April 23, 2024   7:01:59 PM ICT
รู้จักกลไกการทำงาน ของ Equity ETF

สำหรับ "กองทุนEquity ETF" กองแรกของประเทศไทยกองนี้ ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้คัดเลือกให้ "ทีมของบลจ.วรรณ" เป็นผู้จัดตั้งและบริหารกองทุน ซึ่งประกอบด้วย "บลจ.วรรณ" เป็นผู้จัดการกองทุน "บล.เคจีไอ" เป็นผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker : MM) มี "บล.กิมเอ็ง" "บล.บัวหลวง" "บล.ธนชาต" และ "บล.ซิตี้คอร์ป" เป็นผู้ร่วมค้า (Authuorized Participant : AP) ทั้งนี้ ที่กองทุน ETF มีผู้ที่เข้ามาเกี่ยวข้องค่อนข้างเยอะเช่นนี้ก็เพราะกองทุน ETF มีโครงสร้างลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากกองทุนรวมทั่วๆ ไปนั่นเอง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ "ดร.สมจินต์ ศรไพศาล" กรรมการผู้จัดการ บลจ.วรรณ อธิบายให้ฟังว่า กองทุน ETF จะมี 2 ราคา คือ

1. "ราคาซื้อขายบนตลาดรอง" ซึ่งราคานี้เป็นราคาที่ผู้ลงทุนรายย่อยหรือผู้ลงทุนสถาบันจะเข้าถึงได้ เพราะเป็นช่องทางเดียวสำหรับนักลงทุนในการซื้อขายเหมือนกับการซื้อขายหุ้นโดยทั่วไป

2. "มูลค่าต่อหน่วย (NAV)" ซึ่งราคานี้จะมีแค่ผู้ร่วมค้า หรือผู้ดูแลสภาพคล่องซึ่งถือเป็นผู้ร่วมค้าเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงได้ เพราะผู้ร่วมค้าเป็นกลุ่มเดียวเท่านั้นที่จะสามารถสร้างหน่วยลงทุนหรือไถ่ถอนหน่วยลงทุนในกองทุน ETF ซึ่งจะทำให้ขนาดของกองทุน ETF มีการเปลี่ยนแปลง "เพิ่มขึ้น" หรือ "ลดลง" ได้ เพราะกองทุน ETF เอง ก็เป็นกองทุนเปิด ซึ่งขนาดของกองทุนสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากลักษณะของกองทุน ETF มีความซับซ้อนในโครงสร้างของ "การออกหน่วย" และ "การไถ่ถอนหน่วย" เพราะต้องมีขั้นตอนที่เรียกว่า "In Kind" คือ การนำเอากลุ่มหลักทรัพย์ที่กำหนดตามสัดส่วนดัชนีที่อ้างอิงเพื่อไปแลกเปลี่ยนกับผู้จัดการกองทุน ซึ่งจะเป็นหน้าที่ของกลุ่มผู้ร่วมค้า โดยที่นักลงทุนทั่วไปไม่ต้องเผชิญกับความยุ่งยากเหล่านี้แต่ประการใด

"แต่เวลานักลงทุนทั่วไปซื้อขายกองทุน ETF นั้น นักลงทุนทั่วไปจะซื้อขายในตลาดรองผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เหมือนการซื้อขายหุ้นทั่วไป ในยามปกติการซื้อขายในตลาดรอง ไม่ได้ทำให้กองทุน ETF มีขนาดใหญ่ขึ้นหรือเล็กลง เพราะว่าเป็นการซื้อขายระหว่างผู้ลงทุนเท่านั้น ดังนั้น เราจึงต้องมีช่องทางของการขยายหรือลดลงของกองทุนได้ แล้วเราจะทำให้กองทุน ETF มันขยายและลดลงได้อย่างไร เราก็ทำได้โดยอาศัยผู้ร่วมค้าของเรา รวมทั้ง MM ซึ่งถือเป็นผู้ร่วมค้าด้วย"

ดร.สมจินต์ บอกว่า กองทุน ETF นี้สามารถทำการซื้อขายได้ 2 ลักษณะ คือ 1. "In Cash" และ 2. "In Kind" สำหรับ "นักลงทุนบุคคล" ไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องนี้เลย เพราะว่ามันเป็นกลไกที่อยู่ด้านหลังของกองทุน ETF ในหมู่ของผู้ร่วมค้าหรือดีลเลอร์ของเราๆ ให้สิทธิพิเศษแก่เขาในการที่จะมาซื้อกองทุน ETF จากเรา แบบ In Kind

ตรงข้ามกับ In Cash โดยการซื้อแบบ In Cash ผู้ลงทุนใช้เงินสดซื้อแล้วได้หน่วยลงทุนของกองทุน ETF ไป โดยนักลงทุนบุคคลธรรมดาทั่วไปจะซื้อกองทุน ETF ในลักษณะนี้ผ่านตลาดรอง ส่วนการซื้อกองทุน ETF แบบ In Kind นั้น แทนที่จะซื้อด้วยเงินสดก็ใช้อย่างอื่นเป็นการแลกเปลี่ยนสำหรับกองทุน Equity ETF นี้ ก็ใช้ตะกร้าหุ้นในการแลกเปลี่ยนกับหน่วยลงทุน ซึ่งผู้ที่สามารถเข้าถึงการซื้อขายแบบ In Kind ได้ ก็คือกลุ่มของผู้ร่วมค้าเท่านั้น

ยามที่คนสนใจกองทุน ETF มากๆ มันก็จะมีดีมานด์มาซื้อกองทุน ETF เยอะ เมื่อคนซื้อเยอะ ราคาก็สูงขึ้น ผู้ร่วมค้าก็หาทางที่จะหากองทุน ETF มาขาย วิธีการก็คือเขาก็ไปซื้อหุ้น 50 ตัวเป็นตะกร้าหุ้น แล้วก็ถือตะกร้าใบนี้มาที่ บลจ.วรรณ เราก็จะออกหน่วยลงทุนของกองทุน ETF ใหม่ให้เขาไป เขาก็สามารถจะเอาหน่วยลงทุนใหม่ตรงนั้นไปขายได้ กองทุน ETF ของเราก็เติบโตได้ด้วยวิธีการนี้ ในบางขณะถ้าความต้องการกองทุน ETF น้อยลง หรือว่าปริมาณการสั่งขายมีมาก สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ผู้ร่วมค้าเหล่านี้ก็สามารถจะเข้าไปซื้อกองทุน ETF เหล่านั้น แล้วเอามาขายกับ บลจ.วรรณ เพื่อแลกกับหุ้น 50 ตัว ในตะกร้าหุ้นจากเรา กองทุน ETF ก็จะเล็กลงด้วยวิธีการดังกล่าวนี้

"เพราะฉะนั้นการทำงานของผู้ร่วมค้า ก็จะช่วยทำให้เกิดสภาพคล่องในตลาดแล้วช่วยเสริมให้มีการเพิ่มขึ้นและลดลงของกองทุน ETF ตามปริมาณความต้องการของลูกค้า โดยที่ลูกค้าไม่ต้องมายุ่งเกี่ยวกับ บลจ.วรรณ ซึ่งเป็นผู้จัดการกองทุนเลย แต่กองทุนก็โตขึ้นและเล็กลงได้ บลจ.วรรณ ในฐานะของผู้จัดการกองทุนก็ดูแลบริหารอย่างเดียว ไม่เกี่ยวข้องกับลูกค้า ลูกค้าก็ไปติดต่อซื้อขายกองทุน ETF ในตลาดรองผ่านโบรกเกอร์เหมือนการซื้อขายหุ้นโดยทั่วไป"

ดร.สมจินต์ บอกว่า สมมติกองทุน Equity ETF แทรคดัชนี SET50 เนื่องจากว่ากองทุนนี้ไปลงทุนในหุ้นประมาณ 50 ตัว เพราะฉะนั้นในตัวของมันเองถามว่าค่าของมันคืออะไร ค่าของมันก็คือมูลค่าของหุ้น 50 ตัว ที่อยู่ในดัชนี SET50 เอาจำนวนคูณราคาแล้วรวมกันเข้าทั้งหมด เพื่อดูว่าหุ้นแต่ละตัวมีน้ำหนักเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ในดัชนี SET50 โดยผู้จัดการกองทุนก็จะบริหารให้ผลตอบแทนของกองทุน Equity ETF เหมือนๆ กับดัชนี SET50 มากที่สุด โดยมีค่าความผิดพลาด (Tracking Error) ไม่เกิน 1% ใกล้เคียงกับ Tracking Error ของกองทุนดัชนีปกติ ซึ่งไม่ถือว่ามากเลย โดยผู้ลงทุนก็สามารถจะคาดหวังผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนี SET50 นั่นเอง ดังนั้น โดยปกติแล้ว "ราคาตลาด" กับ "มูลค่าสุทธิต่อหน่วย" ของกองทุน ETF ตามทฤษฎีแล้วจะใกล้เคียงกันมาก

"ดังนั้น ราคาเสนอซื้อเสนอขายในตลาดรองที่เกิดขึ้น เราก็เชื่อว่ามันจะอยู่ใกล้เคียงกับมูลค่าสุทธิต่อหน่วยของกองทุน ETF นี่แหละ เพียงแต่ว่าในบางขณะมันอาจจะต่างกันได้เล็กน้อย เพราะว่ามันไม่ใช่สิ่งเดียวกัน เราก็รู้อยู่ว่าราคาของหุ้นก็ขึ้นลงทุกวินาที หุ้น 50 ตัว ราคาก็ขึ้นลงทุกวินาที เพราะฉะนั้นในแต่ละขณะราคาตลาดที่เสนอซื้อเสนอขายของกองทุน ETF กับมูลค่าสินทรัพย์สุทธิต่อหน่วย อาจจะมีความต่างกันบ้าง แต่ก็จะไม่มากนัก เพราะข้อมูลเอ็นเอวีของกองทุน ETF เราก็จะมีการประกาศอยู่อย่างต่อเนื่องผ่านระบบของตลาดหลักทรัพย์ หากราคามีความแตกต่างกันมากทางผู้ร่วมค้าก็สามารถที่จะเข้ามาค้ากำไรจากส่วนต่างตรงนี้ได้ ซึ่งในท้ายที่สุดก็จะทำให้ราคาตลาดกับมูลค่าสินทรัพย์สุทธิต่อหน่วยของกองทุน ETF กลับมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันในท้ายที่สุด"

เชื่อว่าข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ลงทุนรู้จักและเข้าใจในกลไกการทำงานของกองทุน Equity ETF มากขึ้นในระดับหนึ่ง

Bangkokbiznews

เข้าชม: 4,775

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com