April 16, 2024   1:35:24 PM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > เอกชนขานรับ"ประยุทธ์" นั่งนายกฯ
 

thaihoon
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 14,583
วันที่: 22/08/2014 @ 08:38:31
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

ภาคเอกชน ประสานเสียง รับ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นั่งนายกฯ คนที่ 29 เชื่อรัฐบาลชุดใหม่จะเดินหน้าโครงการระยะยาว หนุนศก.ฟื้น - เรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนกลับมา พร้อมลุ้นยกเลิกกฎอัยการศึก ดันภาคการท่องเที่ยวคึก - ดึงเม็ดเงินต่างชาติไหลเข้าต่อเนื่อง ด้านโบรกฯ แนะจับตา 3 ประเด็นเร่งด่วนที่รัฐบาลชุดใหม่ต้องฟลักดัน รถไฟรางคู่ - เขตศก.พิเศษชายแดน - ปฏิรูปพลังงาน ประเมิน หุ้นกลุ่ม Domesticplay รับอานิสงส์เต็มๆ ทั้งรับเหมาฯ - วัสดุก่อสร้าง - นิคมอุตสาหกรรม - ท่องเที่ยว และแบงก์ ประเมินแนวต้าน เดือนนี้ 1,574 จุด แต่ระบุ รอบ 1 เดือน Upside ของ Set index เหลือแค่ 30-50 จุด

ไม่พลิกโผสำหรับ นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 หลังจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ลงมติเห็นชอบให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนนเสียง 191 คน และงดออกเสียง 3 คน ถือเป็นคะแนนอย่างเป็นเอกฉันท์จากสมาชิก 194 คน และหลังจากเห็นโฉมหน้านายกฯ คนใหม่แล้ว บรรดาภาคเอกชนและภาคธุรกิจ ต่างมีมุมมองในเชิงบวกต่อทิศทางการเมือง เพราะจะช่วยให้นโยบายภาครัฐที่คั่งค้าง กลับมาเดินหน้าได้เต็มที่อีกครั้ง ส่วนบรรดาโบรกเกอร์ หรือบริษัทหลักทรัพย์ เชื่อว่าตลาดหุ้นเดินหน้าต่อ และแนะนำนักลงทุนลงทุนในหุ้นกลุ่ม Domestic Play ที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการภาครัฐฯ
อย่างไรก็ดี วานนี้ (21 ส.ค.) ตลาดหุ้นไทยตอบรับข่าวในเชิงบวกเพียงเล็กน้อย เนื่องจากมีคาดการณ์ไว้ก่อนล่วงหน้าแล้วหลายสัปดาห์ โดยดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1551.41 จุด เพิ่มขึ้น 0.64 จุด หรือ 0.04% มีมูลค่าการซื้อขาย 47,958.15 ล้านบาท

*** CIMBT มั่นใจศก.ฟื้น หลังได้รัฐบาลใหม่ แนะเดินหน้าโครงการลงทุนระยะยาวกระตุ้นเชื่อมั่น
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า สำนักวิจัยฯ มองว่าหลังมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี และมีการนำเสนอนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ เศรษฐกิจไทยน่าจะสามารถฟื้นตัวได้ดี หลังจากที่หดตัว 0.1% ในช่วงครึ่งแรกของปี จากการที่รัฐบาลใหม่จะสามารถเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณ และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุนและผู้บริโภคได้ดีขึ้น
ทั้งนี้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการลงทุนภาครัฐเพียงราว 20% ของงบประมาณภาครัฐ ซึ่งอาจไม่พอที่จะสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจในระยะยาว แม้การลงทุนภาครัฐเป็นสัดส่วนไม่มากนักต่อเศรษฐกิจ แต่ที่มีความสำคัญเนื่องจาก หากภาครัฐลงทุนนำร่อง เอกชนจะลงทุนตาม เนื่องจากต้นทุนการลงทุนลดลง ซึ่งการลงทุนภาคเอกชนนั้นมีสัดส่วนใหญ่กว่าภาครัฐมาก และจะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ดี
“สิ่งที่อยากฝากให้แก่รัฐบาลใหม่ที่กำลังจะมีการจัดตั้งคือ ขอให้พยายามสร้างความเชื่อมั่นให้ได้ว่า โครงการลงทุนภาครัฐที่จะเกิดขึ้นนี้สามารถดำเนินต่อไปได้ในระยะยาว แม้สิ้นสุดยุคคสช. ไปแล้ว รัฐบาลใหม่ก็จะยังคงดำเนินการต่อเนื่องไปได้ ไม่มีการสะดุดหรือเปลี่ยนแปลงมากนัก เนื่องจากหากภาคเอกชนไม่มั่นใจว่า โครงการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ หรือปีหน้า จะสามารถมีความต่อเนื่องระยะยาวได้ เขาอาจไม่ลงทุนเต็มที่ และโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโตอย่างรวดเร็วก็อาจไม่บรรลุผลได้” นายอมรเทพ กล่าว

*** ห่วง 3 ปัจจัยเสี่ยงฉุดศก. แนะรัฐฯ ลดต้นทุนขนส่ง - เพิ่มขีดความสามารถ ผลักดันโครงการ 2.4 ล้านลบ.
นายอมรเทพ กล่าวต่อว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะสามารถฟื้นตัวได้ แต่ก็อาจไม่สามารถเร่งตัวได้แรงเช่นในอดีต เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจเปลี่ยนไปจากเดิม ทั้งนี้สำนักวิจัยมองว่ามีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยใน 3 ประเด็น คือ
1. ครัวเรือนไทยมีหนี้สูงขึ้นมาก โดยสัดส่วนหนี้ต่อ GDP พุ่งขึ้นเร็วจากราว 63% ปลายปี 2553 เป็น 82.3% ในปลายปี 2556 โดยหนี้ที่เร่งตัวสูงขึ้นส่งผลให้ภาคครัวเรือนเผชิญปัญหารายจ่ายเพื่อการชำระหนี้สูงขึ้น จึงเหลือเงินน้อยลงเพื่อการบริโภคสินค้าอื่นๆ ซึ่งมีผลให้การบริโภคภาคเอกชนที่มีสัดส่วนราว 50% ของ GDP ไม่อาจเติบโตได้ดีนักในอนาคต อีกทั้งหากอัตราดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นจะยิ่งส่งผลต่อความสามารถในการใช้จ่ายของภาคเอกชนอีกด้วย หนทางลดความเสี่ยงคือการสร้างค่านิยมการออมให้กับสังคม และสร้างทัศนคติการบริโภคอย่างพอเพียงตามความสามารถในการจ่าย นอกจากนี้ รัฐบาลใหม่ไม่ควรนำนโยบายประชานิยมมากระตุ้นการบริโภคที่เกินพอดีให้แก่ประชาชน
2. ภาคการส่งออกของไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไทยยังไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีให้สูงขึ้น และตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของความต้องการของตลาดโลกได้ เช่น ไทยยังพึ่งพิงการส่งออกสินค้าเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ โดยเฉพาะ Hard Disk Drive ที่ความต้องการตลาดโลกหดตัว ทั้งนี้ หากนักลงทุนไทยได้รับการถ่ายโอนด้านเทคโนโลยีจากนักลงทุนต่างประเทศได้ หรือมีการพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นเอง ก็จะช่วยให้ผู้ส่งออกไทยก้าวผ่านปัญหานี้ไปได้ แต่ก็มีคำถามคือเราจะสามารถดึงดูด FDI ได้มากน้อยเพียงไร จึงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป นอกจากนี้ภาครัฐควรให้การสนับสนุนให้ผู้ผลิตไทยเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานโลก (Global supply chain) ให้มากขึ้น เนื่องจากจะช่วยลดความเสี่ยงจากการที่ตลาดส่งออกในบางประเทศชะลอตัว เพราะหากส่งออกชิ้นส่วนเพื่อไปใช้ประกอบหรือเชื่อมโยงกับการส่งออกของประเทศปลายทางแล้ว จะช่วยให้การส่งออกไทยเติบโตไปกับตลาดโลกได้ดีขึ้น
3. ปัญหาการขาดแคลนแรงงานเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต สังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ โดยสัดส่วนคนในวัยแรงงานมีแนวโน้มจะลดลงต่อเนื่อง ซึ่งหากมีแรงงานลดลง เศรษฐกิจก็ไม่อาจเติบโตได้ดี ทั้งนี้ วิธีแก้ปัญหาคือการพยายามให้แรงงานที่มีอยู่สามารถผลิตสินค้าได้จำนวนมากขึ้น หรือการสร้างประสิทธิภาพของแรงงานให้สูงขึ้น ซึ่งจะมาพร้อมเทคโนโลยี การศึกษา และการลดต้นทุนการผลิตอื่นๆ
" แม้เศรษฐกิจไทยจะมีความเสี่ยง 3 ประการข้างต้น แต่ยังมีทางออกอยู่บ้าง นั่นคือการลงทุนภาครัฐเพื่อลดต้นทุนการขนส่ง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่เอกชนไทย ซึ่งโครงการ 2.4 ล้านล้านบาทที่มีการหยิบยกมาพูดกันนั้น น่าจะสามารถผลักดันให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ หรือไม่เข้าสู่การชะลอตัวมากนักในอนาคต" นายอมรเทพ กล่าว

*** "วิกรม" ขอ ปชช.ให้โอกาส"ประยุทธ์" หวังชาติพัฒนาอย่างยั่งยืน
นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA กล่าวว่า ประชาชนคนไทยควรให้โอกาสพลเอกประยุทธ์ เข้ามาทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะสงบสุข และให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน หลังจากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยเกิดความไม่สงบสุข ประชาชนแตกแยก ซึ่งถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมา ถึงขั้นมีการพูดถึงการแบ่งประเทศ แต่หลังจากที่มีการรัฐประหารเกิดขึ้นในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ ประเทศไทยเกิดเสถียรภาพมีความสงบสุขมั่นคง และทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีแผนการพัฒนาประเทศ และมีความต้องการที่จะปราบปรามคอร์รัปชั่นให้หมดไปจากประเทศไทย โดยคนไทยควรให้กำลังใจพลเอกประยุทธ์ ในการเข้ามาพัฒนาประเทศ
"ส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยกับการมีนายกฯที่เป็นทหารในยุคนี้ แต่จากสถานการณ์บ้านเมือง 10 ปีที่ผ่านมา เกิดความไม่สงบสุข ประชาชนเกิดความแตกแยก ซึ่งไม่เคยเห็นมาก่อนในอดีต จนถึงขั้นพูดถึงการแบ่งประเทศ แต่หลังจากมีการทำรัฐประหารจนถึงวันนี้ 3 เดือนแล้ว ประเทศไทยก็มีเสถียรภาพมากขึ้น ตอนนี้ก็มีนโยบายพัฒนาประเทศแผนปราบปรามคอร์รัปชั่น ดังนั้นจึงควรให้กำลังใจพลเอกประยุทธ์ในการเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกฯ"นายวิกรม กล่าว

*** เอกชน ประสานเสียง หนุนนายกฯคนใหม่
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานสภาหอการค้าไทย กล่าวว่า การเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ถือว่าเหมาะสมกับสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน แต่ปัญหาเร่งด่วนที่ควรแก้ไขคือ เรื่องการฟื้นเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง ด้วยการผลักดันการส่งออก การลงทุนภาคเอกชน และฟื้นความเชื่อมั่นผู้บริโภค ขณะที่ระยะยาวเมื่อจัดตั้งรัฐบาลได้แล้วควรจะเดินหน้าจัดทำยุทธศาสตร์ประเทศระยะยาว 10-15 ปี เพื่อกำหนดว่าประเทศควรเดินไปในทิศทางใด โดยเฉพาะการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจสีเขียว จะมีรูปแบบอย่างไร ภาคเอกชนต้องมีส่วนร่วมและรับผิดชอบต่อสังคมอย่างไร จึงถือว่าการทำงานของรัฐบาลใหม่จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศ
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ทุกปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ถือว่าในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา คสช.ทำได้ดีมาก ดังนั้น เมื่อมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากหัวหน้า คสช.ก็เชื่อว่าจะแก้ปัญหาและรับรู้ปัญหาต่างๆ ได้เป็นอย่างดี จึงอยากให้นายกฯ แก้ไขปัญหาทุกด้านให้เรียบร้อย
" มองว่าทุกปัญหาจะต้องใช้เวลาพอสมควร และหากเป็นไปได้ นายกรัฐมนตรีควรอยู่บริหารประเทศก่อนเลือกตั้งใหม่ไปอย่างน้อย 2-3 ปี เพราะเวลา 1 ปีไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาหลายปีได้หมดอย่างแน่นอน" นายอัทธ์ กล่าว

*** ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ชี้ นักธุรกิจเอเชีย 5 ชาติยังเชื่อ มั่นคสช.แก้ปัญหาศก.-การเมือง
นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยผลสำรวจความเห็นของ นักธุรกิจเอเชียจาก 5 ชาติ ประกอบด้วย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี และ มาเลเซีย ที่ทำธุรกิจอยู่ในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 1 ปี รวมจำนวน 660 คน เกี่ยวกับความเชื่อมั่นที่มีต่อการทำงานของคสช. โดยสำรวจระหว่างวันที่ 8-18 ส.ค.57 พบว่า 88.2% เชื่อมั่นเพิ่มขึ้นต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่ 8.6% ระบุว่าเชื่อมั่นเท่าเดิม และอีก 3.2% มีความเชื่อมั่นลดลง
โดยผลสำรวจ ยังพบว่า ความเชื่อมั่นที่มีการต่อการแก้ปัญหาทางการเมืองของคสช. ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา กลุ่มตัวอย่าง 82.1% ระบุว่ามีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น,14.8% มีความเชื่อมั่นเท่าเดิม และอีก 3.0% มีความเชื่อมั่นลดลง
โดยนักธุรกิจจาก 5 ชาติ ประเมินผลการทำงานของคสช. ใน 5 ด้าน ได้แก่ ความโปร่งใสในการทำงาน, ความรวดเร็วในการทำงาน, แนวทางแก้ปัญหาที่เหมาะสม, การสื่อสารผลงานให้สาธารณชนได้รับรู้ และ การเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็น ซึ่งพบว่า โดยภาพรวม ได้คะแนน 8.62 คะแนน ส่วนผลสำรวจ ระบุด้วยว่า คสช.ได้คะแนนด้านความโปร่งใสในการทำงานมากที่สุด 8.86 คะแนน ตามมาด้วย การสื่อสารผลงานฯ 8.74 คะแนน , การเปิดกว้างรับฟัง ความคิดเห็น 8.55 คะแนน, แนวทางแก้ปัญหาฯ 8.52 คะแนน และ ความรวดเร็ว ในการทำงาน ได้ 8.45 คะแนน
สำหรับคำถามเรื่อง ระยะเวลาที่เหมาะสมในการทำงานของ คสช. ก่อนจัดให้มี การเลือกตั้ง พบว่า 83.8% เห็นว่า ไม่ควรมีการกำหนดเวลาไว้ตายตัว แต่ควรประเมิน จากการทำงาน ว่าทำได้ตามที่วางแผนไว้เสร็จเรียบร้อยหรือยัง , 7.4% ระบุว่า ไม่เกิน 3 ปี , 7.1% ระบุ ไม่เกิน 2 ปี และอีก 1.7% ระบุว่า ไม่เกิน 1 ปี
ทั้งนี้ระดับความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นของนักธุรกิจเอเชีย ถือเป็นสัญญาณที่ดี สะท้อนให้เห็น ถึงการยอมรับแนวทางการทำงานของคสช. อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ยังจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาการคอร์รัปชั่น หรือปัญหาของระบบการศึกษา ที่ไม่สามารถสร้างกำลังคนที่มีคุณภาพ ได้ตามที่นายจ้างคาดหวัง ล้วนแต่เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไขเช่นกัน
เขากล่าวอีกว่า การปฏิรูปที่กำลังเดินหน้าอยู่ในขณะนี้ จะต้องสร้างสมดุลระหว่าง การพื้นฟูประเทศให้เร็วที่สุด กับการส่งเสริมให้ประเทศไทยสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงใน ระยะยาว ไม่ปล่อยให้ปัญหาที่เคยเกิดขึ้น กลับมาเกิดซ้ำได้อีก

*** บล.ไอร่า แนะจับตา 3 เรื่อง รถไฟรางคู่ - เขตศก.พิเศษชายแดน - ปฏิรูปพลังงาน
บทวิเคราะห์จาก บล.ไอร่า ระบุว่า จากนี้ไปตลาดหุ้นไทยยังมีปัจจัยบวก หลังมีรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในเดือนนี้ (เร็วกว่ากำหนดเดิม ประมาณ 1 เดือน) และจะช่วยให้การดำเนินนโยบายต่างๆ มีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเร่งใช้จ่ายงบประมาณ’58 ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณา และคาดสามารถใช้ได้ทัน ในวันที่ 1 ต.ค. นี้ คาดช่วยสร้างความเชื่อมั่นการลงทุนกลับมาดีขึ้นตามลำดับ รวมถึงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง และต่อเนื่องไปปี 2558
ทั้งนี้ยังแนะนำติดตามประเด็นเรื่องความคืบหน้าในโครงการที่พร้อมเปิดประมูล หลังมีความชัดเจนแหล่งเงินทุนที่จะนำมาใช้ โดยเฉพาะโครงการรถไฟทางคู่ 6 เส้นทางที่ผ่าน EIA ไปแล้วเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา รวมถึงโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ รวมถึงเรื่องภาครัฐเตรียมผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษ 6 แห่ง โดยกระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอโครงการพัฒนาเส้นทางคมนาคมเชื่อมด่านการค้าชายแดน 6 แห่ง นอกจากนี้ยังมีประเด็นการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ที่อาจจะส่งผลกระทบหุ้นในกลุ่มโรงกลั่น และปิโตรเคมี

*** โนมูระฯ ลุ้นยกเลิกอัยการศึก หนุนหุ้นท่องเที่ยว
นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและการลงทุน บล.โนมูระพัฒนสิน เปิดเผยหลังที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ลงมติวาระการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ปรากฏสมาชิกในที่ประชุมจำนวน 194 คน ลงมติเห็นชอบให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นนายกรัฐมนตรี ว่ายังมีมุมมองเป็นกลางเพราะเป็นประเด็นที่ตลาดได้คาดการณ์เอาไว้แล้ว แต่อย่างไรก็ตามปัจจัยดังกล่าวถือว่าส่งผลดีต่อกลุ่ม Domestic Plays ที่พล.อ.ประยุทธให้ความสำคัญกับแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ
"เรามองภาพในเดือนนี้ ตลาดแกว่งขึ้นต่อเข้าใกล้ระดับ 1576 +/-จุด โดยให้ใช้เป็นจุดขายทำกำไรบางส่วน เน้นท่องเที่ยวที่ได้รับปัจจัยเชิงบวกต่อการมีรัฐบาลรักษาการแล้วประกาศยกเลิกกฏอัยการศึกที่จะทำให้ภาพของการท่องเที่ยวในประเทศดีขึ้นและเรียกความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวได้ " นายกรภัทรกล่าว
กลยุทธ์การลงทุน แนะนำลงทุนในหุ้น กลุ่มท่องเที่ยวที่จะฟื้นตัวขึ้นหลังมีรัฐบาลและโอกาสที่จะยกเลิกกฏอัยการศึกบางส่วนสนับสนุนการท่องเที่ยว (ERW,MINT,AOT,NOK,AAV) 2)รับผลประโยชน์เชิงบวกเกี่ยวกับแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเร่งด่วน (CK,STEC) 3)กลุ่มธนาคารพาณิชย์ (KBANK,KTB,TMB)

*** KGI เชียร์หุ้น Domestic play
ด้าน บล.เคจีไอ (KGI) ระบุว่า ปัจจัยบวกหลักต่อตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ คือเศรษฐกิจและเสถียรภาพการเมืองไทย หลังวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับเลือกเป็นนายกฯ คนที่ 29 ทั้งนี้นักเศรษฐศาสตร์ KGI คาด GDP ไตรมาส 3/57 ฟื้นตัวสู่ 3.5-4.0% YoY เทียบกับ -0.1% YoY ในครึ่งปีแรก โดยยังคงเป้า SET ไตรมาส 3 ที่ 1,600 จุด ดังนั้นการลงทุนจึงเน้นเก็งกำไรในหุ้น Domestic play ที่รับนโยบายรัฐบาล (รับเหมาก่อสร้าง, ธนาคารพาณิชย์, วัสดุก่อสร้าง ) +AOT โดยกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง มีหุ้นเด่นคือรับเหมาฯขนาดใหญ่ CK - STEC - UNIQ / ตัวเล็ก SCP, PYLON , กลุ่มธนาคารพาณิชย์อย่าง KTB , กลุ่มวัสดุก่อสร้าง SCC, GLOBAL คาดได้ Sentiment บวกจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งเป็นบวกต่อนโยบายการลงทุนภาครัฐฯ

*** ฟิลลิป - ทิสโก้ การเมืองดี - หนุนหุ้นไทยดีตาม
ส่วน บล.ฟิลลิป ประะเมินว่า ตลาดหุ้นช่วงนี้ได้รับผลดีจากความคืบหน้าสถานการณ์การเมืองไทย ซึ่งมองว่าความคืบหน้าในด้านการเมือง จะนำไปสู่การยกเลิกกฎอัยการศึก ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อเม็ดเงินที่จะเข้ามาลงทุนจากต่างชาติ จากข้อกำหนดห้ามลงทุนในประเทศที่มีกฎอัยการศึก รวมถึงจะช่วยลดความกดดันต่อกลุ่มท่องเที่ยว,กลุ่มการแพทย์ ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าชาวต่างชาติกลับมาสู่ระดับปกติ อย่างไรก็ดีในระยะกลาง (1 เดือน ) มอง Upside ของดัชนี Set index จากจุดนี้เพียง 30-50 จุด แนะนำเพียงซื้อเก็งกำไร
สำหรับ บล.ทิสโก้ มองว่า หุ้นในปท.ได้รับประโยชน์หลังได้รัฐบาลใหม่ อาทิ ธุรกิจรับเหมา-วัสดุก่อสร้าง ชอบ STEC, CK, SCC ธุรกิจท่องเที่ยว ชอบ AOT ธุรกิจค้าปลีก ชอบ BEAUTY, MC ธุรกิจนิคมฯ-คลังสินค้า ชอบ AMATA, HEMRAJ, WHA หุ้นที่ออกงบ Q2 ออกมาดีและยังมีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง มีโอกาสถูกปรับประมาณการและมูลค่าเหมาะสมขึ้น น่าสนใจระยะสั้น เราแนะนำ BCP, HANA, MAJOR, RCL

 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com