้จริง(Feed-in Tariff:FiT) ที่ราคา 5.66 บาท/หน่วย
ส่วนโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับหน่วยงานราชการและ สหกรณ์การเกษตร ขนาดติดตั้งไม่เกิน 5 เมกะวัตต์ต่อแห่ง รวม 800 เมกะวัตต์นั้น จะเร่งเปิดประกาศเชิญชวนภายในเดือนพ.ย.นี้ โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ต่อไป

*** EA เดินหน้าขอไลเซ่นส์โซลาร์ฟาร์มเพิ่มทันที
นายอมร ทรัพย์ทวีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เปิดเผยกับ "สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย" ว่า บริษัทฯ เตรียมขอใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่ม หลัง กพช.มีมติให้ขยายการรับซื้อไฟฟ้าจาก โซลาร์ฟาร์มอีก 800 เมกะวัตต์ โดยบริษัทฯ มั่นใจในความพร้อม ทั้งในด้านของพื้นที่ติดตั้งและศักยภาพในการผลิต แต่ยังเร็วเกินไปที่จะสามารถระบุได้ว่าจะมีการผลิตเพิ่มอีกจำนวนเท่าไร เนื่องจากเพิ่งทราบและต้องศึกษาความเป็นไปได้ต่างๆ ก่อน
ปัจจุบัน EA มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าอยู่แล้ว จำนวน 278 เมกะวัตต์ มีราคาแอดเดอร์ ที่ 8 บาทต่อหน่วย สำหรับ 8 เมกกะวัตต์ และ 6.50 บาทต่อหน่วย สำหรับ 270 เมกกะวัตต์ ขณะที่ราคาการรับซื้อไฟฟ้ารอบใหม่นี้ กำหนดรูปแบบตามต้นทุนที่แท้จริง (Feed-in Tariff:FiT) ที่ราคาที่ 5.66 บาทต่อหน่วย ซึ่งนายอมร ระบุว่าอาจจะให้อัตรากำไรที่ลดลง แต่บริษัทฯ ไม่กังวลมากนัก เนื่องจากเป็นกฎที่ต้องปฏิบัติตาม ซึ่งหากรักษาต้นทุนให้เหมาะสมก็จะสามารถทำได้มีอัตรากำไรที่สูงได้

*** IFEC โดดร่วมวงแบ่งเค้ก
นายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ วิศวการ (IFEC) เปิดเผยกับ "สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย"ว่า มั่นใจจะได้งานโซลาร์ฟาร์มบางส่วน หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ขยายการรับซื้อไฟฟ้าอีก 800 เมกะวัตต์ รวมเป็น 2,800 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจโซลาร์ฟาร์มโดยส่วนใหญ่ยังคงมองเหมือนกันว่า ราคาการรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มในกลุ่มนี้ที่กำหนดรูปแบบตามต้นทุนแท้จริง(Feed-in Tariff:FiT) ที่ราคา 5.66 บาท/หน่วยนั้นถือว่าค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับการรับซื้อในรูปแบบเดิม
" จริงๆ ล็อตที่รัฐจะซื้อเพิ่ม 800 เมกะวัตต์นี้ ผู้ประกอบการรู้อยู่แล้วว่าจะต้องมีออกมา แต่ยังประกาศล่าช้าเพราะว่ายังเคาะเรื่องราคารับซื้อกันอยู่ ซึ่งจริงๆ แล้วยังไงอีก 800 เมกะวัตต์ต้องทำอยู่แล้ว เพราะมันจะทำให้งานก่อสร้างในประเทศเดินหน้าต่อไป ได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ทั้งในและนอกตลาด มองว่าราคารับซื้อถูกมาก ถ้าไม่มีอะไรมาซัพพอร์ต ทำไม่ได้หรอก หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องร่วมมือกับ บริษัทมหาชน ถึงจะทำได้ " นายวิชัย กล่าว

*** โบรกฯ มอง EA-GUNKUL-DEMCO ศักยภาพสูงสุด
นักวิเคราะห์ บล.ทรีนิตี้ เปิดเผยกับ สำนักข่าว "อีไฟแนนซ์ไทย" ถึงกรณีที่ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) มีมติให้ขยายการรับซื้อ ไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มอีก 800 เมกะวัตต์ (MW) ว่า ผู้ประกอบการ โซลาร์ฟาร์มส่วนใหญ่จะให้ความสนใจเข้ามายื่นเสนอขายไฟจำนวนนี้แน่นอน แต่เสียดายที่ ราคาการรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มในกลุ่มนี้ ถูกกำหนดรูปแบบตามต้นทุน แท้จริง(Feed-in Tariff:FiT) ที่ราคา 5.66 บาท/หน่วย จากเดิมที่ใช้เป็นคา Adder ซึ่งจะอยู่ที่ระดับ 6.50 บาท/หน่วย จึงอาจจะทำให้การแข่งขันลดความน่าสนใจลงมา
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของบล.ทรีนิตี้ ประเมินว่า จะมี 3 บริษัทที่มีศักยภาพสูงสุด ที่จะได้รับประโยชน์จากการขยายการซื้อขไฟในครั้งนี้ นั่นคือ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL และ บริษัท เด็มโก้ จำกัด (มหาชน) DEMCO
โดย EA และ GUNKUL ถือว่าเป็นบริษัทที่มีศักยภาพมากกว่าบริษัทอื่น จากหนี้สินต่อทุนที่อยู่ในระดับต่ำ และโครงการที่อยู่ในมืออยู่ในระดับสูง ส่วน GUNKUL เองก็เป็นผู้รับเหมาสร้างโรงไฟฟ้าด้วย จึงจะได้รับประโยชน์ 2 ต่อ ขณะที่ DEMCO เองก็เป็นผู้รับเหมาโรงไฟฟ้ารายใหญ่ที่ได้รับงานต่อเนื่องเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม เบื้องต้น ทางบล.ทรีนิตี้ ยังอยู่ในช่วงประเมินเป้าหมายราคาเหมาะสมของหุ้นทั้ง 3 บริษัท เนื่องจาก ก่อนหน้านี้ทั้ง 3 บริษัทได้ปรับตัวขึ้นมาสูงกว่าเป้าหมายที่ประเมินไว้พอสมควร
"3 บริษัทนี้ ดูดีที่สุด โดยเฉพาะ GUNKUL ที่ได้รับประโยชน์ 2 ต่อ เพราะเป็นทั้งผู้ผลิตไฟ และรับเหมาสร้างโรงไฟฟ้าด้วย แต่ตอนนี้ยังต้องขอทบทวนราคาเป้าหมายใหม่ เพราะประเด็นเรื่องการขยายการรับซื้อไฟ อาจจะต้องมีการปรับค่า FiT หรือเพิ่มส่วนสนับสนุนเข้ามาเพื่อเป็นแรงจูงใจอีกครั้ง " นักวิเคราะห์ กล่าว

*** หุ้นโซลาร์ฟาร์ม กอดคอบวกถ้วนหน้า
โดยเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ราคาหุ้นในกลุ่มพลังงานทดแทนที่ทำโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ต่างปรับตัวขึ้นรับข่าวดังกล่าวกันถ้วนหน้า ดังนี้
DEMCO ปิดที่ระดับ 15.70 บาท เพิ่มขึ้น 0.60 บาท หรือ 3.97% มูลค่าการซื้อขาย 220.96 ล้านบาท
EA ปิดที่ระดับ 23.10 บาท เพิ่มขึ้น 0.60 บาท หรือ 2.67 % มูลค่าการซื้อขาย 86.79 ล้านบาท
GUNKUL ปิดที่ระดับ 23.00 บาท เพิ่มขึ้น 0.50 บาท หรือ 2.22% มูลค่าการซื้อขาย 28.46 ล้านบาท
IFEC ปิดที่ระดับ 7.55บาท เพิ่มขึ้น 0.15 บาท หรือ 2.03% มูลค่าการซื้อขาย 75.45ล้านบาท

**สัดส่วนราคารับซื้อไฟฟ้าแต่ละประเภท
เอกสารเผยแพร่ของ กพช.ระบุว่า ที่ประชุมกพช.วันนี้รับทราบหลักการรับซื้อ ไฟฟ้าตามต้นทุนที่แท้จริง(FiT) ที่กระทรวงพลังงานประกาศใช้แทนระบบรับซื้อไฟฟ้า ส่วนเพิ่ม(adder) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก(VSPP) ที่มีขนาดน้อยกว่า 10 เมกะวัตต์ ระยะเวลาสนับสนุน 20 ปี ได้แก่ พลังงานลม รับซื้อในอัตรา 6.06 บาท/หน่วย ,พลังงานน้ำ ไม่เกิน 2 เมกะวัตต์ อัตรา 4.90 บาท/หน่วย ,ชีวมวล ไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ อัตรา 5.27 บาท/หน่วย แต่หากเกิน 1 เมกะวัตต์ แต่ไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ อัตรา 4.54 บาท/ หน่วย แต่หากเกิน 3 เมกะวัตต์ อยู่ที่ 4.02 บาท/หน่วย สำหรับก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียหรือของเสีย รับซื้อในอัตรา 3.51 บาท/หน่วย, ก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน อัตรา 5.38 บาท/หน่วย
สำหรับ VSPP ที่ใข้ขยะเป็นเชื้อเพลิง ได้เพิ่มแรงจูงใจให้พัฒนาโรงไฟฟ้า เร็วขึ้น จึงได้กำหนดอัตราเงินสนับสนุนพิเศษ มากกว่าเชื้อเพลิงอื่น โดยบวกเพิ่มอีก 10-30 สตางค์/หน่วย ใน 8 ปีแรก แบ่งเป็น การผลิตไฟฟ้าไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ รับซื้อในอัตรา 6.27 บาท/หน่วย
การผลิตไฟฟ้าเกิน 1 เมกะวัตต์ แต่ไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ อยู่ที่ 5.54 บาท /หน่วย ส่วนการผลิตไฟฟ้าเกิน 3 เมกะวัตต์ รับซื้อที่ 5.02 บาท/หน่วย
ส่วนโรงไฟฟ้าจากขยะประเภทหลุมฝังกลบ ได้รับอัตราเงินสนับสนุนผลิตไฟฟ้า 4.83 บาท/หน่วย แต่มีระยะเวลาสนับสนุนเพียง 10 ปี

 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com