March 29, 2024   12:30:55 PM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > ฟิทช์จ้องหั่นเรทติ้ง 4 แบงก์ใหญ่
 

thaihoon
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 14,583
วันที่: 29/08/2014 @ 08:49:20
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

ฟิทช์ฯ สวนกระแส มองสถานะ 4 แบงก์ใหญ่ ส่อเค้าอาจโดนหั่นเครดิต เหตุแนวโน้มการเติบโตภายในประเทศเริ่มมีจำกัด หลังส่วนแบ่งการตลาดสูงมากแล้ว ในขณะที่การขยายไปต่างประเทศยังทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เน้นตอบสนองธุรกิจในประเทศเป็นหลัก เตือนอาจมีความเสี่ยงต่อฐานะการเงิน รวมทั้งการรองรับความเสี่ยงทางการเงินของทั้งระบบที่อาจสูงขึ้นด้วย หากเศรษฐกิจภายในชะลอตัวรุนแรง และยืดเยื้อ ตลอดจนการแข่งขันของแบงก์ต่างชาติที่เข้ามา ด้านโบรกฯ โต้ ฟิทช์ประเมินช้าไป 6 เดือน มั่นใจกลุ่มแบงก์กำลังฟื้น และโดดเด่นในปี 58 รับนโยบายภาครัฐฯ ที่กำลังเดินหน้า พร้อมยก KBANK SCB เป็น Top Pick ของกลุ่ม

หุ้นไทยวานนี้ (28 ส.ค.57) ปรับลดลงอย่างหนักในช่วงบ่าย ส่วนหนึ่งมาจากแรงขายในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ จากกรณีที่ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ออกมาประเมินว่า ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของไทย 4 แห่งธนาคารกรุงเทพ (BBL), ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB), ธนาคารกสิกรไทย (KBank) และธนาคารกรุงไทย (KTB) อาจจะถูกปรับลดอันดับเครดิตลง จากภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้น ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจไทย หากยังยืดเยื้อและรุนแรงเพิ่มขึ้น จะยิ่งเป็นความเสี่ยงต่อหุ้นกลุ่มนี้เป็นอย่างมาก
โดยวานนี้ ดัชนีตลาดหุ้นไทย ปิดที่ระดับ 1,559.05 จุด ลดลง 5.53 จุด หรือ -0.35 % มูลค่าการซื้อขาย 44,238 ล้านบาท ขณะที่ราคาหุ้น KBANK อยู่ที่ 225.00 บาท ลดลง 1.00 บาท หรือ 0.44% มูลค่าการซื้อขาย 636.86 ลบ. , SCB อยู่ที่ 189.50 บาท ลดลง 1.50 บาท หรือ 0.79% มูลค่าการซื้อขาย 584.34 ลบ. , KTB อยู่ที่ 23.60 บาท ลดลง 0.10บาท หรือ0.42 % มูลค่าการซื้อขาย 999 ลบ. ส่วน BBL อยู่ที่ 206.00 บาท ไม่เปลี่ยนแปลง มูลค่าการซื้อขาย 1,369.32 ลบ.

*** ชี้ 4 แบงก์ใหญ่ เสี่ยงถูกปรับลดเครดิต
รายงานข่าวจาก ฟิทช์ เรทติ้งส์ เปิดเผยว่า ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของไทย ทั้ง 4 แห่ง คือ ธนาคารกรุงเทพ (BBL), ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB), ธนาคารกสิกรไทย (KBank) และธนาคารกรุงไทย (KTB) ประสบความสำเร็จในการขยายเครือข่ายธุรกิจธนาคารแบบครบวงจร (universal bank franchises) ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ทั้งในด้านธุรกิจการบริหารจัดการกองทุน ธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ วาณิชธนกิจ และธุรกิจประกันชีวิต นอกจากนั้นธนาคารทั้ง4 แห่งยังคงมีส่วนแบ่งทางการตลาดทั้งด้านสินเชื่อและเงินฝากในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยธนาคารพาณิชย์ทั้ง 4 แห่งมีขนาดของสินทรัพย์รวมกันประมาณ 59% ของสินทรัพย์รวมของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ
ดังนั้นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ดังกล่าว น่าจะมีกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นในการรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดพร้อมกับการบริหารค่าใช้จ่ายและการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ขณะที่การขยายธุรกิจในต่างประเทศนั้นนับว่ายังมีโอกาส แต่มองว่าน่าจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยธนาคารเหล่านี้น่าจะมุ่งเน้นไปที่การตอบสนองต่อปริมาณธุรกิจ และการลงทุนในภูมิภาคที่เพิ่มมากขึ้นของบริษัทไทยเป็นหลัก
แต่การแข่งขันจากธนาคารอื่นในภูมิภาคที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในภาคการธนาคารของไทยเริ่มมีความรุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะหลังจากมีการซื้อกิจการธนาคารกรุงศรีอยุธยา (ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยที่ใหญ่เป็นอันดับ 5) ในช่วงปลายปี 2556 โดยธนาคารแห่งโตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ (Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ) แม้ว่าธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของไทยต่างมีฐานะทางการเงินที่ดีและน่าจะสามารถรับมือกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในช่วงขาลงได้ แต่ความเสี่ยงต่อฐานะทางการเงินและโอกาสในการถูกปรับลดอันดับเครดิตอาจปรับตัวเพิ่มขึ้น หากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจนั้นรุนแรงและยืดเยื้อกว่าที่คาดการณ์

*** เตือน การรองรับความเสี่ยงทางการเงินจะมีมากขึ้น หากศก. ชะลอตัวรุนแรง - ต่อเนื่อง
นอกจากนี้ รายงานข่าวจาก ฟิทช์ เรทติ้ง ระบุว่า ในรายงาน “APAC Banks - Chart of the Month report” พบว่าธนาคารพาณิชย์ของไทยมีความสามารถในการรองรับความเสี่ยงเพียงพอที่จะรับมือกับภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจได้ แต่ธนาคารเหล่านี้จะเผชิญกับความเสี่ยงมากขึ้นหากการชะลอตัวของเศรษฐกิจนั้นรุนแรงและยืดเยื้อกว่าที่คาดการณ์
การเติบโตของสินเชื่อได้ชะลอตัวลงในปีที่ผ่านมา ในขณะที่ฐานะเงินกองทุนอยู่ในระดับที่ยอมรับได้และสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) นั้นยังคงทรงตัว อย่างไรก็ตามระดับสินเชื่อภาคเอกชน (private-sector) และสินเชื่อภาคครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับสูง (ที่ 154% และ 83% ของ GDP ตามสำดับ) ซึ่งอาจทำให้ความเสี่ยงในด้านคุณภาพสินทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ฟิทช์คาดว่า การเติบโตของสินเชื่อจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเริ่มทรงตัวและมีการลงทุนเพิ่มขึ้นจากเม็ดเงินลงทุนที่ยังค้างสะสม อย่างไรก็ตามการเติบโตของสินเชื่ออาจส่งผลให้การแข่งขันในด้านเงินฝากในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่สภาพคล่องเริ่มมีการตึงตัวมากขึ้นแล้วในปัจจุบัน

*** KGI มองฟิทซ์ออกบทวิเคราะห์ช้าไป 6 เดือน ยังไม่เห็นปจัจยลบที่แบงก์ไทยจะถูกดาวน์เกรด
นักวิเคราะห์จาก บล.เคจีไอ มองว่ารายงานดังกล่าว ค่อนข้างสวนทางกับสถานการณ์ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันที่สินเชื่อเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น และมีโอกาสที่จะปรับดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจและการเมืองที่มีสัญญาณดีขึ้นแล้ว แม้ว่าสินเชื่อในบางกลุ่มอุตสาหกรรมยังไม่ฟื้นตัว แต่ยังไม่เห็นว่าจะมีปัจจัยเสี่ยงอะไรจนถึงขั้นที่จะต้องปรับลดอันดับเครดิตธนาคารพาณิชย์ แต่หากรายงานของฟิทช์ เรทติ้ง ชิ้นนี้ออกมาเมื่อ 6 เดือนก่อนหน้านี้ก็น่าจะมีความเป็นไปได้มากกว่า เพราะในช่วงก่อนหน้านี้สถานการณ์ของแบงก์ยังไม่ดีเท่าปัจจุบัน??
ขณะที่ความสามารถ ในการบริหารค่าใช้จ่ายและการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ ในปัจจุบันดีขึ้นมากเพราะทุกธนาคารใช้ระบบออนไลน์มาให้บริการลูกค้าและลดการใช้พนักงานลง และปีนี้แต่ละธนาคารได้รับผลประโยชน์จากการบริหารจัดการต้นทุนในเชิงบวกอย่างเต็มที่หลังจากหลายปีก่อนหน้าจะเป็นการลงทุนด้านระบบไอทีค่อนข้างมาก
ทางด้านภาพรวมสินเชื่อในเดือน ก.ค.จะเห็นได้ว่าแม้จะทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าแต่ก็ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะเดือน ก.ค.เป็นช่วงโลว์ซีซั่นของกลุ่มแบงก์ แต่สินเชื่อที่เติบโตโดดเด่นชัดเจนคือสินเชื่อบ้าน สะท้อนถึงความมั่นใจของประชาชนเริ่มกลับคืนมาจึงทำให้กลับมาโอนบ้านมากขึ้น ในขณะที่สินเชื่อรถยนต์ยังซบเซาซึ่งน่าจะลากยาวถึงปีหน้า ส่วนสินเชื่อธุรกิจในเดือน ก.ค.เป็นช่วงที่จะมีการกู้ใหม่น้อยกว่าการชำระคืนเงินกู้ ดังนั้น มุมมองการลงทุนสำหรับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ยังคงเป็น Neutral โดยแนะนำซื้อหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ และหลีกเลี่ยงธนาคารที่มีพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในสัดส่วนที่มาก
" ไม่ได้แปลกใจเลย ที่จริงฟิทช์ควรเสนอรายงานนี้เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว เพราะตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปทุกอย่างกำลังดีขึ้น ใครๆก็ปรับมุมมองต่อธนาคารพาณิชย์ในเชิงบวก เพราะตัวเลขต่างๆ ยอดสินเชื่อมีสัญญาณฟื้นตัว และยังไม่เห็นอะไรที่จะต้องดาวน์เกรดแบงก์" นักวิเคราะห์ กล่าว

*** DBSV คาด ฟิทซ์ กังวลหนี้ครัวเรือนที่ยังสูง มองไม่ใช่เรื่องน่าห่วง
นางสาวอาภาภรณ์ แสวงพรรค ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย)เปิดเผยกับ "สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย"ว่า มีมุมมอง Neutral หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ประเด็นดังกล่าวไม่มีอะไรที่น่าวิตกเพราะไม่ใช่เรื่องใหม่ ดังนั้นจึงแนะนำซื้อธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ได้แก่ BBL KTB KBANK SCB
"ข้อมูลของฟิทช์ไม่ได้เนกาทีฟมาก แต่ที่เขากังวลคงเป็นเรื่องภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังสูง แต่ทางธปท.ยังคงติดตามใกล้ชิด และผู้ว่าการธปท.ได้ออกมากล่าวว่า อัตราการเติบโตของหนี้ภาคครัวเรือนนั้นได้ชะลอลงจากการที่สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น"นางสาวอาภาภรณ์ กล่าว

*** KTZM มองกลุ่มแบงก์ "มากกว่าตลาด" รับศก.ปี 58 ฟื้น
บล.เคที ซีมิโก้ เปิดเผยว่า ยังคงน้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคาร ที่ “มากกว่าตลาด” โดยยังคงคาดว่าราคาหุ้นกลุ่มธนาคารจะยังปรับตัวโดดเด่นกว่าตลาดฯ อย่างต่อเนื่องในปี 58 เนื่องจากธนาคารจะเป็นกลุ่มหลักที่จะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ระดับมูลค่าหุ้นปัจจุบันยังคงมี upside อีกมาก เมื่อเทียบกับกรอบการซื้อขายในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น โดยเลือก KBANK และ SCB เป็นหุ้นเด่นในกลุ่มฯ ขณะที่มองว่า TMB ยังน่าสนใจจากประเด็นการหาพันธมิตรทางธุรกิจ
ทั้งนี้สถานะสภาพคล่องของกลุ่ม (โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่) โดยมีสัดส่วนการปล่อยกู้ต่อเงินฝาก (LDR) ที่ 97% และมีสัดส่วนการปล่อยกู้ต่อเงินฝากและเงินกู้ยืมที่ 90% ถือว่ายังอยู่ในระดับปลอดภัยและเพียงพอรองรับกับ วัฏจักรสินเชื่อขาขึ้นรอบใหม่ที่จะเริ่มขึ้นชัดเจนในปี 58 นอกจากนี้ กลุ่มธนาคารฯยังมีสภาพคล่องส่วนเกินอื่นๆ ในรูปของเงินปล่อยกู้สุทธิในตลาดเงิน (6% ของสินทรัพย์) และในรูปของเงินลงทุน (12% ของสินทรัพย์)
ขณะที่ราคาหุ้นปัจจุบันของกลุ่มธนาคารไทยยังถือว่าไม่แพงและยังน่าจูงใจสำหรับการลงทุนระยะยาว โดยระดับ P/BV ปัจจุบันที่ประมาณ +0.5SD ยังต่ำกว่าระดับเฉลี่ยในอดีตในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น ที่ซื้อขายอยู่ในกรอบบนที่ P/BV ค่าเฉลี่ยถึง +1.3SD สำหรับในแง่ PER ของ SETBANK ปัจจุบันที่ระดับราว 10.5 เท่า ก็ถือว่าต่ำกว่ากรอบบนที่ 12-13 เท่าในช่วงวัฏจักรเศรษฐกิจขาขึ้น

*** โบรกฯ ยก KBANK -SCB เป็น Top pick ของกลุ่ม
บล.ฟิลลิป เปิดเผยว่า แม้ว่าสินเชื่อของกลุ่มธนาคารในเดือน ก.ค. จะหดตัวลง แต่ยังคาดว่าใน 3Q57 ไปจนถึงสิ้นปีสินเชื่อของกลุ่มจะเร่งตัวขึ้น จากความต้องการสินเชื่อของธุรกิจขนาดใหญ่ รวมไปถึงจะเป็นช่วง High season ของการจับจ่ายซึ่งจะทำให้สินเชื่อรายย่อยเร่งตัวขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังคาดว่าการตั้งสำรองที่ลดลงน่าจะทำให้ผลประกอบการ 3Q57 ของกลุ่มธนาคารเติบโตขึ้นทั้ง q-q และ y-yโดยยังคงประมาณการกำไรสุทธิปี 2557 ของกลุ่มธนาคารไว้เหมือนเดิมที่ 2.1 แสนล้านบาท เติบโต 4% y-y
ทั้งนี้การกลับมาของโครงการลงทุนขนาดใหญ่น่าจะส่งผลดีต่อการเติบโตของสินเชื่อในช่วงครึ่งปีหลัง และต่อเนื่องไปในปี 2558 จึงให้น้ำหนักการลงทุน "มากกว่าปกติ" เลือก KBANK (ราคาพื้นฐาน 246 บาท) เป็นหุ้น Top pick ของกลุ่ม
ด้านบล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า ยังมีความคาดหวังจากความชัดเจนเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่การอนุมัติโครงการลงทุนและโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ จะช่วยฟื้นความต้องการสินเชื่อของภาคธุรกิจและครัวเรือนให้กลับมาดีขึ้น ทำให้คาดว่าสินเชื่อในครึ่งปีหลังจะเติบโตได้ดีกว่าครึ่งปีแรก ซึ่งจะส่งผลบวกต่อกลุ่มธนาคารโดยรวม ยกเว้นแต่ธุรกิจเช่าซื้อที่มีปัญหาเฉพาะตัว โดยจากความคืบหน้าทางด้านการเมืองล่าสุด ทำให้อาจปรับสมมติฐานการเติบโตของเศรษฐกิจขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประมาณการสินเชื่อและกำไร รวมถึงราคาเป้าหมายของหุ้นในกลุ่มธนาคารได้ ทั้งนี้เบื้องต้นยังเลือก SCB และ KBANK เป็น Top pick จากความสามารถในการเติบโตหากเศรษฐกิจกลับมาดี ขณะที่ BBL มองว่ามีความน่าสนใจในแง่ Valuation เนื่องจากราคาหุ้นยัง Laggard ธนาคารขนาดใหญ่อื่นๆ

*** กลุ่มแบงก์เช่าซื้อรถฟื้นปี 58 แนะถือ TCAP TISCO รับปันผล
บล.กรุงศรี เปิดเผยว่า การชะลอตัวของสินเชื่อถูกกดดันจากปัญหาการเมืองในช่วง 1H57 โดยมีมุมมองว่าสินเชื่อมีแนวโน้มจะเร่งตัวขึ้นในช่วงที่เหลือของปี หลังจากที่มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ใน 3Q57 ซึ่งคาดว่ารัฐบาลใหม่จะเร่งฟื้นความเชื่อมั่นด้วยการออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย รวมทั้งเดินหน้าขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน กอปรกับความต้องการสินเชื่อเพิ่มจากธุรกิจส่งออกที่เป็นปัจจัยฤดูกาล ซึ่งคาดว่าจะได้เห็นการเติบโตของสินเชื่อเร่งตัวดีขึ้นชัดเจนใน 4Q57
ทั้งนี้คงน้ำหนักการลงทุนกลุ่มธนาคาร “เท่ากับตลาด” จากมุมมองต่อพื้นฐานของกลุ่มฯ ที่แข็งแกร่ง และสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่จะดีขึ้นในปี 58 โดยธนาคารขนาดใหญ่ (BBL KBANK KTB SCB) จะเป็นผู้นําการฟื้นตัว เพราะฐานสินเชื่อที่กระจายตัวทั้งสินเชื่อธุรกิจ และสินเชื่อรายย่อย กอปรกับควบคุมคุณภาพสินเชื่อที่ดีกว่า เลือก KBANK (มูลค่าพื้นฐานปี 57 ที่ 236 บาท) และ KTB (มูลค่าพื้นฐานปี 57 ที่ 24.75 บาท) เป็น Top pick
นอกจากนี้ แม้ธนาคารขนาดกลาง-เล็กอาจยังมีปัญหาการชะลอตัวของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์กดดันการเติบโต แต่มองว่าสถานการณ์น่าจะปรับตัวดีขึ้นได้ในปี 58 ตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว เราคงคำแนะนำ “ถือ” สําหรับ TCAP TISCO เพื่อรับเงินปันผล และคาดหวังต่อการฟื้นตัวของธุรกิจในปี 58 ขณะที่ ปรับคําแนะนําการลงทุนของ KKP จากเดิม “ขาย” เป็น “ถือ”


 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com