April 20, 2024   12:28:31 AM ICT
ลงทุนต่างประเทศ ประโยชน์ของการกระจายความเสี่ยง

ปี 2002 การลงทุนใน "คอมมอดิตี้โลก" ให้ผลตอบแทนดีที่สุด ในปี 2003 การลงทุนใน "ตลาดหุ้นไทย" ให้ผลตอบแทนดีที่สุด ในปี 2004 การลงทุนใน "อสังหาริมทรัพย์โลก" ให้ผลตอบแทนดีที่สุด ในปี 2005 การลงทุนใน "คอมมอดิตี้โลก" กลับมาให้ผลตอบแทนดีที่สุดอีกครั้ง เช่นเดียวกับในปี 2006 การลงทุนใน "อสังหาริมทรัพย์โลก" ก็จะให้ผลตอบแทนที่สูงที่สุดเช่นเดียวกัน ซึ่งในปี 2007 นี้ก็ยังไม่รู้ว่าสินทรัพย์ประเภทใดจะเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุดในโลก

เกี่ยวกับเรื่องนี้ "ณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย" ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการลงทุนต่างประเทศ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) บอกว่า หากคุณเป็นนักลงทุนที่สามารถจะย้ายเงินลงทุนไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ปรับตัวขึ้นสูงสุดได้เสมอทุกปี ก็จะได้รับผลตอบแทนที่ดีอย่างไม่ต้องสงสัย และจะจัดอยู่ใน "นักลงทุนเหนือนักลงทุน" คือ เป็นนักลงทุนที่อยู่เหนือกว่าค่าเฉลี่ยของนักลงทุนโดยทั่วไปด้วย

แต่นักลงทุนส่วนใหญ่โดยเฉลี่ยแล้ว ก็เป็นนักลงทุนธรรมดาที่ไม่สามารถที่จะทำเช่นนั้นได้ "การกระจายการลงทุน(Diversification)" จึงมีความสำคัญ

การที่นักลงทุนมองหาสินทรัพย์ใหม่ๆ ที่ยังไม่มีในพอร์ตการลงทุนใส่เข้ามาในพอร์ตการลงทุนของตัวเองจะช่วยเพิ่ม "ผลตอบแทน" และ "ลดความเสี่ยง" ให้กับพอร์ตการลงทุนของคุณได้ดีมาก เพราะฉะนั้นจึงอยากให้นักลงทุนเปิดกว้างมองหาสิ่งใหม่ๆ ในการลงทุน

"หากปัจจุบันพอร์ตการลงทุนของคุณมีแต่การลงทุนในประเทศไทยเท่านั้น ผมกล้ารับรองเลยว่าคุณไปซื้อกองทุนที่ไปลงทุนต่างประเทศ(FIF) กองไหนก็ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นทันทีคือ คุณจะมีผลประโยชน์จากการกระจายการลงทุนเกิดขึ้นทันที การตัดสินใจในลักษณะนี้เป็นการตัดสินใจเชิงโครงสร้าง ซึ่งมีประโยชน์เกิดขึ้นอย่างแน่นอน โดยไม่ต้องห่วงมาก ถ้าผู้ลงทุนมองในภาพรวมเข้าไป แต่ถ้าคิดว่าจะลงทุนในหุ้นจีน แล้วตลาดหุ้นจีนยังจะไปต่ออีกมั้ย หรือจีนจะเป็นยังไง ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ยากที่จะทำอย่างนั้น"

ณรงค์ศักดิ์ ยังบอกอีกว่า ถ้าคุณลงทุนในสินทรัพย์ที่มีคุณภาพ "เวลา" จะช่วย "ลดความผันผวน" ของผลตอบแทนได้ในระยะยาว เพราะฉะนั้นถ้าคุณลงทุนระยะสั้นมาก ย้ายเงินไปเรื่อยๆ โดยมองดูแต่ผลตอบแทนเพียงอย่างเดียวอันไหนดีก็ย้ายตามไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คุณกำลังย้ายเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงอยู่เสมอ เพราะคุณลงทุนในระยะเวลาสั้นๆ อยู่ตลอดเวลานั่นเอง แต่เวลาจะช่วยให้ความผันผวนของผลตอบแทนลดลงได้ คุณก็ต้องมีระยะเวลาในการลงทุนที่ยาวพอสมควร

แน่นอนว่าการกระจายการลงทุนอาจจะทำให้นักลงทุนรู้สึกขัดความรู้สึกอยู่บ้าง ในกรณีที่สินทรัพย์ A ปรับตัวขึ้น แต่สินทรัพย์ B ปรับตัวลง คุณอาจจะรู้สึกว่า แล้วทำไมไม่เอาเงินทั้งหมดไปลงทุนในสินทรัพย์ A ที่ปรับตัวขึ้นล่ะ ถ้าเราอยู่ในโลกที่ข้อมูลข่าวสารสมบูรณ์แบบ ก็คงไม่มีเรื่องของการกระจายความเสี่ยงเกิดขึ้น

"แต่ถ้าเราไม่รู้แน่นอนว่าจะเกิดอะไรขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นจากการกระจายความเสี่ยงจะทำให้พอร์ตการลงทุนของคุณมีผลตอบแทนในแต่ละช่วงเวลาจากสินทรัพย์ที่แตกต่างกันออกไป เป็นผลตอบแทนที่ไม่ค่อยมีความผันผวน นี่คือประโยชน์ของการกระจายการลงทุน คุณสามารถที่จะนอนหลับได้ ในขณะที่ตลาดหุ้นในประเทศหนึ่งตก แต่ตลาดหุ้นในอีกประเทศหนึ่งขึ้น ทำให้ผลตอบแทนโดยรวมค่อนข้างนิ่ง"

ณรงค์ศักดิ์ ย้ำว่า การลงทุนต่างประเทศมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคำนึงถึงการ "กระจายความเสี่ยง" ซึ่งการกระจายการลงทุน(Diversification)เป็นสิ่งเดียวที่สามารถ "สร้างผลตอบแทน" หรือมีการ "ลดความเสี่ยง" ได้โดยธรรมชาติ เพราะฉะนั้นการกระจายการลงทุน คุณไม่ต้องไปแย่งกับใคร ไม่มีใครที่จะต้องเสียเงิน การกระจายความเสี่ยงด้วยตัวของมันเองจะทำให้พอร์ตการลงทุนของคุณมีเสถียรภาพขึ้น

และเมื่อพูดถึงการกระจายความเสี่ยงอยากให้ผู้ลงทุนนึกถึงอีกคำหนึ่งคือ "ค่าสหสัมพันธ์(Corelation)" ควบคู่กันไปด้วย

ถ้าคุณมีการลงทุนในหุ้นอยู่แล้ว การที่คุณกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ที่มีค่าสหสัมพันธ์เข้าใกล้ศูนย์กับหุ้นที่คุณลงทุนอยู่ ด้วยตัวของมันเองจะสามารถลดความเสี่ยงในการลงทุนให้กับคุณได้ ค่าสหสัมพันธ์ถามว่าสำคัญยังไง สำคัญเวลาเอาสินทรัพย์ทุกอย่างมารวมกัน ถ้าพอร์ตการลงทุนของคุณมีสินทรัพย์มากกว่า 1 อย่าง คิดว่าตรงนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้ลงทุนมาก ตัวเลขสหสัมพันธ์ถามว่าสำคัญยังไง สำคัญเวลาเอาของทุกอย่างมารวมกัน ถ้าท่านมีพอร์ตหรือการลงทุนมากกว่า 1 อย่าง คิดว่าตรงนี้จะเป็นประโยชน์

"กบข.เราลงทุนในสินทรัพย์ค่อนข้างหลากหลาย แล้วนี่เป็นปรัชญาในเรื่องการลงทุนของ กบข.ซึ่งมีเม็ดเงินภายใต้การบริหารขนาดใหญ่ และลงทุนระยะยาวเพื่อสมาชิกที่เกษียณในอีก 1 ปี หรือ 20 ปี หรือในอีก 100 ปีข้างหน้า อันนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เราสามารถรักษาความมีเสถียรภาพของผลตอบแทนได้ในระยะยาว"

ณรงค์ศักดิ์ ยังบอกอีกว่า การใช้ "ดัชนีมาตรฐาน(Bench Mark)" ก็สามารถที่จะช่วยคุณได้เช่นเดียวกัน เพราะเรื่องของ Bench Mark จะนำคุณไปสู่เรื่องของการจัดสินทรัพย์ในการลงทุน(Asset Allocation) รวมไปถึงการเลือกผู้จัดการกองทุนที่จะบริหารเงินลงทุนของคุณด้วย

เมื่อจะกระจายการลงทุนไปในต่างประเทศ ควรจะถามว่ากองทุน FIF นี้มี Bench mark แบบไหน จะได้รู้ว่า บลจ.เอาโปรดักท์อะไรมาขายให้คุณ ตรงกับความต้องการลงทุนของเราหรือเปล่า พยายามจำชื่อของอินเด็กซ์ซึ่งเป็น Bench Mark เอาไว้ อย่างน้อยที่สุดเวลาคุณจะลงทุนก็ขอข้อมูลจากสิ่งเหล่านี้ดูว่า ดัชนีที่ใช้เป็น Bench Mark เหล่านี้มีความเสี่ยงและผลตอบแทนเป็นยังไงบ้าง เพราะดัชนีที่ใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีข้อมูลย้อนหลัง พนักงานขายก็ควรจะต้องมีข้อมูลเหล่านี้เพื่อบอกได้ว่ากองทุน FIF ของเขาใช้ตัวเทียบวัดแบบไหน ซึ่งโดยปกติ Bench Mark จะระบุคร่าวๆ ว่าเป็นดัชนีของสินทรัพย์ประเภทใด ลงทุนในหุ้นหรือลงทุนในอะไร ในสัดส่วนต่างๆ อย่างไรชัดเจน

ตัวอย่างของ Bench Mark สำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นโลก เช่น MSCI ,FSSE ตลาดบอนด์โลก เช่น Lehman ,Merrill Lynch ,iBoxx อสังหาริมทรัพย์โลก เช่น NCREIF ,NAREIT คอมมอดิตี้โลก เช่น DJ-AIG ,Godman Sachs เป็นต้น

เมื่อคุณต้องการผลตอบแทนก็เลี่ยงความเสี่ยงไปไม่ได้ แต่เราจะบริหารจัดการกับความเสี่ยงที่มีอยู่อย่างไร เพื่อที่จะได้ผลตอบแทนคาดหวังตามที่ต้องการ นั่นน่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญมากยิ่งกว่า

Bangkokbiznews

เข้าชม: 2,631

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com