April 25, 2024   2:10:42 PM ICT
KTBพังหมื่นล.อุ๋ยแฉกลโกง

วิบากกรรมธนาคารกรุงไทย อุ๋ย เผยโกงแบงก์เป็นขบวนการ ฟ้องกราวรูดผู้บริหารเคทีบี พร้อมลูกหนี้รวม 21 ราย ข้อหาทำแบงก์เสียหายราว 1.5 หมื่นล้านบาท ลูกหนี้อสังหาฯฉาวนำเงินกู้ใช้ผิด 3.5 พันล้านบาท ทั้งส่งนอมินีมาซื้อหุ้นคืน แต่เคทีบีใจดีไม่รับเงิน อุ๋ยแจงกัน อุตตม และ ชัยณรงค์ เป็นพยาน พงษ์เทพ ส่งดีเอสไอร่วมสอบพบผิดจำคุก 1-10 ปี

สั่งฟ้อง21คน

     ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)กล่าวว่า การปล่อยกู้ครั้งนี้ร่วมมือกันเป็นขบวนการ นำเงินจำนวนมากออกจากกรุงไทย และธปท. ต้องการให้กรณีนี้เป็นบรรทัดฐานต่อไปว่า ไม่ควรจะโกงธนาคารอีก อย่างไรก็ตามสำหรับลูกหนี้ทั้ง 3 รายที่ ธปท.ร้องทุกข์กล่าวโทษครั้งนี้กรุงไทยได้กันสำรองเผื่อหนี้สูญไว้เพียงพอแล้ว

     ทั้งนี้ธปท.ได้ยื่นหนังสือกล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับกรรมการบริหาร ผู้บริหาร พนักงานกรุงไทย และบุคคลภายนอก รวม 21 คน หลังตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการปล่อยสินเชื่อ 12 รายของกรุงไทย ปรากฏว่า 9 ราย ที่ไม่พบความผิดปกติหรือเอื้อประโยชน์

     โดย 1 ใน 9 ราย เริ่มทวงหนี้ได้ และน่าจะกลับมาเป็นหนี้ปกติได้ ส่วนอีก 3 ราย พบว่ามีการเอื้อประโยชน์จนผิดปกติ ทำให้บุคคลภายนอกได้รับผลประโยชน์ รวมความเสียหายทั้งสิ้น 15185 ล้านบาท ซึ่งธปท.ฟ้องร้องรวม 2 คดี เปิดหนี้ผิดปกติ3ราย

     ลูกหนี้รายที่ 1 เป็นการให้สินเชื่อกับบริษัทที่ไม่อยู่ในฐานะหรือมีความสามารถในการชำระหนี้คืนเป็นวงเงิน 9900 ล้านบาท และลูกหนี้ได้นำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ของการขอสินเชื่อประมาณ 3500 ล้านบาท และเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และพวกพ้อง

     ส่วนลูกหนี้รายที่ 2 เป็นกรณีการขายหุ้นบุริมสิทธิของบริษัทอสังหาริมทรัพย์จำนวน 1185 ล้านบาท ซึ่งธนาคารกรุงไทยถืออยู่ให้กับบริษัทตัวแทนหรือนอมินี ที่ไม่อยู่ในฐานะหรือมีความสามารถชำระหนี้คืน โดยไม่ได้เรียกให้บริษัทตัวแทนชำระค่าหุ้นทันที ทั้งแบงก์ยังมอบฉันทะให้ไปใช้สิทธิแทนในการลงมติเพื่อฟื้นฟูกิจการของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ธนาคารกรุงไทย ไม่ได้รับการชำระค่าหุ้นดังกล่าว

     และลูกหนี้รายที่ 3 เป็นกรณีที่ผู้บริหารและพนักงานจ่ายสินเชื่อให้แก่กลุ่มลูกหนี้เกินกว่าที่ควรจ่ายจริง ทำให้บุคคลภายนอกได้รับประโยชน์ที่ไม่ควรได้เป็นเงินประมาณ 600 ล้านบาทกันบอร์ดเป็นพยาน

     ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวถึงเหตุที่ไม่ฟ้องนายอุตตม สาวนายน และนายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ ว่า การพิจารณาฟ้องร้องครั้งนี้ฟ้องเป็นรายบุคคล ไม่ใช่ฟ้องบอร์ดบริหารทั้ง 5 คน เนื่องจากมีกรรมการบริหาร 2 คน ได้มาให้ปากคำที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดีอย่างมาก ดังนั้น ฝ่ายกฎหมายจึงได้กันไว้เป็นพยาน โดยบุคคลทั้งสองได้ติดต่อมาให้ปากคำกับ ธปท.เอง และมีการเซ็นชื่อไว้เป็นลายลักษณ์อักษรด้วย อย่างไรก็ทั้ง 2 รายนี้จะมีความผิดหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล มอบคลัง-ธปท.แก้ปัญหา

     ขณะที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าว ว่า ผู้ว่าแบงก์ชาติได้มาคุยเรื่องนี้กับตนเรียบร้อยแล้ว และถือเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ เพราะเป็นกฎหมายของธปท. ส่วนผู้เกี่ยวข้องอีก 10 คนที่ตรวจสอบอยู่ก็ต้องว่ากันไปตามความผิด

     ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้บริหาร (บอร์ด)ของธนาคารกรุงไทยที่ถูกกล่าวหาจะต้องถูกปลดก่อนหรือไม่ พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า ไม่ทราบ เป็นเรื่องของแบงก์ชาติกับกระทรวงการคลังทำงานด้วยกัน

     นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลังในฐานรองประธาน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ลูกหนี้ 3 รายที่แบงก์ชาติฟ้องเป็นหนี้เสีย แบงก์ได้มีการกันสำรองไว้หมดแล้ว วิโรจน์ยันถูกกลั่นแกล้ง

     นายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ฟ้องร้องตนนั้น เป็นการเลือกปฏิบัติและการกลั่นแกล้ง เนื่องจากการอนุมัติสินเชื่อของธนาคารในช่วงเวลาดังกล่าว มีมติเป็นเอกฉันท์จากคณะกรรมการธนาคาร

     นายวิโรจน์ กล่าวว่า ตั้งข้อสังเกตการฟ้องร้องของ ธปท. ในครั้งนี้ว่า เมื่อฟ้องร้องตนในฐานะกรรมการผู้จัดการ และ ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ ในฐานะประธานกรรมการบริหาร และกล่าวโทษนายมัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา ในฐานะกรรมการบริหาร ทำไมจึงไม่มีการฟ้องร้องกรรมการบริหารที่เหลืออีก 2 คนด้วย

     ส่วนการขายหุ้นบุริมสิทธิแปลงสภาพของบริษัท กฤษดามหานคร ให้กับบริษัทแกรนด์คอมพิวเตอร์นั้น เป็นหุ้นที่ได้จากหนี้เก่า และได้นำหุ้นดังกล่าวมาแปลงเป็นหุ้นสามัญ แต่ธนาคารไม่เห็นชอบและให้มีการชำระหนี้คืน รวมทั้งการนำเจ้าของกิจการมาค้ำประกันเงินกู้เพื่อให้เกิดการชำระหนี้ แต่เนื่องจากมีกระแสข่าวทำให้การเพิ่มทุนของบริษัททำไม่ได้ ส่งผลต่อการชำระหนี้ให้กับธนาคาร

     นายมัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา กรรมการธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะอดีตกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า กรณีที่ธปท. ฟ้องตนนั้น เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย ส่วนมีความเป็นธรรมหรือไม่ ก็คงจะไปว่ากันในชั้นศาล11รายชื่อถูกฟ้อง

     โดยเบื้องต้นรายชื่อผู้โดนกล่าวโทษในคดีนี้ มีทั้งหมด 11 คน ประกอบด้วย ร.ท.สุชายเชาว์วิศิษฐ อดีตประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย แฝดผู้น้องของ ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคไทยรักไทย และอดีต รมว.คลัง นายมัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา อดีตกรรมการบริหารอาวุโส ปัจจุบันเป็นกรรมการธนาคารกรุงไทย นายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการ นายไพโรจน์ รัตนะโสภา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ นายประวิทย์ อดีตโต ผู้อำนวยการฝ่ายสินเชื่อ นางศิริวรรณ ชินอิสระยศ ผู้จัดการฝ่ายสินเชื่อ นายประพันธ์พงศ์ ปราโมทย์กุล หัวหน้าส่วนสินเชื่อ และนายสุบิน แสงสุวรรณเมฆา นายบัญชายินดี นายไมตรี เหลืองนิมิตรมาศ น.ส.วราลี บุนนาค กรรมการบริษัทโกลเด้นเทคโนโลยีอินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด และบริษัทแกรนด์คอมพิวเตอร์ แอนด์คอมมูนิเคชั่น จำกัด โทษสูงสุด

     นายอรรคบุษย์ ไกรฤกษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายคดี ธปท.กล่าวว่า การกล่าวโทษฟ้องร้องผู้บริหารกรุงไทย ที่ละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2000-20000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ดีมีความผิดดังกล่าวมีพ.ร.บ.ตลาดหลักทรัพย์ฯ มาตรา 311 ซึ่งระวางโทษจำคุก 5-10 ปีปรับเป็นเงิน 2 เท่าของราคาทรัพย์สินที่เสียหาย

     นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า คดีดังกล่าวจึงถือเป็นคดีพิเศษ ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบว่า เป็นความผิดที่เกิดขึ้นก่อนหรือหลังปี 2542 หากเป็นคดีที่เกิดก่อนปี 2542 กรมสอบสวนคดีพิเศษจะต้องเสนอให้คณะกรรมการคดีพิเศษ ลงมติเสียงข้างมากให้โอนมาเป็นคดีพิเศษ แต่หากเป็นคดีที่มีการกระทำความผิดหลังปี 2542 ก็ถือเป็นคดีพิเศษทันที พนักงานสอบสวนคดีพิเศษมีอำนาจตามกฎหมายที่จะเข้าไปสอบสวนดำเนินคดีตามกลไกพิเศษของกฎหมาย

ที่มา ข่าวหุ้นธุรกิจ

เข้าชม: 4,959

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com