April 20, 2024   6:11:48 AM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > โบรกฯจ่ออัพเป้าแบงก์-Q2กำไรดีเกินคาด
 

thaihoon
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 14,583
วันที่: 22/07/2014 @ 08:15:09
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

โบรกฯ เล็งเพิ่มประมาณการกำไรหุ้นแบงก์ หลังผลงาน Q2/57 ดีกว่าคาด จาก NIM ที่เพิ่มขึ้นและการตั้งสำรองหนี้ลดลง พร้อมมองข้ามช็อต คาดสินเชื่อครึ่งปีหลังขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ ชู SCB-KKP-KBANK เป็น Top Picks แต่ระยะสั้นอาจเจอแรงขายทำกำไร หลังหุ้นพุ่งรับข่าวไปมากแล้ว แนะทยอยสะสมเมื่ออ่อนตัว ขณะที่ 11 แบงก์ประกาศงบโค้ง 2 โกยกำไรรวม 52,378 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.36% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

**ASP เล็งเพิ่มเป้าหุ้นแบงก์
บทวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า การประกาศผลประกอบการกลุ่มธนาคารพาณิชย์ทั้ง 7 แห่ง คือ (BBL,KBANK, SCB, TMB, TISCO, LHBANK และ TCAP) รายงานกำไรสุทธิรวมราว 4 หมื่นล้านบาท เติบโต 6.8%YoY และ 10.7%QoQ ซึ่งเป็นฐานกำไรที่สูงกว่าความคาดหมาย จากที่คาดว่าจะทรงตัว ทั้งนี้เกิดจากเหตุปัจจัย 2 ประการคือ NIM (Net Interest Margin) ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น หลังจากต้นทุนเงินฝากปรับลดลง ตามการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ในเดือน เม.ย. และการตั้งสำรองหนี้ที่มีปัญหาต่ำกว่าคาด สะท้อนภาพความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่ผ่อนคลายลง
ผลประกอบการที่ดีขึ้นดังกล่าว นำไปสู่การปรับเพิ่มประมาณการและ Fair Value ของ 2 ธนาคารใหญ่ คือ KBANK และ SCB ที่ล้วนแต่มีแนวโน้มผลกำไรโตในในช่วง 2H57 จากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว หลังจากซบเซาอย่างมากในงวด 1H57 รวมทั้งธนาคารขนาดกลางที่ปรับขึ้นไปก่อนหน้านี้ คือ TMB ยังผลให้มีโอกาสปรับเพิ่มประมาณการกำไรกลุ่มธนาคารพาณิชย์
อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้น ธ.พ.ได้มีการปรับตัวขึ้นมากเกือบ 40% จากต้นปีจนถึงปัจจุบัน จึงแนะนำให้ทยอยซื้อสะสมเมื่อราคาอ่อนตัว โดยเลือกหุ้น Top Picks คือ SCB FV@B 220) และ KKP (FV@B 52.2)

**คาดสินเชื่อ-ค่าธรรมเนียมกระฉูดครึ่งปีหลัง
ด้าน บล.กรุงศรี เราคาดว่าสินเชื่อจะกลับมาขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญใน 2H57 ตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องทำให้รายได้ค่าธรรมเนียมจากการปล่อยสินเชื่อ, ธุรกรรมการโอนเงิน, ธุรกิจตลาดทุนเติบโตสูงขึ้นเทียบกับใน H1 ส่วนค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับ bacassurance ยังคงมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีต่อเนื่องใน 2H57 นอกจากนี้ ผลบวกจากเศรษฐกิจฟื้นตัวยังทำให้คุณภาพสินเชื่อมีความเสี่ยงต่อหนี้เสียลดลง และแรงกดดันจากการตั้งสำรองหนี้ฯ ลดลงตามมา
แม้ในปี 57 จะไม่ใช่ปีแห่งการเติบโตของกลุ่มธนาคาร โดยคาดว่ากำไรของกลุ่มฯ เติบโตเพียง 2.8%YoY จากเติบโต 28% ในปี 56 แต่เรามีมุมมองเชิงบวกต่อพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และทิศทางการฟื้นตัวของสินเชื่อที่ล้อกับเศรษฐกิจ เราคงน้ำหนักการลงทุนกลุ่มธนาคาร "เท่ากับตลาด" โดยมองว่าธนาคารขนาดใหญ่จะเป็นผู้นำในการฟื้นตัว เพราะมีคุณภาพสินเชื่อแข็งแกร่ง และพอร์ตสินเชื่อสมดุลกระจายตัวทั้งในสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อรายย่อย
ขณะที่ธนาคารกลางและเล็กที่พอร์ตสินเชื่อกระจุกตัวในสินเชื่อรายย่อยอาจยังได้รับผลกระทบจากตลาดรถยนต์ชะลอตัวกดดันการเติบโต
กลยุทธ์การลงทุน Selective buy เลือก KBANK (Fair value ที่ 236 บาท) และ KTB (Fair value ที่ 24.75 บาท) เป็น Top pick ทั้งนี้ การปรับขึ้นของราคาหุ้นธนาคารเฉลี่ย 22.9% จากสิ้นปี 56 ทำให้กลุ่มฯ ซื้อขาย P/BV ปี 57 เท่ากับค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ 1.6 เท่า ดังนั้น อาจมีแรงขายทำกำไรระยะสั้นหลังการประกาศผลการดำเนินงาน

** SCB ได้เปรียบสุดในภาวะ ศก.ฟื้นตัว
บทวิเคราะห์ บล.เคที ซีมิโก้ ระบุว่า SCB มีกำไรสุทธิ 14.7 พันล้านบาท ใน 2Q57 (+16% YoY, +12% QoQ) ดีกว่าที่เราคาด (13.6 พันล้านบาท) 8% และดีกว่าตลาดคาด (13.8 พันล้านบาท) 7% ขณะที่กำไรสุทธิงวดครึ่งปีแรก ที่ 27.9 พันล้านบาท (+8% YoY) คิดเป็น 52% ของประมาณการปี 57 ของเรา จึงคงประมาณการกำไรไว้เช่นเดิม
กำไรสุทธิ 2Q57 ดีกว่าที่เราคาด หลักๆ เป็นผลจากการตั้งสำรองหนี้ที่ต่ำกว่าคาดและ NIM สูงกว่าคาด (ราว 10 bps) โดยก่อนหน้านี้ เราคาด SCB จะตั้งสำรองหนี้พิเศษ 1 พันล้านบาท เพิ่มจากการตั้งสำรองปกติ โดยหากไม่รวมรายการดังกล่าว กำไรปกติค่อนข้างใกล้เคียงกับประมาณการของเรา
เราคงแนะนำ ซื้อ และราคาเป้าหมายปี 58 ที่ 220 บาท/หุ้น (คิดเป็น P/BV เป้าหมาย 2.3 เท่า) เรายังชอบ SCB จากแนวโน้ม ROE และฐานรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับคู่แข่ง อีกทั้ง SCB ยังอยู่ในสถานะที่ได้เปรียบในการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ ในช่วงเศรษฐกิจกลับฟื้นตัว
ล่าสุดหุ้น SCB ปิดการซื้อขายที่ 180.50 บาท

** ส่องกล้องหุ้น SCB
โบรกเกอร์ คำแนะนำ
คันทรี่ กรุ๊ป ซื้อลงทุน ราคาพื้นฐานที่ 200 บาท (P/BV 2.4 เท่า)
เคที ซีมิโก้ ซื้อ มูลค่าพื้นฐาน 220.00 บาท
ฟิลลิป "ทยอยซื้อ" ราคาพื้นฐาน 204.00 บาท
ทิสโก้ "ซื้อ" มูลค่าที่เหมาะสม 198 บาท (GGM)
กรุงศรี "ซื้อ" มูลค่าพื้นฐานที่ 201 บาท
ทรีนีตี้ "ซื้อ" ราคาเป้าหมายปี 2558 ที่ 198 บาท อิง PBV 2.1 เท่า
ดีบีเอสวิคเคอร์ส ซื้อ ราคาพื้นฐาน 220 บาท
ซีไอเอ็มบี ถือ ราคาเป้าหมาย 197 บาท
เคจีไอ ซื้อ ราคาเป้าหมายที่ 200.00 บาท

** KBANK มี NIM แข็งแกร่งสุด
บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส ระบุว่า KBANK รายงานกำไรสุทธิ 2Q57 เท่ากับ 11.7 พันล้านบาท (+7%YoYและ -2%QoQ) สำหรับกำไรสุทธิ 1H57 เติบโต 14%YoY เป็น 23.7 พันล้านบาท ด้าน NIM แข็งแกร่งมาก โดยอยู่ที่ 3.8% ใน 2Q57 เพิ่มขึ้นจาก 3.5% ใน 2Q56 และ 3.6% ใน 1Q57 เพราะต้นทุนการเงินที่ต่ำลง รวมทั้ง Yield ของสินเชื่อเพิ่มขึ้นด้วยรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยทรงตัว QoQ แต่ขยายตัวได้ 7.5%YoY โดยหลักมาจากธุรกิจบัตรต่างๆ , ค่าธรรมเนียมการปล่อยสินเชื่อ,บริหารจัดการกองทุนรวม และธุรกิจหลักทรัพย์
ธนาคารตั้งสำรองค่าเผื่อฯ 3.0 พันล้านบาทใน 2Q57 เพิ่มจาก 2.2 พันล้านบาทใน 2Q56 แต่น้อยลงจาก 3.7 พันล้านบาทใน 1Q57 ธนาคารจัดการ NPL ได้ดี โดยเพิ่มขึ้นเพียง 1% (หลักๆ มาจาก SME) ซึ่งน้อยกว่าคาด ทำให้ NPL ratio ทรงตัวที่ 2.1% ในสิ้น 2Q57
ทั้งนี้คาดว่าการเติบโตใน 2H57 ของ KBANK จะได้รับการสนับสนุนจาก NIM ที่สูงและรายได้ค่าธรรมเนียมที่เติบโตดี รวมทั้งเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวจะช่วยให้การเติบโตของสินเชื่อใน 2H ดีขึ้น ส่วนในปี 58 มีแนวโน้มว่าผลประกอบการจะขยายตัวดีขึ้นมาก เนื่องจากการลงทุนของกลุ่ม SME ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของ Corporate ฟื้นตัวดีขึ้น??แนะนำซื้อ โดยให้ราคาพื้นฐาน 262 บาท เทียบเท่ากับ P/BV ปี 58 ที่ 2.1 เท่า จุดเด่นของ KBANK คือ NIM สูง, รายได้ค่าธรรมเนียมขยายตัวแกร่ง และมีฐานลูกค้า SME กว้างขวาง
ล่าสุดหุ้น KBANK ปิดที่ 216 บาท

** ส่องกล้องหุ้น KBANK
โบรกเกอร์ คำแนะนำ
เคที ซีมิโก้ "ซื้อ" มูลค่าพื้นฐาน 260.00 บาท
คันทรี่ กรุ๊ป "ซื้อลงทุน" ราคาพื้นฐานที่ 230 บาท
ทิสโก้ "ซื้อ" มูลค่าที่เหมาะสม 215 บาท (GGM)
กรุงศรี "ซื้อ" มูลค่าพื้นฐานที่ 236 บาท
ทรีนีตี้ "ซื้อ" ราคาเป้าหมายสำหรับปี 2558 ที่ 233 บาท อิง PBV 1.95 เท่า
ดีบีเอสวิคเคอร์ส "ซื้อ" ราคาพื้นฐาน 262 บาท
เคจีไอ "ซื้อ" ราคาเป้าหมายที่ 230.00 บาท

**KKP Downside จำกัด ปันผลจูงใจ
บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า เรายังไม่คาดหวังการฟื้นตัวของ KKP ในงวด 2Q57 เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจไม่เป็นใจ แต่ให้น้ำหนักไปที่งวด 2H57 มากกว่า โดย KKP เป็นธนาคารที่ได้เปรียบธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กอื่นๆ เนื่องจากมีรายได้จากธุรกรรมตลาดทุนที่แข็งแกร่ง พร้อมฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
แนะนำซื้อ KKP โดย Fair value ปี 2557 ตามวิธี GGM อิง PBV 1.27 เท่าภายใต้คาดการณ์ ROE ระยะยาวที่ 14.4% คือ 52.20 บาท นอกจากนี้ ยังคาด Div yield เฉลี่ยสูงกว่า 6-8% p.a. (จ่ายปีละ 2 ครั้ง) ในช่วง 3 ปีข้างหน้า
ล่าสุดหุ้น KKP ปิดที่ 46 บาท

** ผลการดำเนินงานกลุ่มแบงก์ Q2/57 (ลบ.)

ธนาคาร Q2/57 Q2/56 เปลี่ยนแปลง (%)
BAY 3,460.39 3,035.05 14.01
BBL 9,029.21 10,250.36 -11.91
CIMBT 184.32 230.63 -20.07
KBANK 11,731.60 10,979.01 6.85
KKP 601.21 1,237.18 -51.40
KTB 7,539.78 6,513.84 15.75
LHBANK 306.45 294.07 4.20
SCB 14,723.14 12,643.52 16.44
TCAP 1,235.29 4,078.14 -69.70
TISCO 991.78 1,159.13 -14.43
TMB 2,575.30 251.53 923.85
รวม 52,378.47 50,672.46 3.36

ที่มา : eFinanceThai.com รวบรวม


 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com